รายงานการเมือง
หนึ่งคดีสำคัญทางการเมืองที่มาถึงฉากสำคัญในวันศุกร์ที่ 5 ก.ย.นี้ นั่นก็คือการนัดอ่านคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในช่วงเช้าวันนี้ 5 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 09.30 น.
ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่ จากเหตุเลือกตั้งไม่สุจริต
หากศาลมีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ตามที่ กกต.ส่งสำนวนมาก็จะมีผลทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ตอนนี้อยู่ในช่วงการหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่จะต้องหลุดจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ไปทันที พร้อมกับคณะผู้บริหารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในฝ่ายการเมืองทั้งหมด
แต่หากศาลให้ยกคำร้อง “ชายหมู-สุขุมพันธุ์”ก็จะได้กลับมาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง หลังจากหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ไปนานหลายเดือน
ผลแห่งคดีจะมีแค่สองทางนี้เท่านั้น คือ 1. ศาลยกคำร้อง เรื่องก็เป็นอันจบ สุขุมพันธุ์ ก็เดินกลับเข้าห้องทำงานที่ศาลาว่าการ กทม.ได้เลยตั้งแต่วันนี้
2. ศาลตัดสินตามสำนวนที่ กกต.ส่งคำร้องมา คือสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยหากออกมาตามข้อสอง ตรงนี้ก็จะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป ว่าจะเกิดสุญญากาศในตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม.ตามมาหรือไม่
เพราะหากว่า คสช.ยังคงใช้กฎอัยการศึกต่อไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้ เพราะก็จะหาเสียงอะไรต่างๆ ไม่ได้ อีกทั้งหากจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยที่ยังคงไว้ซึ่งประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 และ 86/2557 ที่เป็นประกาศว่าด้วยเรื่องการให้ระงับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไว้ทั้งหมดในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด หมดวาระลง ไม่ว่าจะเป็นเช่น นายก อบจ.-สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล-นายกเทศมนตรี-สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร-สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร แล้วให้ใช้ระบบสรรหาแทน อย่างที่ทำไปแล้วหลายพื้นที่ทั่วประเทศเช่นเดียวกับ กทม.ที่สัปดาห์หน้าก็จะมีการแต่งตั้ง ส.ก. 30 คน มาทำหน้าที่ ส.ก.ชั่วคราว
หาก คสช.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โดยยกเลิกกฎอัยการศึก ปล่อยให้มีการจัดทำกิจกรรมทางการเมืองได้ มีการประชุมพรรคการเมืองได้ มีการปราศรัยหาเสียงได้ใน กทม. ก็จะทำให้ท้องถิ่นทั้งหมดทั่วประเทศ รวมถึงพวก ส.ก.- ส.ข.ที่ว่างงานอยู่ตอนนี้ คงไม่พอใจ และอาจจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ จะเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาอีก
ดังนั้น ถ้า สุขุมพันธ์ ไม่รอด แล้วต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเกิดผลกระทบทางการเมืองตามมาอีกหลายระลอกแน่นอน ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในช่วงเช้าวันศุกร์นี้
สำหรับคดีนี้ ทีมทนายความของ สุขุมพันธ์ คุมทัพโดย สัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ-อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตกรรมการ คตส. ซึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าทีมงานผู้บริหาร กทม.ฝ่ายการเมือง ทีมทนายความ ตลอดจนคนใกล้ชิดกับสุขุมพันธุ์มีการแวะเวียนไปพบปะพูดคุยให้กำลังใจกับสุขุมพันธุ์อยู่บ่อยครั้งที่วังสวนผักกาด เขตพญาไท แต่ก็ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย จึงทำให้ฝ่ายสุขุมพันธุ์ และคนของพรรคประชาธิปัตย์ พยายามหลีกเลี่ยงจะพูดถึงรูปคดีนี้ โดยบอกในโทนเดียวกันว่า ให้รอฟังคำตัดสิน ผลออกมาเป็นอย่างไร ก็พร้อมยอมรับ
