xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” เชื่อมือ “สุวณา” กู้ศรัทธาดีเอสไอ หลังตกเป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมเป็นประธานมอบนโยบาย
“ไพบูลย์” ตรวจเยี่ยมดีเอสไอเพื่อรับฟังผลการดำเนินงานพร้อมมอบนโยบาย หวังเรียกความเชื่อมั่นจาก ปชช.ให้มากขึ้น หลัง ครม.ไฟเขียวตั้ง “สุวณา” เป็นอธิบดีดีเอสไอหญิงคนแรก สังคายนาการใช้ดุลพินิจรับเป็นคดีพิเศษ ชี้อดีตถูกอำนาจฝ่ายบริหารครอบงำ



วันนี้ (29 ต.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อรับฟังผลการปฏิบัติงานและปัญหาต่างๆ พร้อมมอบนโยบายในการบริหารงาน โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ใช้เวลาในการรับฟังผลการดำเนินงานตามภารกิจของกรมฯนานกว่า 3 ช่วโมง ทั้งนี้ในวันดังกล่าวเป็นวันแรกที่นางสุวณาเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ

พล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตนมารับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ทั้ง 13 หน่วยงานของดีเอสไอว่าแต่ละหน่วยงานเขาทำงานในกรอบอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ได้บรรยายสรุปแต่ละคดีพร้อมกับผลการทำงานของทุกคดีที่ผ่านมาให้ฟัง ตนก็ได้ถามเจ้าหน้าที่ว่าคำว่าคดีพิเศษจำกัดกรอบอย่างไร จากนั้นตนได้มอบหมายให้นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ว่าที่อธิบดีดีเอสไอไปพิจารณาถึงแนวทางการรับคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 13 หน่วยงานของดีเอสไอ ไปพิจารณาว่าเราจะมีกรอบในการรับคดีเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาพบว่าการรับคดีพิเศษของดีเอสไอใช้ดุลพินิจมากเกินไป โดยเฉพาะการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเดิมตอนตั้งดีเอสไอขึ้นมาค่อนข้างจะมีความจำกัดความชัดเจนในการทำงาน มีคณะกรรมการดูแลกันชัดเจน ดังนั้นการเข้าไปทำแต่ละคดีจึงมีมาตรฐาน และก็เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจที่อยู่ในกรอบที่ชัดเจน

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ให้อธิบดีดีเอสไอกลับไปพิจารณาการทำงานและวัตถุประสงค์ของดีเอสไอ ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วดีเอสไอยังเป็นที่คลอบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ ควรจะปรับปรุงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาในการรับคดีพิเศษนั้นใช้ดุลพินิจรายบุคคลในการรับเรื่อง ทั้งนี้ให้เวลาในการทบทวนหลักเกณฑ์การทำงานของกรมเป็นเวลา 2-3 วันแล้วกลับมารายงานตน

“ส่วนตัวคิดว่าดีเอสไอควรจะกลับไปใช้ระบบเดิม หรือระบบคณะกรรมการในการพิจารณาคดีที่จะรับเป็นคดีพิเศษในลักษณะของคณะกรรมการชุดใหญ่ 21 คน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ให้อยู่ในดุลพินิจบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่ผ่านมาดีเอสไอทำคดีพิเศษที่มันไม่ใช่คดีพิเศษจริงๆ รวมถึงไปก้าวก่ายการทำงานและซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่นที่ทำอยู่แล้ว ควรจะใช้กฎหมายพิเศษ ที่ให้อำนาจไว้ทำในเรื่องที่หน่วยงานอื่น ไม่สามารถเข้าไปทำได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจแก่ดีเอสไอมากแล้ว อันนี้คือจุดใหญ่ที่จะต้องไปปรับแก้การรับคดีพิเศษ และทำให้ภาพพจน์ของดีเอสไอได้อยู่กับความคาดหวังของประชาชนที่แท้จริง” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

