เมืองไทย 360 องศา
หลายคนเหน็บแนมให้ได้ยินเสมอว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์นี่ว่างกันไม่ได้เลย เพราะถ้าสงบเมื่อไหร่ก็เป็นอันต้องฟัดกันเองเมื่อนั้น คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อว่างเว้นจากกิจกรรมทางการเมืองหลังจากเกิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ในช่วงแรกก็ดูสงบเงียบดี แต่แล้วจู่ ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา ก็เกิดรายการงัดข้อกันภายในอย่างรุนแรงเกิดขึ้น จนเป็นเรื่องแปลกใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับพรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้
จะว่าไปแล้วหากย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่มาถึงวันนี้ พิจารณากันเฉพาะในช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่คราวนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ไปเกือบสองแสนคะแนน สามารถนั่งเก้าอี้ตัวเดิมต่อเนื่องเป็นสมัยที่สอง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในรายละเอียดถึงที่มาที่ไปของผลคะแนนและชัยชนะดังกล่าวของ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส่วนสำคัญไม่ใช่มาจากความนิยมส่วนตัว หรือชื่นชมจากผลงานการทำงานของเขาในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยแรก แต่มีไม่น้อยที่ต้องลงคะแนนให้ เนื่องจากเกรงว่าผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะได้รับเลือกตั้ง เกรงว่าเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร จะยึดครอง ครอบงำการเมืองท้องถิ่นในเมืองหลวง จึงเทเสียงสกัดกั้น อีกทั้งในเวลานี้กระแสต้านของคนในเมืองกับคนในครอบครัวนี้ เริ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมขับไล่ ในนาม กปปส. ไม่นาน
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์เริ่มได้เห็นความขัดแย้ง ความไม่พอใจกันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยเฉพาะความขัดแย้งกับทีมผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ถ้าจำกันได้ ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สมัยแรก ภาพที่ปรากฏออกมาภายนอก ก็คือ การทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แบบลุยเดี่ยว ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่สนใจคณะกรรมการบริหารพรรค ความหมายก็คือ ในตอนนั้น “ชายหมู” เหมือนกับ “สร้างอาณาจักร” ของตัวเองแบบไม่แคร์พรรคที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าทีมอยู่
ความขัดแย้งดังกล่าวได้ขยายบานปลายออกไปเรื่อย ๆ จนถึงคราวที่ต้องมีการเปิดรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยที่สอง ก็มีปัญหา มีข่าวทำนองว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัครในนามพรรคอีก จากปัญหาไม่ลงรอยดังกล่าว อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากผลงานในตอนนั้น ชาวกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ปลื้ม
แต่ด้วยชั้นเชิงที่แพรวพราว ชนิดที่เรียกว่า “เขี้ยวชนเขี้ยว” แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะ “เหม็นหน้า” กันแค่ไหนก็ตาม แต่ในทางการเมืองก็ต้องมองในแง่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ก็สามารถสงบศึกลงได้ชั่วคราว นั่นคือฝ่าย “ชายหมู” ก็ยอมถอยลงมา นั่นคือ รับปากว่าจะมีการปรึกษาหารือกันมากขึ้น และที่สำคัญหากชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. อีกสมัย ก็คือ ยอมให้มีคนจากพรรคเข้าไปร่วมทีมบริหารมากขึ้น จะมีการเข้าร่วมประชุมพรรคมากขึ้น
ตามข่าวในตอนนั้นถึงขั้นที่ว่า ถ้าการเจรจาไม่ลงตัว นั่นคือ หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็จะลงสมัครในนามอิสระ ซึ่งนั่นก็คงหายนะกันทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งพรรค ก็คงระส่ำระสาย และในความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นตอนนั้นก็คือ พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ก็จะเสียให้กับพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ฝ่ายทีม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีหลายคนยังยืนกรานว่า ต้องเปลี่ยนตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ เป็นคนอื่น แต่ในที่สุดก็สามารถเจรจากันลงเอยด้วยดี ทำให้การหาเสียงเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ขณะเดียวกัน สำหรับคนกรุงเทพฯ แม้ว่าจะไม่แฮปปี้กับผลงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มากนัก แต่ด้วยเหตุผลที่เกรงว่า “ถ้าไม่เลือกเรา เขามาแน่” นั่นคือ พรรคเพื่อไทยต้องชนะแน่ สังเกตได้จากผลคะแนนของผู้สมัครรายอื่น เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระ ที่แม้มีคะแนนเป็นอันดับที่สาม แต่มีคะแนนน้อยมากจนน่าแปลกใจ รวมไปถึงผู้สมัครคนอื่น ที่มีสีสันถูกกล่าวขวัญถึงอย่าง สุหฤท สยามวาลา ก็ได้คะแนนน้อยลงมา แบบผิดคาด นักวิเคราะห์จึงมองว่า ชาวบ้านจึงตัดสินใจเทคะแนนให้ ชายหมู แทนที่จะกระจายให้ผู้สมัครอิสระรายอื่น เนื่องจากเกรงว่าหากลงให้ผู้สมัครรายอื่น ก็จะทำให้ “เสียของ”
