xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สถาปนารัฐตำรวจใหม่ คุมเบ็ดเสร็จ “ยุติธรรม-ดีเอสไอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมตั้งข้อสงสัยกันทั้งแผ่นดินสำหรับเหตุการณ์ร้อนฉ่าที่เกิดขึ้นใน “กระทรวงยุติธรรม” ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อ “พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์” ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารในกระทรวงตราชั่ง

เหตุที่บอกว่าร้อนก็เพราะ ทุกถ้อยคำที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์วิพากษ์วิจารณ์นั้นหนักหน่วง รุนแรง และตรงไปตรงมา

“อีกครั้งกับนโยบายรัฐบาล คสช. ในการแต่งตั้งผู้บริหาร อีกหนึ่งปีก่อนเกษียนพิสูจน์ได้ว่ารัฐบาลจากวิธีใดก็มีหลักการทำงานไม่ต่างกัน ให้โอกาสเฉพาะกับคนรู้จักและคนวิ่งเต้น แต่ไม่ให้โอกาสคนทำงาน ขอให้ประชาชนตามดูว่ากระทรวงยุติธรรมยุคนี้จะสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนหรือกำลังสร้างฐานอำนาจใหม่ รู้สึกปลงกับชะตากรรมกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยยิ่งนัก”

“สิบปีที่ถูกทาบทามมาสร้างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่กระทรวงยุติธรรม จากชีวิตที่ทำทุกวันให้ดีที่สุดต้องเปลี่ยนเป็นการเดินสู่เป้าหมายที่ถูกขอให้ทำ เพราะเชื่อมั่นในหลักธรรมะจัดสรรธรรมะจะคุ้มครอง สิบปีเดินได้แบบลุ่มๆดอนๆแต่สุดท้ายก็ถูกโยกออกไปจากงานที่รัก และธรรมะก็จัดสรรให้มีความหวังจากการปฏิวัติไปสู่ปฏิรูป สี่เดือนที่การสื่อสารจากข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมถึง คสช.ทำได้เพียงผ่านคนๆ เดียว สุดท้าย คสช.ก็ส่งคนนอกมาเป็นปลัด ไม่ได้อยากเป็นปลัดแต่อยากทำงานให้สำเร็จ ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ต้นสายธารมากที่สุด จากนี้จะยังเหลือโอกาสให้ปฏิรูปได้อีกหรือ”

พญ.คุณหญิง พรทิพย์แสดงความเห็นต่อเฟซบุ๊กส่วนตัว Khunying Porntip Rojanasunan เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์โพสต์ในลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานนักก็มีการแสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกันออกมา เพียงแต่ข้อความอาจจะไม่รุนแรงเท่าในครั้งล่าสุดนี้

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้บริหารที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวถึงนั้นเป็นใคร และเกิดอะไรขึ้นภายในกระทรวงยุติธรรม เพราะถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรือเหลืออดจริงๆ มีหรือที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์จะกล้าเปิดหน้าเป็นศัตรูกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อย่างไม่เกรงกลัว

ทั้งนี้ แม้พญ.คุณหญิงพรทิพย์จะไม่ได้ระบุว่า ผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรมคนนั้นเป็นใคร แต่เมื่อไล่เรียงตรวจสอบข้อความที่ปรากฏในเฟซบุ๊กและนำไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะเกี่ยวข้องกับการที่ คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง “พล.ต.อ.ชัลวาลย์ สุขสมจิตร” ที่ข้ามห้วยมาจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มากินตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้นเป็น “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” คนใหม่ แทน “นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์”

เนื่องเพราะ พล.ต.อ.ชัชวาลย์คือคนนอกกระทรวงยุติธรรม และเป็นคนนอกที่ คสช.ส่งเข้ามาในกระทรวงแห่งนี้ในเก้าอี้ “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” หลังมีการย้าย “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” ออกไป

ในความเป็นจริงแล้ว ต้องบอกว่า การแต่งตั้งปลัดกระทรวงยุติธรรมคนใหม่เป็นเรื่องที่คาราคาซังมาพอสมควร เนื่องจากเกิดความไม่ลงตัวในการจัดสรรคน และไม่เพียงแต่ตำแหน่งปลัดเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงหน่วยงานสำคัญอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไออีกด้วย

โดยเฉพาะดีเอสไอนั้น ถือเป็นหน่วยงานที่สังคมเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้ว่า มีขอบข่ายอำนาจในการดำเนินคดีที่ไม่แพ้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยทีเดียว ยิ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยแล้ว ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสูงมาก ด้วยเหตุดังกล่าวการคัดเลือกบุคคลมานั่งเก้าอี้ตัวนี้จึงมีความสำคัญ

กล่าวสำหรับเก้าอี้ปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้น ก่อนหน้านี้ ปรากฏรายชื่อบุคคล 2 คนที่เป็นตัวเต็ง ได้แก่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม

