เอเอฟพี – มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ มหาเศรษฐีอดีตนายธนาคารวัย 60 ปี เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลียในวันนี้ (15 ก.ย.) เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่สมาชิกพรรครัฐบาลลิเบอรัลพร้อมใจลงมติให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน โทนี แอบบ็อตต์
ชัยชนะครั้งนี้มีขึ้นหลังการต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงสนับสนุนภายในพรรคยาวนานหลายเดือน ซึ่งทำให้ เทิร์นบูลล์ ได้กลายเป็นนายกฯ คนที่ 4 ของแดนจิงโจ้ในรอบ 2 ปีเศษ ขณะที่อดีตนายกฯ แอบบ็อตต์ ที่ถูกสมาชิกพรรครวมหัว “ปฏิวัติ” จนหลุดจากเก้าอี้ชั่วข้ามคืน ได้ออกมาวิจารณ์การเปลี่ยนผู้นำแบบ “ประตูหมุน” เช่นนี้ว่า “ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ”
“นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับผมที่เกิดมาเป็นชาวออสเตรเลีย” เทิร์นบูลล์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในกรุงแคนเบอร์รา ก่อนกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งใหม่
“นี่คือสถานการณ์ที่พลิกผันอย่างเหนือความคาดหมาย ผมขอเรียนตามตรง... แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผมได้ทำหน้าที่ และเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจมาโดยตลอด”
เทิร์นบูลล์ ซึ่งเป็นอดีตทนายความผู้มีวาทศิลป์นุ่มนวล ให้สัญญาว่าจะเป็นผู้นำรัฐบาลที่เน้น “ปรึกษาหารือ” ทุกฝ่าย ซึ่งต่างจาก แอบบ็อตต์ ที่มักจะก่อความแตกแยก
“ผมมีความเชื่อมั่นว่า การจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในปี 2015 หรือไม่ว่าเวลาไหนก็ตาม คุณจะต้องสามารถโน้มน้าวผู้คนให้ยอมร่วมมือด้วย โดยอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้พวกเขาเข้าใจอย่างเคารพสติปัญญาซึ่งกันและกัน” เทิร์นบูลล์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (14 )
ด้าน แอบบ็อตต์ ก็ออกมาตัดพ้อรูปแบบการเมืองยุคใหม่ หลังถูกดันตกจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยการโหวตของเพื่อนสมาชิกและคู่แข่งในพรรคลิเบอรัลอย่าง เทิร์นบูลล์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารมาก่อน
“การเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราสำรวจความคิดเห็นประชาชนมากขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งมักจะนำมาสู่การทำลายชื่อเสียงอย่างน่าขมขื่น” แอบบ็อตต์ กล่าวระหว่างแถลงอำลาตำแหน่ง
แอบบ็อตต์ ก้าวสู่บัลลังก์ผู้นำแดนจิงโจ้หลังชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2013 ทว่าแผนงบประมาณในปีแรกของเขาตัดทอนทั้งเงินอุดหนุนระบบสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่งทำให้ชาวออสซี่ส่วนใหญ่ไม่พอใจ
คะแนนนิยมที่ตกต่ำลงบวกกับคำพูดเสียมารยาทหลายครั้ง ทำให้มีกระแสต่อต้าน แอบบ็อตต์ ก่อตัวขึ้นภายในพรรครัฐบาล และแม้เขาจะรอดจากการลงมติไว้วางใจหัวหน้าพรรคมาได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่ความล้มเหลวในการกอบกู้คะแนนนิยมจากประชาชนและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้เขาสูญเสียเสียงสนับสนุน จนต้องพ่ายให้แก่ เทิร์นบูลล์ ในที่สุด
รัฐมนตรีต่างประเทศ จูลี บิชอป ซึ่งหนุนหลัง เทิร์นบูลล์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ได้รับการโหวต 70-30 เสียงให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคลิเบอรัลตามเดิม
ทั้งนี้ คาดว่าผู้นำออสเตรเลียจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแนวโน้มที่จะถอดพวกหัวอนุรักษ์นิยมจัดออก และดึงเอานักการเมืองสายเลือดใหม่รวมถึงผู้หญิงเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น
เทิร์นบูลล์ ซึ่งเคยเป็นทั้งทนายความและเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ยืนยันว่าจะไม่ประกาศเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดเพื่อเสริมความชอบธรรมให้ตนเอง และเตรียมที่จะแถลงนโยบายเศรษฐกิจในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“โอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการค้าเสรีนั้นยิ่งใหญ่มาก” เขากล่าว
เศรษฐกิจออสเตรเลียเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเหมือง ซึ่งเคยช่วยให้แดนจิงโจ้หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้นานถึง 24 ปี
อัตราการว่างงานในออสเตรเลียพุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ในขณะที่ค่าแรงยังคงทรงตัว ส่วนรายได้ภาครัฐก็ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงในจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย
นิค อีโคโนมู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโมนาชในเมืองเมลเบิร์น ชี้ว่า เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะทำนายว่า เทิร์นบูลล์ จะได้รับความนิยมจากประชาชน และสร้างรัฐบาลที่แข็งแกร่งได้หรือไม่
“เราคงต้องรอดูนโยบายเศรษฐกิจที่เขาจะแถลงออกมา... ผมคิดว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเลยสำหรับ เทิร์นบูลล์ เพราะปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจออสเตรเลียก็คือ ภาคการทำเหมืองหมดยุคเฟื่องฟู รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และเขาจะต้องเผชิญปัญหาไม่ต่างจากที่ โทนี แอบบ็อตต์ เคยเจอมา”