xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่ง กทม.จ่าย 12.6 ล้าน คดีโป๊ะเรือพรานนกล่มปี 38

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาสั่ง กทม. จ่ายเงินค่าเสียหายแก่ญาติผู้ตาย 12 ราย เหตุโป๊ะท่าเรือพรานนก ล่มปี 38  รวม 12.6 ล้าน ชี้ประมาทปล่อยโป๊ะรับน้ำหนักเกิน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

วันนี้ (18 ก.พ) ที่ห้องพิจารณาคดี 806 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีที่ นางไสว ภู่สุวรรณ์ หรือ วุฒิสาหะ  มารดาของ น.ส.รัชนี ภู่สุวรรณ์ ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โป๊ะเทียบเรือท่าพรานนกล่ม ขณะรอลงเรือด่วนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2538  พร้อมพวกรวม 12 ราย  ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท สุภัทรา จำกัด ,บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ,กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมเจ้าท่า  เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดเรื่องละเมิด โดยเหตุเกิดจากความประมาทและการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 4  โดยขอให้จำเลยทั้ง4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพให้แก่โจทก์   

โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์  ให้  กทม. จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และ 2 จำนวน1,165,500 บาท , ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 627,549 บาท , ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 และ 5 จำนวน1,920,000 บาท , ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 1,200,000 บาท , ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 1,214,000บาท , ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน2,080,000 บาท , ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 9 จำนวน 860,000 บาท ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 698,442 บาท,  ชดใช้เงินให้กับจำเลยที่ 11 และ 12จำนวน 2,850,750 บาท  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,616,241 บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับแต่วันที่ฟ้องเมื่อปี 2539     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องบริษัท สุภัทรา จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด 2  เนื่องจากได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์บางส่วนแล้ว  โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และ 2 ออกจากสารบบความ  และให้ยกฟ้องกรมเจ้าท่า จำเลยที่ 4 เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า  บริษัทสุภัทรา จำกัด  จำเลยที่ 1  เป็นผู้ก่อสร้างท่าเทียบเรือพรานนกที่เกิดเหตุตามแบบแปลนที่ กทม. จำเลยที่ 3 กำหนด โดยได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า จำเลยที่ 4 และบ.สุภัทราฯ ยกสิ่งก่อสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกทม. ซึ่งสัญญาเช่าฉบับสุดท้ายสิ้นอายุสัญญาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2538 ท่าเทียบเรือเป็นศาลาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีสะพานปรับระดับขึ้นลงตามกระแสน้ำเชื่อมระหว่างท่าเทียบเรือกับโป๊ะเทียบเรือซึ่งเป็นทุ่นลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เดินข้ามทางเข้าท่าเทียบเรือมีช่องเก็บค่าโดยสารและตรวจนับผู้โดยสารที่จะเดินทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเรือด่วนของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกิจการในเครือของ บ.สุภัทราฯ แล่นไปกลับระหว่างจ.นนทบุรีและกทม. (สาธร) โดยมีป้ายติดประกาศไว้ว่ารับน้ำหนักผู้โดยสาร 60 คน  

ต่อมาวันเกิดเหตุ 14 มิ.ย. 2538 เวลาประมาณ  07.00 น. ผู้ตายทั้ง 12 และ ผู้โดยสารอื่นกว่า 100 คน รอลงเรืออยู่บนโป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุ ขณะนั้นมีเรือด่วนแล่นมาจาก จ.นนทบุรี จะไปสาทรเข้าจอดที่โป๊ะเทียบเรือ ในเวลาเดียวกันมีเรือด่วนอีกลำหนึ่งที่แล่นมาจากสาทรจะไป จ.นนทบุรี เข้าจอดที่โป๊ะเทียบเรือ ผู้โดยสารที่รออยู่บนโป๊ะต่างวิ่งไปอยู่ริมโป๊ะเพื่อลงเรือด่วนทั้งสองลำ ทำให้โป๊ะเทียบเรือเอียงและจมลงในแม่น้ำเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 12 รายจนน้ำถึงแก่ความตาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  เมื่อทราบว่าโป๊ะท่าเทียบเรือพรานนกที่เกิดเหตุไม่อยู่ในสภาพที่จะให้บริการประชาชนได้เนื่องจากมีสภาพเก่าชำรุด การก่อสร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 จะต้องสั่งให้หยุดการใช้งานและสั่งให้มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่ กทม. จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้ บ.สุภัทราฯ จำเลยที่ 1 และบ.เรือด่วนเจ้าพระยาฯ จำเลยที่ 2 ใช้โป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุเปิดบริการแก่ประชาชนเพื่อรอขึ้นลงเรือข้ามฝากและเรือด่วนเจ้าพระยา โดยไม่ได้มีคำสั่งให้ซ่อมแซมแต่อย่างใด จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายเพื่อป้องกันคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนโดยประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้โป๊ะเทียบเรือจมลงแม่น้ำเจ้าพระยาและผู้ตายซึ่งอยู่บนโป๊ะเทียบเรือจนน้ำถึงแก่ความตาย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 มาตรา 89 (3)(6)(8)(9)และ(20) ซึ่งท่าเทียบเรือเป็นที่สาธารณสถาน จำเลยที่3 จึงต้องมีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งควบคุมความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่ประชาชนผู้มาใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือ  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุมีช่องเก็บค่าโดยสารและตรวจนับผู้โดยสารที่เรียกว่าช่องแก๊ก ซึ่งมี 2 ช่อง ผู้โดยสารที่จะลงไปบนโป๊ะเทียบเรือจะต้องผ่านช่องแก๊กนี้เท่านั้น อันเป็นมาตรการที่จำเป็นและสำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือจำนวนมากเกินกว่าจะรับน้ำหนักได้ ส่วนผู้โดยสารที่จะขึ้นจากเรือมาที่ท่าเทียบเรือจะเดินผ่านทางประตูตะแกรงเหล็กซึ่งอยู่ระหว่างช่องแก๊กทั้งสองช่อง โดยลูก จ้างของบ.สุภัทราฯ จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ควบคุมการเลื่อนเปิดปิดประตู แต่เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงจึงได้รื้อถอนสิ่งกีดขวางต่างๆในทางขึ้นลงท่าเทียบเรือได้แก่ประตู ช่องเก็บเงิน เพื่อดำเนินการเป็นท่าเทียบเรือสาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วว่าโป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุรับผู้โดยสารได้เพียง 60 คน และมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมเล็กเห็นว่า หลังจากรื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กออกไปจะทำให้ประชาชนสามารถผ่านท่าเทียบเรือลงโป๊ะเทียบเรือได้โดยสะดวก หากประชาชนลงโป๊ะเทียบเรือมากเกินน้ำหนักที่จะรับได้ย่อมทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งจำเลยที่3มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ท่าเทียบเรือไม่ให้ผู้โดยสารไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือเกินกว่า 60 คน  โดยต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดระเบียบ ควบคุมนับจำนวน ห้ามผู้โดยสารฝ่าฝืนคำแนะนำต่างๆและจดหาอุปกรณ์เพื่อจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่ให้ลงโป๊ะเทียบเรือเกินจำนวน 

