xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องบังคับ “ผู้บังคับบัญชา” ให้ลงโทษทางวินัย “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ได้หรือไม่ ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองนั้น มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการด้วยกัน คือ

1. ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องที่นำมาฟ้อง

2. ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับต้องเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ และ

3. การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้น ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน หมายความว่า คำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีนั้นต้องอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะออกคำบังคับให้ได้นั่นเอง

ครบเครื่องคดีปกครองวันนี้ ผมได้นำคดีที่เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยเกิดข้อสงสัยว่า ประชาชนที่เกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว แล้ว แต่ผลยังไม่เป็นที่พอใจ จะสามารถฟ้องศาลปกครองบังคับผู้บังคับบัญชาให้ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ผู้นั้นตามที่ตนเองต้องการได้หรือไม่ ? คดีนี้ไขข้อข้องใจท่านได้ครับ

นางสาวสาลินได้ร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของนายนรินทร์ (ตำแหน่งนายช่างโยธา) ว่า นายนรินทร์เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยมีข้อร้องเรียนในหลายกรณี ผู้บังคับบัญชาจึงดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงแล้วจึงได้สั่งลงโทษภาคทัณฑ์

กรณีนายนรินทร์อยู่กินฉันสามีภรรยากับนางสาวคำฝ้ายอย่างเปิดเผยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสม มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ทั้งนี้ตามมาตรา 82(10) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

ส่วนกรณีที่ศาลอาญาพิพากษาว่า นายนรินทร์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 392 ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ โดยจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงลงโทษปรับ 500 บาท นั้น ถือเป็นความผิดลหุโทษ ผู้บังคับบัญชาจึงลงโทษว่ากล่าวตักเตือนนายนรินทร์ มิให้ปฏิบัติเช่นนั้นอีก

สำหรับกรณีที่นางสาวสาลินร้องขอให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายนรินทร์ ในข้อกล่าวหาว่ากระทำการข่มขืนตนนั้น ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการจะลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงตามคำพิพากษาศาล จะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาว่าได้กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้ตามมาตรา 85(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ เมื่อนางสาวสาลินได้ถอนฟ้องในข้อหาดังกล่าวต่อศาลจังหวัดไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาจึงไม่ได้พิจารณาลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายนรินทร์ ในกรณีดังกล่าว

นางสาวสาลินไม่เห็นด้วย จึงยื่นฟ้องผู้บังคับบัญชาของนายนรินทร์ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรงแก่นายนรินทร์ และขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายนรินทร์ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ โดยอ้างเหตุผลว่า พฤติการณ์ของนายนรินทร์เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 85(4) ดังกล่าวแล้ว การที่ศาลอาญาไม่ได้ลงโทษจำคุกนายนรินทร์ ซึ่งเกิดจากที่ตนได้ถอนฟ้องไป ก็มิได้หมายความว่านายนรินทร์จะไม่ได้กระทำความผิดในการข่มขืน ทั้งการดำเนินการทางวินัยนั้นแยกคนละส่วนกับทางอาญา ผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายนรินทร์ตามที่ตนร้องขอได้

เรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองต้องเป็นไปตามองค์ประกอบ 3 ประการดังที่ได้เกริ่นไปแล้วในตอนต้น กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าหน้าที่ของรัฐ (ในกรณีนี้คือผู้บังคับบัญชาของนายนรินทร์) และการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายนั้น ศาลปกครองต้องมีอำนาจออกคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72

การที่นางสาวสาลินฟ้องว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้บังคับบัญชาไม่ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายนรินทร์ โดยลงโทษเพียงภาคทัณฑ์และว่ากล่าวตักเตือน นั้น ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักว่า “การดำเนินการทางวินัยเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ผู้บังคับบัญชาจะใช้ดุลพินิจดำเนินการตามที่มีเหตุผลอันสมควร”

อีกทั้งการที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการตามที่นางสาวสาลินร้องขอหรือไม่ ก็มิได้มีผลโดยตรงเป็นการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายแก่นางสาวสาลิน เพราะความเดือดร้อนเสียหายของนางสาวสาลินเกิดจากการการกระทำของนายนรินทร์ มิใช่การกระทำของผู้บังคับบัญชานายนรินทร์ อีกทั้งเป็นคำบังคับที่ศาลปกครองไม่มีอำนาจกำหนดให้ได้ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คบ.19/2558)

สรุปก็คือ การดำเนินการทางวินัยเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมความประพฤติให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน บุคคลภายนอกสามารถร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่ชอบหรือไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้บังคับบัญชาได้ แต่ไม่อาจฟ้องขอให้ศาลปกครองสั่งบังคับให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการลงโทษทางวินัยตามที่ตนเองต้องการได้ เพราะการลงโทษทางวินัย ไม่ได้มีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ร้องหรือผู้ฟ้องคดีโดยตรง การเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงก็คือการที่นางสาวสาลิน (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องนายนรินทร์เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดที่ต่อมาตนได้ถอนฟ้องไปแล้วนั่นเองครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น