คดีนี้ พรรคเพื่อไทยได้ยื่นคัดค้านผลการเลือกตั้งที่ สุขุมพันธุ์ เอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อันดุเดือดไปได้อย่างขาดลอย โดย กกต.ได้พิจารณาคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งแล้ว กกต. มีมติ 3 ต่อ 2 ว่า ผู้สนับสนุนการหาเสียงของสุขุมพันธุ์ มีการปราศรัยบางเวที บางสถานที่ เข้าข่ายให้ร้ายผู้สมัครพรรคการเมืองคู่แข่งที่ก็คือ พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตขัด พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 57 (5) แต่การกระทำไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่จะสามารถทำให้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือแจกใบแดงสุขุมพันธุ์ ได้
แต่ทั้งนี้ กกต.เสียงข้างมากก็มีมติว่าไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีอาญากับผู้สนับสนุนที่ปราศรัยอยู่
อย่างไรก็ตาม มติเสียงข้างมากของ กกต.ดังกล่าวเป็นมติที่เห็นแตกต่างจากที่ กกต. กรุงเทพมหานคร กับฝ่ายกฎหมายของ กกต.เสนอมา
กกต. กทม. และฝ่ายกฎหมายของ กกต. เห็นควรให้ยกคำร้องสำนวนนี้ แต่เสียงข้างมาก กกต. เห็นควรว่าต้องยื่นเรื่องต่อศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า กกต.อยากเห็นการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในทุกระดับ นับจากนี้ไปต้องไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี ที่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม จึงมีมติดังกล่าวออกมาที่จะถือเป็นบรรทัดฐานการวินิจฉัยคำร้องคดีแบบนี้ต่อไปในอนาคตด้วย
ก็คือ กกต.เสียงข้างมากเห็นว่า แม้การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และทีมงานสุขุมพันธุ์ ในช่วงการหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. แม้สุขุมพันธุ์จะไม่ได้เป็นผู้ปราศรัยหาเสียงพาดพิงถึง พล.ต.อ.พงศพัศ แต่ก็เป็นการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นคนส่ง สุขุมพันธุ์ ลงเลือกตั้ง เมื่อมีการพาดพิงในทางที่ทำให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเสียหาย ทาง กกต. ก็เห็นว่าสุขุมพันธุ์ก็จะต้องรับผิดชอบด้วย คือ ต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งบรรทัดฐานดังกล่าวของ กกต. ที่มีรายงานในเวลานั้นว่า มีการอภิปรายประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง เพราะ กกต. 5 คน เห็นแตกต่างกันค่อนข้างมาก
จนสุดท้ายผลการออกเสียง ก็ออกมาว่า กกต.เสียงข้างมาก 3 คนที่เห็นว่าควรจัดการเลือกตั้งใหม่ ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต., นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ ส่วน กกต. เสียงข้างน้อย ที่เห็นว่าไม่ควรมีการจัดเลือกตั้งใหม่ 2 คน ประกอบด้วย นายประวิช รัตนเพียร และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์
บรรทัดฐาน กกต.ครั้งนี้จะทำให้ต่อจากนี้ไปการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ คงต้องระมัดระวังมากขึ้นแน่นอน
อย่างไรก็ตาม บรรดาแฟนคลับประชาธิปัตย์ไม่ต้องเป็นห่วงว่าคดีนี้จะมีผลต่อการยุบพรรคประชาธิปัตย์อะไรหรือไม่ หากผลคดีออกมาเป็นลบกับสุขุมพันธุ์ เพราะแม้ตอนนี้ สุขุมพันธุ์จะเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่เนื่องจากช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังกล่าว ตอนนั้น สุขุมพันธุ์ ยังไม่ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด ถ้าสุขุมพันธุ์โชคร้ายขึ้นมา ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องคดียุบพรรคแน่นอน
ส่วนผลจะออกมาแบบไหน โปรดรอลุ้นกัน