กระทั่งเช้าวันเกิดเหตุ 14 มิ.ย. 2538  มีผู้โดยสารเดินผ่านบริเวณช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กที่ถูกรื้อถอนนออกไปลงโป๊ะเทียบเรือเกินจำนวนที่โป๊ะเทียบเรือจะรับน้ำหนักได้ ประกับมีเรือด่วนแล่นมาเทียบสองลำในเวลาเดียวกัน ทำให้มีผู้โดยสารไปออกันริมโป๊ะเทียบเรือจำนวนมากเป็นเหตุให้โป๊ะเทียบเรือเอียงและจมลง  ซึ่งเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากจำเลยที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กกันผู้โดยสารออกไป  โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีมาตรการอื่นเพื่อทดแทน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการป้องกันสาธารณภัยและควบคุมความปลอดภัยสาธารณสถานตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์  

ส่วนกรณีจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า มีการติดป้ายประกาศไว้ที่โป๊ะเทียบเรือแล้วว่ารับน้ำหนักได้ไม่เกิน 60 คนนั้น การที่ผู้โดยสารลงไปบนโป๊ะเทียบเรือจำนวนมากถือว่าผู้โดยสารยอมเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเองจึงเป็นความประมาทของผู้ตายและผู้บาดเจ็บนั้น เห็นว่า  การติดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือได้ จำเลยที่3 จึงไม่อาจอ้างการติดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บเป็นฝ่ายประมาท

ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกา ว่า ในคดีอาญาที่ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บมีส่วนประมาทนั้น จึงต้องผูกพันธ์โจทก์ทุกสำนวนในคดีนี้ด้วยนั้น  เห็นว่า  ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บมีส่วนประมาทหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดีอาญา ศาลฎีกาวินิจฉัยเพียงว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะมีคนลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือมากกว่า 100 คน เกินกว่าที่โป๊ะเทียบเรือจะรับน้ำหนักได้ รวมทั้งจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีอาญา จึงไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น คำพิพากษาในส่วนคดีแพ่งศาลจึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา  เมื่อข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาข้างต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายประมาทโดยผู้ตายและผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนประมาทด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 12 ราย  ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนดังกล่าว

ด้าน นายวัชระ สุคนธ์ ทนายความโจทก์  เปิดเผยว่า คดีนี้โจทก์บางรายได้ถอนตัวไป และศาลจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และ 2 เพราะได้จ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์มาแล้วตั้งแต่ช่วงแรก ส่วนคดีอาญาก็ระงับไปแล้วตามสัญญาประนอมความ คงเหลือเพียงคดีแพ่งที่กรุงเทพมหานครที่ยังต่อสู้คดีอยู่และศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้แล้ว ส่วนกรมเจ้าท่าจำเลยที่ 4 ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเหตุเกิดที่ท่าเทียบเรือ ไม่ใช่เกิดระหว่างเล่นเรือ

นายวัชระ  กล่าวอีกว่า  สำหรับค่าเสียหายศาลได้พิพากษาให้คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ร่วม โดยนับตั้งแต่วันกระทำละเมิดคือ 14 มิ.ย. 2539 โดยคำนวนจากเงินต้นไปร้อยละ 7.5 ต่อปี  รวมเป็นเวลาร่วม 20 ปี  ซึ่งต่อไปนี้ตนจะขอศาลออกคำบังคับและหมายบังคับคดีเพื่อเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป ล่าสุดศาลออกคำบังคับส่งให้กรุงเทพมหานครแล้ว ขอให้ท่านผู้ว่าฯ ได้โปรดเร่งรัดจ่ายเงินให้ฝ่ายผู้เสียหายด้วย เพราะเงินของกรุงเทพมหานคร อาจต้องผ่านที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร

“คดีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินกิจการท่าเรือเดินเรือ แต่ส่วนราชการในฐานะผู้ให้สัมปทานก็ต้องเข้าไปตรวจตรา  จะปล่อยปละละเลยอ้างว่าให้สัมปทานแก่เอกชนแล้วไม่ได้  หรือจะปัดความต้องรับผิดชอบไม่ได้”  ทนายความกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น