ศาลอุทธรณ์คดีเลือกตั้งชี้ “สุเทพ” ปราศรัยตามข้อเท็จจริงที่ประชาชนรับรู้อยู่แล้ว ไม่เข้าข่ายใส่ร้ายผู้สมัครคู่แข่ง “สุขุมพันธุ์” จึงไม่ผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งสภาท้องถิ่นฯ ทั้งไม่มีผลต่อคะแนนนิยม “พงศพัศ” สั่งยกคำร้อง กกต.ที่ขอให้เลือกตั้งใหม่ ด้าน “คุณชายหมู” ลั่นพร้อมกลับทำหน้าที่ทันที
วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง ศาลนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำ 1/2557 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ใหม่ เนื่องจากมีผู้คัดค้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการ กทม.เมื่อปี 2556 ที่ กกต.ได้มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้ใบเหลืองแก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปราศรัยเมื่อวันที่ 13 และ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ที่วงเวียนใหญ่ และลานคนเมือง โดยมีข้อความกล่าวโจมตี พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ ผู้สมัครพรรคคู่แข่ง ทำนองว่าหากเลือก พล.ต.อ.พงศพัศเป็นผู้ว่าฯ กทม.อาจจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศสู่ระบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเพียงคนเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเข้าใจผิดในตัว พล.ต.อ.พงศพัศ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 57
ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้คัดค้านคำร้องของ กกต. และนายสุเทพ พยานฝ่ายผู้คัดค้าน ปราศรัยทั้งสองแห่ง มีผู้เข้าฟังเพียง 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แต่ผลการเลือกตั้งดังกล่าวปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ชนะการเลือกตั้งได้รับคะแนน 1,256,349 คะแนน ส่วน พล.ต.อ.พงศพัศได้คะแนน 1,077,899 คะแนน ห่างกันกว่า 178,900 คะแนน ดังนั้น การปราศรัยของนายสุเทพจึงไม่มีผลต่อคะแนนนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ อีกทั้งในการปราศรัยดังกล่าวไม่ได้มีการถ่ายทอดทางทีวีหรือเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ อีกทั้งคำกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหมู่ประชาชนอยู่แล้ว สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553
โดยศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยใน 3 ประการ 1. มติของ กกต.ที่สั่งสอบเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 หลังจากที่คณะอนุกรรมการ กกต.ได้ไต่สวนและมีความเห็นมาแล้ว และมติของ กกต.ที่ให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าตามกฎหมายให้ กกต. ผู้ร้อง มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งและสืบสวนสอบสวน หากมีกรณีร้องเรียน ซึ่งผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องคือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้ได้รับการเลือกตั้ง โดย กกต.มีอำนาจในการเรียกพยานและเอกสารจากหน่วยราชการมาประกอบการไต่สวน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนจนให้ได้ข้อยุติ ดังนั้นผู้ร้องจึงมีอำนาจในการออกมติดังกล่าว
ประเด็นที่ 2 การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ไม่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะเหตุจากที่นายสุเทพกล่าวปราศรัยให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 57 (5) หรือไม่ เห็นว่าในประเด็นดังกล่าวผู้คัดค้านมีหลักฐานเป็นหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ได้พาดหัวข่าวและมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงแบ่งแยกประเทศ และกลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการตั้งรัฐไทยใหม่ สปป.ล้านนา และพ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน สอดคล้องเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่นายสุเทพได้กล่าวปราศรัย และยังฟังได้ว่าขณะที่นายสุเทพ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทราบข้อมูลที่นายสุเทพปราศรัยไว้จริง
ขณะเดียวกัน ไม่ปรากฏว่าบุคคลที่เป็นข่าวได้ยื่นฟ้องสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวลักษณะการติดตามข้อเท็จจริงให้กับสาธารณชนทราบ การกระทำของนายสุเทพจึงเป็นการนำข้อเท็จจริงซึ่งสังคมไทยทั่วไปรับรู้อยู่แล้วมาปราศรัยอีกครั้ง และข้อเท็จจริงยังปรากฎอีกว่านายสุเทพไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา กรณีจึงไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการกล่าวปราศรัยเป็นการหลอกลวงให้ร้ายที่ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 57 (5) และ 118
สำหรับประเด็นที่ 3 การกระทำของนายสุเทพ ที่ กกต.ผู้ร้อง อ้างว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เกี่ยวกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้คัดค้าน หรือเป็นเหตุให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงคำปราศรัยทั้งหมดของนายสุเทพก็ได้อ้างอิงถึงคำปราศรัยของนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ที่เคยกล่าวถึงการชุมนุมในพื้นที่ กทม.และนายสุเทพได้กล่าวถึงวิธีการแนวคิดของกลุ่ม นปช. โดยที่ไม่ปรากฏว่าได้กล่าวถึง พล.ต.อ.พงศพัศ ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้