นั่นคือ ปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวที่เห็นความขัดแย้งระหว่าง คนในพรรคประชาธิปัตย์ในทีมของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ดูแนวโน้มแล้วน่าจะบานปลายออกไปอีก
อย่างที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า ปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ แต่เป็นคู่กรณีเก่า อย่างไรก็ดี คราวนี้รูปแบบความขัดแย้งได้พัฒนาแยกย่อยออกไปในรายละเอียด เป็นลักษณะแบบ “สงครามตัวแทน” มากขึ้น แทนที่จะเป็นลักษณะของการเผชิญหน้าโดยตรง อีกทั้งมีตัวละครระดับ “ขาใหญ่” ที่นำทีมโดย “กำนันสุเทพ” สุเทพ เทือกสุบรรณ ผสมโรงเข้ามาอีก โดยแอบชักใยหนุนหลัง ชายหมู ถึงกับมีข่าวว่า อาจจะสนับสนุนให้ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาทีเดียว แต่ก็อย่างว่า ด้วยความจริงที่ว่า “มันดันไม่ขึ้น” ทุกอย่างเลย “ฝ่อ” ลงก่อนกำหนด
เมื่อหันมาพิจารณากันถึงความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นที่เป็นลักษณะของ “สงครามตัวแทน” ดังกล่าว กลายเป็นว่าฝ่ายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นฝ่ายเปิดเกมรุกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีการเปิดเกมโดย วิลาศ จันทร์พิทักษ์ ถล่มตั้งแต่เรื่องการใช้งบประมาณที่อ้างว่า ส่อไปทางทุจริต มีเรื่องการขนคนไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่อ้างว่าไปศึกษาดูงาน ล่าสุด ในช่วงปลายปีคาบเกี่ยวกับต้นปีใหม่ มีการออกมาแฉเรื่องการใช้งบในการตกแต่งโคมไฟจำนวนกว่า 39 ล้านบาท ที่ส่อไปในทางใช้งบในทางมิชอบ โดยมีการขยายวงให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ
ขณะที่ในสายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกคนหนึ่งคือ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ อีกคนหนึ่ง ก็ออกมาถล่มเรื่องการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ของกรุงเทพฯไม่ชอบมาพากล และล่าสุดได้เกิดเหตุไฟฟ้าช็อตที่เสาติดตั้งกล้องดังกล่าว ทำให้มีคนเสียชีวิต จน วัชระ เพชรทอง ได้ออกมากระทุ้งให้ตรวจสอบอีกรอบ
ขณะที่ท่าทีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เท่าที่สังเกตในตอนแรกยังวางเฉย ใช้แผนสงบ สยบเคลื่อนไหว ไม่ตอบโต้ เพราะเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงเงียบไปเอง แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น เพราะยิ่งนานก็ยิ่งแรง โดยเฉพาะกระแสสังคมเริ่มมองด้วยสายตาสงสัย ประกอบกับความเบื่อหน่ายกับผลงานของเขา ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ “ชายหมู” นั่งไม่ติด สิ่งที่ทำได้ก็คือการ “ขู่ฟ้อง” คนที่ออกมากล่าวหาเขาให้เสื่อมเสีย พร้อมทั้งโยนให้ทางรองผู้ว่าฯ กทม. คือ อมร กิจเชวงกุล ที่ออกมาแถลงชี้แจงเรื่องโคมไฟประดับ ถึงสองครั้ง ยืนยันว่า เป็นการใช้งบกลางตามปกติ ไม่ใช่วิธีการใช้วิธีพิเศษ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ตามที่กล่าวหา
ความเคลื่อนไหวและความขัดแย้งดังกล่าวนาทีนี้ทำท่าจะเป็นเรื่องยาว คงจบยาก อย่างไรก็ดี ยังมีความโชคดีอยู่บ้างเมื่อทางฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เตรียมใช้มติที่ประชุมพรรคเฉ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีข่าวถึงขั้นว่าอาจ “ขับ” ออกจากพรรคกันเลยทีเดียว แต่ในบรรยากาศพิเศษภายใต้ คสช. ก็ต้องขออนุญาตก่อน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. รีบออกมาเบรกเด็ดขาด แน่นอนว่า งานนี้กลัวบานปลาย และที่น่ากลัวกว่านั้น ก็คือ จะมี “รายการกระทบชิ่ง” นั่นคือ หากยอมให้ประชาธิปัตย์ประชุมได้ ก็ต้องอนุญาตให้พรรคเพื่อไทยประชุมได้เหมือนกัน นี่ แหละคือปัญหายิ่งกว่า จึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในมุมของชาวบ้าน โฟกัสกันเฉพาะปัญหาการเปิดโปงสาวไส้ กันในกรุงเทพมหานคร โดยคนของพรรคประชาธิปัตย์ งานนี้กลับปรากฏว่า มีอารมณ์ร่วมน้อยเกินคาด เมื่อสำรวจความรู้สึกส่วนใหญ่ออกมาในเชิง “รำคาญ” เสียมากกว่า แม้ว่า ในความเป็นจริง ดูแล้วมีสิ่งไม่ชอบมาพากลอย่างที่กล่าวหาจริง แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งภาพของความขัดแย้งดังกล่าวได้สร้างความเบื่อหน่ายเป็นการตอกย้ำการ “ฟัดกันเอง” ทำลายภาพลักษณ์ลงไปเรื่อย ๆ และหากไม่จัดการให้เบ็ดเสร็จจบสิ้นโดยเร็ว คราวหน้าโอกาสที่จะเสี่ยง “ตายหมู่” ก็มีสูงยิ่ง !!