ศาลฎีกาพิพากษาแก้ยกฟ้อง “พระสุเทพ” คดีร่วมกับ “อภิสิทธิ์-องอาจ” ไม่หมิ่น “หมอมิ้ง” กรณีกล่าวหาจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง
วันนี้ (24 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.908/2549 ที่ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือหมอมิ้ง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพรรคประชาธิปัตย์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์, พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานดูหมิ่น และหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 393
โจทก์ยื่นฟ้องระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2549 ระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยจำเลยที่ 3-4 แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ได้ตรวจพบการกระทำและพยานหลักฐานที่ระบุชัดถึงขบวนการทุจริต ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 ซึ่งเป็นขบวนการที่ทรงอิทธิพล แทรกซึมเข้าไปในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ รวมทั้ง กกต.ซึ่งควรเป็นองค์กรอิสระ โดยพบว่าผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ในตำแหน่งสำคัญอย่างน้อย 3 คน มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นผู้บงการสั่งการ และก็จ่ายเงิน ให้ขบวนการทุจริต ในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเป้าหมายตามพรรคไทยรักไทยกำหนดไว้ การจัดแถลงข่าวของจำเลยทั้งสี่เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปเกิดการเข้าใจผิดว่าโจทก์ พรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองอื่นที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรืองดลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครพรรคไทยรักไทยหรือผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นๆ จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 2 เม.ย. 2549
ขณะที่จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ต่อสู้คดีว่า ไม่ได้มีการกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ส่วนพระสุเทพ จำเลยที่ 3 ต่อสู้คดีว่าไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2552 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลยที่ 3 ไม่ได้แต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จ แต่ได้รับฟังมาจากนายชวการ โตสวัสดิ์ หนึ่งในผู้เดินทางมาพบผู้บริหารพรรคไทยรักไทย โดยนายชวการอ้างว่าได้ยินคำว่า “หมอมิ้ง” และ “ให้เงินจ้างพรรคเล็กเข้าเลืองตั้ง” กับคำว่า “เป็นคนสายตรงกับหมอมิ้ง” ซึ่งนายชวการยอมให้จำเลยที่ 3 อัดภาพวีซีดีการให้ข้อมูลดังกล่าวไว้ด้วย
ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว เห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลยที่ 3 ไม่น่าเชื่อว่ากระทำไปโดยสำคัญผิดหรือมูลเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตใจว่า โจทก์มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ตามคำกล่าวอ้างของนายชวการ โตสวัสดิ์ แม้จำเลยที่ 3 มีสิทธิ์จะแถลงข่าวและแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือที่จำเลยเกี่ยวข้องมีส่วนได้เสีย ตามครรลอง แต่จำเลยที่ 3 ก็ต้องแถลงข้อเท็จจริงด้วยความระมัดระวัง และโดยสุจริตใจ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยการกรองข่าวหรือวิเคราะห์ข่าวให้แน่นอนก่อนแถลงข่าวว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์ เป็นดังคำกล่าวอ้างของนายชวการจริงหรือไม่
จำเลย ที่ 3 มีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการพรรคการเมืองใหญ่ จึงต้องกระทำโดยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 3 ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ว่าร่วมกระทำผิดในการจ้างผู้สมัครพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ลงแข่งขันกับพรรคไทยรักไทยและร่วมกันแก้ไขข้อมูลเพิ่มรายชื่อผู้สมัครลงในฐานข้อมูลของ กกต.โดยทุจริต ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าเป็นนักการเมืองที่กระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำเลยที่ 1 นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 และนายองอาจ จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าขณะจำเลยที่ 3 แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าพรรคไม่ได้นั่งแถลงข่าวด้วย ขณะที่นายองอาจจำเลยที่ 4 ในฐานะโฆษกพรรค นั่งอยู่ด้วย แต่ไม่ได้ร่วมแถลงข่าวแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นแน่ชัดว่าจำเลยทั้งสามดังกล่าวมีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างไร
ศาลอุทธรณ์เห็นควรพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ตาม ม.328 ให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 3 ,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 เดือนและปรับ 2,000 บาท ขณะที่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยที่ 3 ประกาศคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ไทยรัฐ และมติชน เป็นเวลา 3 วัน ในหน้า 1 หรือหน้า 3 โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย ส่วนจำเลยที่ 1, 2 และ4 ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีประต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่และจำเลยที่ 1,2 และ 4 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ ทำนองว่าโจทก์กระทำการทุจริต โดยมีการว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้ง และมีการแก้ไขข้อมูลกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครมีสิทธิ์ลงเลือกตั้งได้ ต่อมาภายหลังการแถลงข่าวจำเลยที่ 3 ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำหลักฐานเป็นเอกสารการจ่ายเงินไปมอบให้กับทางกกต. จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลมีถ้อยคำที่จำเลยที่ 3 ได้เข้าร้องเรียนรวมอยู่ด้วย ข้อความที่จำเลยที่ 3 แถลงข่าวพาดพิงโจทก์ เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ข้อมูลมา ไม่ได้เป็นการเสริมแต่งขึ้นเองเพื่อให้ร้ายโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถเปิดเผยแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและประเทศชาติ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นแสดงความคิดเห็นโยสุจริต การติชมด้วยความเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 อนุมาตรา1และ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้วจำเลยที่ 1,2 แล ะ4 ย่อมไม่มีความผิดฐานดังกล่าวด้วยฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1,2 และ 4 พิพากษายื่นตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง
ภายหลังศาลมีคำพิพากษาเสร็จแล้วพระสุเทพ นายอภิสิทธิ์ พร้อมทั้งนายองอาจได้ขึ้นรถยนต์เดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด