xs
xsm
sm
md
lg

“รัชดา” แนะสังคมร่วมคิดโครงการสร้างทางเลียบริมเจ้าพระยา เหมาะสมหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รัชดา ธนาดิเรก อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.กทม.ปชป.ปลุกสังคมร่วมคิดโครงการสร้างทางเลียบริมเจ้าพระยา 5 พันล้าน คุ้มค่างบฯ หรือไม่ ตั้งข้อสังเกตศึกษาผลกระทบอีไอเอครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และงบที่ใช้นำมาจากไหน ย้อนดึงจากงบกลางต้องแจงว่าเข้าข่ายภารกิจฉุกเฉินตรงไหน

วันนี้ (17 พ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมอบหมายให้ กทม.เดินหน้าโครงการสร้างทางเลียบริมเจ้าพระยา เบื้องต้นให้ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาทว่า ขอให้สังคมร่วมคิดในโครงการทางเลียบเจ้าพระยานี้ว่ามีความรอบคอบในการใช้เงินต้องถูกต้องตามหลักการงบประมาณหรือไม่ ซึ่งมีเป้าหมายจะตอกเสาเข็มในเดือน มิ.ย. 2560 มีข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ 1. ความครบถ้วนถูกต้องของการศึกษาผลกระทบที่ต้องปรับแก้และยังไม่ได้ทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อย่างถูกต้อง โดยกรมเจ้าท่าให้ไปปรับแก้ลดส่วนที่ล้ำเข้าไปในแม่น้ำ และให้จัดทำอีไอเอ หากรัฐบาลให้ความสำคัญต่ออีไอเอจริงจะต้องเลิกตั้งธงที่จะลงเสาเข็มให้ได้ในกลางปี 60 เพราะการทำอีไอเอที่ถูกต้องตามหลักวิชาการจะต้องใช้แบบสุดท้ายของโครงการที่เป็นที่ยอมรับแล้วไปเป็นโจทย์ศึกษาผลกระทบด้านกายภาพที่โครงการนี้จะต้องเน้นเรื่องสิ่งที่จะเกิดกับทางน้ำและพื้นดิน ด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของประชาชนและต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนมากและต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมก่อนเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก่อนที่จะเดินหน้าประมูลหาผู้รับเหมา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้มีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมบ้าง ก็เป็นเพียงแค่สอบถามความเห็น แต่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบจากโครงการอย่างถูกต้อง เพราะแบบเพิ่งเสร็จและนำออกมาโฆษณาทันที และไม่มีใครทราบว่าได้เปิดรับฟังเสียงสะท้อนของฝ่ายผู้ห่วงใหญ่แค่ไหน

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า 2. การใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาลที่ให้ กทม.ดำเนินการ งบประมาณของ กทม.จึงต้องมาจากเงินอุดหนุน แต่ใน พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินปี 2560 ไม่ได้มีงบ 5,000 ล้านบาทนี้บรรจุในหมวดเงินอุดหนุน มีคำถามคือ รัฐบาลนำงบประมาณมาจากไหนเพื่อให้ กทม.ดำเนินการ ถ้าเอาจากงบกลางที่มีไว้สำหรับภารกิจฉุกเฉิน เร่งด่วนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อยากให้รัฐบาลชี้แจงว่าโครงการนี้เข้าข่ายอย่างไร แม้จะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรคอยตรวจสอบ รัฐบาลจะต้องไม่ละเลยในเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การไม่มีสภาฯ ชี้ความบกพร่องไม่ได้แปลว่าการบริหารจะไม่มีความบกพร่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น