ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ยกฟ้อง 2 นปช.วางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงเหตุการณ์จลาจลป่วนเมือง ปี 2553 ชี้พยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ที่ห้องพิจารณา 405 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 วันนี้ (4 ก.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หมายเลขดำ ด. 2478/2553 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสายชล แพบัว อายุ 32 ปี ชาว จ.ชัยนาท การ์ด นปช. และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 30 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันชุมนุม และมั่วสุมกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ กทม. ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และได้เข้าไปในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใช้กำลังทำลายบานกระจก ผนังอาคารบานกระจกประตู อาคารเซ็นทาวเวอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จนแตกเสียหายเป็นการกีดขวางการจราจร ขัดขวางต่อการประกอบกิจการของห้าง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหาย และเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเข้าไปภายในบริเวณอาคารเซ็นทาวเวอร์ และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ที่เป็นทรัพย์โรงเรือนที่เก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ลุกลามเผาอาคารเซ็นทาวเวอร์ และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆ ของผู้เสียหาย 270 ราย รวมค่าเสียหาย 8,890,578,649.61 บาท และเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ หรือกิตติพงษ์ สมสุข ที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่แขวงและเขตปทุมวัน กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 217, 218, 224 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 9, 11, 18 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2553 และประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 ชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 1 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ ที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นด้วยพิพากษายืนยกฟ้อง
ภายหลังนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.เปิดเผยว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการวางเพลิง ประกอบกับอากัปกิริยาของจำเลยที่ 1 ที่ได้ถือถังดับเพลิงเข้าไปภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โจทก์ไม่มีพยานมายืนยันสนับสนุน แค่เห็นว่าเป็นการวางเพลิง และพยายามเชื่อมโยงกับกลุ่มที่มีอาวุธปืน เนื่องจากถังดับเพลิงที่จำเลยที่ 1 ถือนั้นไม่ได้นำไปใช้ก่อเหตุวางเพลิง อีกทั้งพยานโจทก์ทุกปากไม่ยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ในขณะเกิดเหตุวางเพลิง พยานทั้งหมดของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยมาก นอกจากนี้ อัยการยังไม่สามารถนำสืบให้เห็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความเชื่อมโยงกัน หรือแบ่งหน้าที่กันวางเพลิงอย่างไร พยานหลักฐานจึงไม่สามารถรับฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้วางเพลิง ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกมาจนครบกำหนดแล้ว จึงไม่ต้องถูกจำคุกอีก
นายวิญญัติกล่าวอีกว่า พนักงานอัยการจะยื่นฎีกาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการ แต่คดีนี้มีการยกฟ้องทั้ง 2 ศาลตามหลักแล้วต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เว้นแต่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีโอกาสที่พนักงานอัยการจะยื่นฎีกา ดังนั้น ตนจะทำหนังสือขอให้อัยการหยุดฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 9 เดือน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 จำคุกมาครบกำหนดแล้วและศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ จึงต้องปล่อยตัวตัวไป โดยในวันนี้จำเลยทั้งสองซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมตัวได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ภายหลังฟังคำพิพากษาจำเลยทั้งสอง ได้แสดงความดีใจที่ศาลพิพากษายกฟ้อง