xs
xsm
sm
md
lg

อัยการฟ้อง “บุญทรง” และพวก ระบายข้าวจีทูจี โทษคุกตลอดชีวิต ปรับ 3.5 หมื่นล้าน-ศาลฯ นัดสั่ง 20 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการสูงสุดหอบสำนวน 7 หมื่นกว่าหน้า ยื่นฟ้อง “บุญทรง” พร้อมพวกรวม 21 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ผิด กม.3 ฉบับ ความผิดสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต พร้อมสั่งปรับ 3.5 หมื่นล้าน ศาลฯ นัดฟังคำสั่งประทับรับฟ้องหรือไม่ 20 เม.ย.นี้



เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (17 มี.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) พร้อมสำนวนเอกสารหลักฐานรวม 205 ลัง 1,628 แฟ้ม จำนวน 7 หมื่นกว่าหน้า

ทั้งนี้ นอกจากฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 21 นาย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 หรือฮั้วประมูล, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่มีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ยังขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด 3 หมื่น 5 พันล้านบาทเศษซึ่งเป็นมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าว 4 ฉบับที่ว่ากระทำผิด โดยศาลอาญาได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดี หมายเลขดำ อม.25/2558 และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

ต่อมาเวลา 11 .00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฟ้องคดีโครงการทุจริตระบายข้าว นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงาน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวภายหลังยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่เกิดเหตุช่วงระหว่าง 8 ก.ย.2554 - 22 ก.พ.2556

โดยนายชุติชัย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฟ้องคดีโครงการทุจริตระบายข้าว กล่าวว่า ในวันนี้เป็นผู้แทนนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด นำสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. พร้อมเอกสารหลักฐานยื่นฟ้อง นายบุญ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน และบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นจำเลยในข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐหรือฮั้วประมูล พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต โดยการยื่นฟ้องยังขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท ซึ่งค่าปรับดังกล่าวคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งตามสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตัน ที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับ โดยพ.ร.บ.ว่าด้วยการฮั้วประมูล มาตรา 4 กำหนดให้ขอปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา ส่วนการรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ที่ป.ป.ช.กำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐานนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะดำเนินการต่อไป หากป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งมาให้อัยการ โดยหากจะมีการฟ้องคดีนี้ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ในวันนี้นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวก โดยเป็นการยื่นฟ้องเฉพาะสำนวนเท่านั้น เนื่องจากตัวจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามที่นัดหมาย แต่ทางอัยการก็สามารถยื่นฟ้องได้ตามกฎหมายโดยระบุแหล่งที่อยู่ของจำเลยให้ชัดเจน สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ภายใน 14 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯจะประชุมเพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน ในการนั่งพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว จากนั้นองค์คณะทั้ง 9 คน ก็จะประชุมภายในเพื่อเลือกองค์คณะเจ้าของสำนวน เพื่อพิจารณาว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีหรือไม่ โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 เม.ย. นี้ เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ในวันดังกล่าวจำเลยยังไม่ได้ต้องทางมารายงานตัวต่อศาลก็ได้ แต่หากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ก็จะส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยทั้งหมดรับทราบว่ามีการฟ้องคดีเกิดขึ้น พร้อมนัดวันพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ซึ่งในวันนัดพิจารณาครั้งแรกนั้นจำเลยทั้งหมดจะต้องเดินทางมาศาลด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าหากจำเลยไม่ได้ทางมาศาลก็จะพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป แต่หากจำเลยเดินทางมารายงานตัวต่อศาลเมื่อใดศาลก็จะพิจารณาในเรื่องการปล่อยชั่วคราวในวันนั้นทันที