พล.ต.อ.ชัชวาลย์เป็นตัวเต็งเพราะเป็นตำรวจ และที่สำคัญคือเป็นตำรวจ “สายแข็ง” สายเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณอีกต่างหาก

ขณะที่นายชาญเชาวน์คือลูกหม้อที่ทำงานในกระทรวงยุติธรรมและผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร โดยเขารักษาการอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้มาตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกอะไรถ้านายชาญเชาวน์จะได้รับเลือกเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม

ทว่า เกิดความไม่ลงตัวเกิดขึ้น เนื่องจากเกิดกระแสต้านจากภายในกระทรวงยุติธรรมเองเพราะไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามานั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทั่งทำให้ให้ พล.อ.ไพบูลย์ต้องเลื่อนการเสนอชื่อปลัดยุติธรรมคนใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีมาแล้วครั้งหนึ่ง

กระนั้นก็ดี ปมปัญหาที่ว่านี้ มิได้เกิดจากภายในกระทรวงยุติธรรมเอง หากแต่เป็นเรื่องของ “ผู้มากบารมี” ใน คสช.ที่เข้ามาจัดวางคนของตัวเองในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ หลังจากที่ควบคุมหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างกองทัพ กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทยเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

แถมคนที่ส่งมาอย่าง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ก็ยังเป็น “สายแข็ง” ที่ใครๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้

นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมปลัดกระทรวงยุติธรรมถึงต้องเป็นตำรวจชื่อ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

และความไม่ลงตัวนี้ยังลามไปถึงเก้าอี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย เนื่องจากยังไม่สามารถหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งไว้ เนื่องจากบุคคลที่ตกเป็นข่าว 2 คนคือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ที่ถูกทาบทามปฏิเสธมานั่ง เพราะยังมีลุ้นเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหลังการเกษียณอายุราชการของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงในปี 2558 และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ที่พึงพอใจกับการนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 มากกว่า

หากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ในระหว่างที่ พล.อ.ไพบูลย์เดินทางมาในงานประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมร่วมกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ จะเป็นตำรวจยศ พล.ต.อ.คนใด พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ทำไมต้องเป็นตำรวจ คนอื่นไม่ได้หรือ ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้ทาบทามตำรวจยศ พล.ต.อ. ให้มาเป็นอธิบดีดีเอสไอ จากนั้น พล.ต.อ.สมยศ ได้ตอบแทรกขึ้นว่า “ไม่ให้”

และวันนี้ ก็ยังไม่สามารถหาคนมานั่งเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอได้

ไม่เพียงแค่กระทรวงยุติธรรมเท่านั้น เมื่อตัดภาพกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็พบว่า เครือข่ายของบิ๊กบราเธอร์ผู้มากบารมีก็คับแน่นไปทั้งกรมปทุมวัน เริ่มตั้งแต่ตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคือ “บิ๊กอ๊อด-พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ที่นอนมาในเก้าอี้ตัวนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า พล.ต.อ.สมยศได้รับการผลักดันให้เป็น ผบ.ตร.จากพลังของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และเป็น พล.ต.อ.พัชรวาทที่สนับสนุนให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม

ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ ในระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนของเขาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดาที่ขยับขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจ่อคิวเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไป พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโนที่ขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ลูกน้องใกล้ชิด พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ได้รับการผลักดันให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.วีระพงษ์ ชื่นภักดี รอง ผบช.ภ.4(นรต.33) สายตรงพล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบช.ภ.7 พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี จตร.สายตรง พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบช.สตม. พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบช.ก.สายตรงพล.อ.ประวิตร เป็น ผบช.ส. พล.ต.ต.ปัญญา เอ่งฉ้วน ( นอร.)รอง ผบช.กมค.ที่ปรึกษากฎหมาย พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบช.กมค. เป็นต้น

นอกจากนี้ การสร้างรัฐตำรวจขึ้นมาใหม่ครั้งนี้ ก็ยังสามารถโยงใหญ่เชื่อมสายสัมพันธ์ไปถึงคนที่เข้ากับขั้วอำนาจเก่าและใหม่ได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยอีกด้วย นั่นก็คือเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งตกเป็นของ พล.ต.ต.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า “เดอะทอม” นั้นสนิทสนมกับ “เจ๊ ด.” เพียงใด

แน่นอน การแต่งตั้งโยกย้ายและการจัดทัพตำรวจที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ต่างอะไรจาก “รัฐตำรวจ” ในยุคนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร หรือในยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ประการใด

ดังนั้น โปรดจงอย่าถามว่าจะมีการปฏิรูปตำรวจอย่างที่มวลมหาประชาชนชาวนกหวีดเรียกร้องหรือไม่และเมื่อใด เพราะยังไม่เห็นแม้แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การกลับมาของรัฐตำรวจยุคใหม่มิได้หยุดอยู่แค่เพียงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากแต่ยังสยายปีกไปถึงกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกด้วย

งานนี้ บอกได้คำเดียวว่า “ของเค้าแน่จริงๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น