ส่วนที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความที่ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อ กกต.ระบุว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นไปโดยสงบและสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้นปรากฏว่า ข้อเท็จจริงตามรายละเอียดคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เส้นทางจราจร พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนนี้ จึงยังไม่พอฟังได้ว่าการปราศรัยของนายสุเทพเป็นการจูงใจหรือหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในตัว พล.ต.อ.พงศพัศ ที่จะเป็นเหตุให้ประชาชน ผู้มีสิทธิลงคะแนนมาลงคะแนนเสียงให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ใหม่ ตามคำร้อง ดังนั้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของ กกต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีเพียงตัวแทนจาก กกต.ผู้ร้อง และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้คัดค้าน เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยตัวเอง พร้อมด้วยภรรยาและมารดา ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้ยื่นคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งไม่ได้เดินทางมา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มมวลชนมาคอยให้กำลังใจ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นจำนวนมากอีกด้วย
สำหรับการอ่านคำสั่งดังกล่าวศาลให้คู่ความทั้งสองฝ่าย รวมทั้งผู้ที่มาให้กำลังใจและผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีกว่า 100 คน ยืนฟังคำสั่งตลอดการพิจารณา โดยคำวินิจฉัยของศาลมีความละเอียด ซึ่งใช้เวลาอ่านต่อเนื่องนานถึงกว่า 4 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น ภายหลังฟังคำสั่งแล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เข้าสวมกอดแสดงความยินดีกับมารดาและทีมรองผู้ว่าฯ โดยมีสีหน้ายิ้มแย้มดีใจและผู้ที่เดินทางมาต่างปรบมือพร้อมส่งเสียงเฮยินดี ขณะที่บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. พร้อมทีมอดีต ส.ส.ปชป.จำนวนมาก เช่น นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นายวิรัตน์ กัลยาศิริ เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวภายหลังฟังคำสั่งของศาลว่า วันนี้ศาลจะแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยัง กทม.ว่าตนสามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ ตนจะกลับไปทำงานในฐานะผู้ว่ากทม.ทันทีและจะทำงานให้หนักกว่าเก่า ขณะนี้มีเรื่องที่ตนเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง คือเรื่องฝน และโรคระบาด ซึ่งมีหลายโรคที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยในวันพรุ่งนี้ตนจะเดินทางไปยังสำนักงานระบายน้ำเป็นอันดับแรก เพื่อให้รายงานการเตรียมพร้อมในการรับมือกับฤดูฝนที่ยังเหลืออยู่ จากนั้นในช่วงต้นสัปดาห์หน้าตนจะเดินทางไปยังสำนักอนามัยต่อไป
เมื่อถามถึงการที่ กกต.แจกใบเหลืองถือว่าเป็นการสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า เวลาที่เสียไปนั้นตนไม่ขอพูดถึง ขอให้พูดเฉพาะเรื่องอนาคตอย่างเดียว ทาง กกต.ก็ทำหน้าที่ของ กกต. ศาลก็ทำหน้าที่ของศาล ทีมงานของตนและข้าราชการ กทม.ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ขออย่าพูดถึงเรื่องการเสียเวลาแต่ขอให้มองข้างหน้าดีกว่า โดยทาง กทม.จะร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลผลประโยชน์ของชาวพี่น้อง กทม. เพื่อให้เป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
เมื่อถามถึงคดีรถและเรือดับเพลิงมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นคดีอยู่ ตนคงไม่สามารถให้รายละเอียดได้เพราะอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทีมทนายความของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้ยกฟ้อง จึงถือว่าคดีถึงที่สิ้นสุดแล้วเพราะเป็นเพียงศาลเดียวและไม่สามารถยื่นฎีกาได้อีก สำหรับผลของคำพิพากษานั้นก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับการต่อสู้คดีของทีมทนายความ ซึ่งเราได้เสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ให้แก่ศาลอย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้ศาลจะมีหนังสือแจ้งคำสั่งส่งกลับไปยัง กทม.ว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งดังกล่าวทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ได้ตามปกติต่อไป
ขณะที่นายวิญญัติ ทนายความของ พล.ต.อ.พงศพัศ ผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.เปิดเผยว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายสุเทพนำเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมของ นปช.มาปราศรัยแล้ว ถ้าแม้ศาลจะมองว่าเป็นการนำข้อเท็จจริงซึ่งสังคมทั่วไปรับรู้กันอยู่แล้วจากสื่อมวลชน แต่ก็น่าสังเกตว่านอกจากนายสุเทพที่ได้ขึ้นเวทีปราศรัย บุคคลที่ในพรรค ปชป.ก็ยังออกมากล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ด้วย ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายศิริโชค โสภา ดังนั้นอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าคนที่เกี่ยวข้องกับพรรค ปชป.ได้นำข้อเท็จจริงเรื่องการชุมนุมของ นปช.มาพูดในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้น น่าจะย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายการเลือกตั้งที่จะให้ผู้สมัครได้ปราศรัยหาเสียงเกี่ยวกับนโยบายในการบริหาร กทม. เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดมากกว่า ตนก็ยังมองว่าข้อเท็จจริงจากการปราศรัยดังกล่าวนั้นเสมือนเป็นการให้ร้ายที่มีผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย และตนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้เรื่องใดๆ จะมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องที่พูดถึงการชุมนุมของ นปช.ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ข้อเท็จจริงบางอย่างที่นายสุเทพได้มีการปราศรัยนั้น ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นยังเป็นเรื่องที่เข้าลักษณะของการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นด้วย ซึ่งไม่อาจที่จะนำข้อเท็จจริงนั้นมาพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวในชั้นวินิจฉัยของ กกต. ก็มีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งใน กกต.ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการปราศรัยหาเสียงที่จะมุ่งเน้นให้ผู้สมัครแข่งขันในเรื่องของนโยบายที่จะบริหาร กทม.มากกว่า แต่อย่างไรก็ดีเมื่อศาลวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ก็ถือว่าผลเป็นที่สิ้นสุดแล้ว