เมื่อถามว่าคดีนี้มีพฤติการณ์เชื่อมโยงกับสำนวนคดีที่ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วจะมีการขอรวมสำนวนคดีหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯนั้น จะต้องมีการคัดเลือกองค์คณะ 9 คนก่อน ซึ่งทั้ง 2 คดีนั้นมีการคัดเลือกองค์คณะคนละชุดกัน ถึงแม้จะมีพยานเอกสารหลักฐานที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน แต่ตนเข้าใจว่าการพิจารณาไต่สวนเป็นองค์คณะคนละชุดกัน เพราะสำนวนคดีที่ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ยื่นฟ้องความผิดเกี่ยวกับการฮั้วประมูล แต่เป็นความผิดที่ไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว แต่กรณีนายบุญทรงและพวกเป็นเรื่องของการระบายข้าวในชั้นของอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวที่มีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะมีการพิจารณาอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิตจะมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้หรือไม่ นายสุรศักดิ์ ตอบว่า หากศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีครั้งแรกและจำเลยทั้ง21 คนได้มาศาลจะถือว่าเข้าสู่กระบวนการแล้ว ในครั้งต่อไปแม้จำเลยจะไม่เดินทางมาเข้าร่วมการพิจารณา ศาลก็สามารถไต่สวนพยานลับหลังได้ แต่หากในวันพิจารณาคดีครั้งแรกจำเลยคนใดไม่เดินทางมาศาล ก็จะต้องจำหน่ายคดีของจำเลยบางคนไว้ และพิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่เดินทางมาในวันนัดพิจารณาคดีในครั้งแรก

เมื่อถามว่าเนื่องจากคดีนี้มีพยานเอกสารเยอะมากจะมีผลให้การพิจารณาคดีล่าช้าหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากศาลนัดสอบคำให้การจำเลยแล้ว ขั้นต่อไปศาลก็จะนัดตรวจพยานหลักฐานซึ่งก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องยื่นพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้คู่ความนำกลับไปศึกษา หากยอมรับพยานหลักฐานกันได้ในบางประเด็นก็อาจจะไม่ต้องมีการไต่สวนในประเด็นดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นทางอัยการได้เตรียมพยานบุคคลจำนวนกว่า 100 ปาก โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำบัญชีพยาน และมีพยานปากสำคัญจำนวนหลายปาก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ อย่างไรก็ตามระบบการไต่สวนของศาลฎีกาเป็นการไต่สวนแบบต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าศาลคงใช้ระยะเวลาในการพิจารณาไม่ล่าช้า

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าในท้ายคำฟ้องอัยการได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีออกนอกประเทศ ทางอัยการจึงยังไม่ได้มีการคัดค้านการปล่อยชั่วคราว โดยในวันนัดพิจารราคดีครั้งแรกนั้นหากศาลถามความเห็นอัยการในเรื่องการปล่อยชั่วคราว ทางอัยการก็จะมีการพิจารณาข้อเท็จจริงในขณะนั้นอีกครั้ง ว่าจะคัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่

เมื่อถามว่าเหตุใดการพิจารณาสั่งคดีรวดเร็วกว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สำนวนคดีของนายบุญทรง มีความเชื่อมโยงกับสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งทางอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้วก่อนหน้านี้ สำหรับสำนวนคดีของนายบุญทรงนั้น ทางอัยการได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาจำนวน 7 คน และมีคณะทำงานจากทาง ป.ป.ช. เข้ามาร่วมในการพิจารณาด้วย ซึ่งหากทางอัยการมีข้อสงสัยตรงไหนก็สามารถสอบถามกับ ป.ป.ช.ได้โดยตรง แต่เมื่อคณะทำงานอัยการพิจารณาร่วมกันแล้วก็ไม่พบข้อไม่สมบูรณ์ในคดีแต่อย่างใด ทางอัยการจึงมีคำสั่งฟ้องในสำนวนนี้ได้รวดเร็วกว่า

สำหรับรายชื่อจำเลย ทั้ง 21 คน ประกอบด้วยกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการพลเรือน จำนวน 6 ราย ได้แก่ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2, พ.ต.นพ.ดร. วีระวุฒิ หรือ หมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการ และอดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, จำเลยที่ 4 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5, นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศและอดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6

ส่วนเอกชน ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท และนิติบุคคล 15 ราย ได้แก่ นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7, นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8, นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9, บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12, น.ส.สุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ จำเลยที่ 13, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14, นายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15, นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17, นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18, นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19, บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 และน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจชื่อดัง จำเลยที่ 14 ในคดีนี้ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญ เนื่องจากก่อนหน้านี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสมุทรปราการ ฐานยักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ ส่งไปขายอิหร่าน 2 หมื่นตัน มูลค่า 200 ล้านบาท ซึ่งศาลแขวงสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก 6 ปี ปรับรวม 12,000 บาท โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์
















กำลังโหลดความคิดเห็น