รมว.ยธ.กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์การรับคดีในบัญชีแนบท้าย ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษทั้ง 36 ประเภทคดีนั้นเห็นว่าเป็นนามธรรม มันกว้างเกินไป จึงอยากให้กฎหมายพิเศษที่มีอยู่เป็นรูปธรรมมากขึ้น การกำหนดการทำคดีในลักษณะที่ซับซ้อนเชียวชาญลึกซึ้งที่ว่านั้นมันเป็นอย่างไร มันไม่เป็นรูปธรรม เดิมทีคณะกรรมการจะช่วยกันตรวจสอบก่อนทำคดี ต่ภายหลังมานี้เป็นการใช้ดุลพินิจรายบุคคลซึ่งเป็นการสั่งการจากอธิบดีดีเอสไอเพียงคนเดียว ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อใจและเชื่อมั่นว่าจะถูกต้องหรือไม่ มันจึงเกิดปัญหาและทำให้จุดบกพร่องมีเยอะ และนำไปสู่การแทรกแซงของฝ่ายบริหารได้ง่าย เพราะพิจารณาคนเดียว ถูกฝ่ายบริหารสั่งมาก็ทำเลย ใช้เลยคิดเลยโดยไม่ถามคณะกรรมการ ทั้งนี้ดีเอสไอวางโครงสร้างไว้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายใดๆ

อย่างไรก็ตาม ในคดีแนบท้ายที่อาจไปก้าวก่ายหน่วยงานอื่นนั้น ตนให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลคดีทั้งหมดของดีเอสไอที่ผ่านมาที่แล้วเสร็จกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มารายงานด้วย เพื่อดูลักษณะคดีและศึกษารูปแบบการทำคดีว่ามีปัญหาตรงจุดใด เพื่อจำกัดกรอบการทำงานทั้ง 13 หน่วยงานของดีเอสไอให้มากขึ้น จากนั้นตนก็จะสอบถามว่าเลือกคดีนี้มาทำเพราะอะไร มันซับซ้อนอย่างไร ถูกสั่งมาหรือไม่ เพื่อประเมินการทำงานอันนำไปสู่การปฏิรูปดีเอสไอ ทั้งนี้ ยืนยันว่าในส่วนของคดีการเมืองตนได้กำชับว่า การรายงานคดีไม่ต้องระบุว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายใด ให้ระบุเพียงสถานที่เกิดเหตุ วัน และเวลา เพราะผู้ชุมนุมทุกคนคือคนไทยเหมือนกันเราอยู่กระทรวงยุติธรรมต้องดูคนไทยทุกคนให้ได้รับความยุติธรรม ส่วนคดีผังล้มเจ้าและคดีความผิดอาญา มาตรา 112 จะเรียกมาตรวจสอบว่ายังอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอหรือไม่

ด้านนางสุวณากล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ได้มอบนโยบายให้ดีเอสไอดำเนินคดีตามกรอบกฎหมายให้เห็นความชัดเจนว่าแต่ละคดีเป็นคดีพิเศษอย่างไร และให้ทางกรมฯ พิจารณาผลการดำเนินคดีที่ผ่านมาว่ามีปัญหาตรงไหน ซึ่ง รมว.ยธ.อยากจะกำหนดกฎเกณฑ์ของคดีพิเศษให้ชัดเจนโดยใช้ดุลพินิจให้น้อยลง เนื่องจากถ้าใช้ดุลพินิจมากเกินไปก็จะเป็นความคิดในเรื่องของบุคคล ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินงานได้ นอกจากนี้ รมว.ยธ.ขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือในการทำงาน เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ด้านการทำงานของดีเอสไอได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

ส่วนข้อกังวลหลังจากที่มารับตำแหน่งนั้น อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ตนเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงและทำงานภาระกิจต่างๆของกระทรวงยุติธรรมมานาน ก็คิดว่าจะรวมพลังของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ทำงานให้ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนมีความกดดันเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรที่ทุกคนคาดหวังในการมารับตำแหน่งนี้ว่าจะสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของดีเอสไอดีขึ้น ทั้งนี้ในการทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้นนั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในกรมฯและผู้บังคับบัญชาที่จะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการ

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า สำหรับการกำหนดกฏเกณฑ์การพิจารณาคดีพิเศษที่ พล.อ.ไพบูลย์ ให้พิจารณาแล้วรายงานผลภายใน 2 วันนั้น ในวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค.)จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานตามนโยบายของ รมว.ยธ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม นางสุวณาได้เข้าสักการะพระพุทธวิชัยอภัยมารนิราศ ศาลพระภูมิ และศาลพระยาพิชัยดาบหัก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำดีเอสไอเพื่อความเป็นสิริมงคล


นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอคนใหม่ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น