“พล.ต.อ.ชัชวาลย์” เปิดอบรมหลักสูตรดูแลเหยื่อค้ามนุษย์ตามโครงการความร่วมมือระหว่าง UNODC และ DSI
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ถนนเพชรบุรี เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร “การดูแลเหยื่อ” ตามโครงการความร่วมมือระหว่าง UNODC และกรมสอบสวนคดีพิเศษ
พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญไม่เฉพาะแต่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับสากลที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว และหน่วยงานของไทยหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คือ ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ (ศคม.) ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI สำหรับการค้ามนุษย์นั้นจะแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ 1. ค้าประเวณี 2. ค้าแรงงาน และ 3. ขอทาน จากการทำงานที่ผ่านมาดีเอสไอเห็นว่ามีความจำเป็นที่ ศคม.จะต้องมีมาตรฐานในการทำงานที่ดี เป็นสากล เพื่อให้สามารถรองรับกับภารกิจที่สำคัญนี้ได้ สำนักงานองค์การสหประชาชาติด้านยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ตกลงดำเนินการโครงการร่วมกันเพื่อยกระดับการทำงานของศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในหน่วยให้มีมาตรฐานเป็นสากล มีระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยสามารถสนับสนุนการทำงานด้านสืบสวนสอบสวนได้เป็นอย่างดี จัดให้มีที่ปรึกษาประจำหน่วยงาน ให้คำปรึกษาในด้านการบริหารหน่วยงานและการดำเนินคดี โดย UNODC ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา 500,000 เหรียญสหรัฐ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้เป็นเงินอีก 200,000 เหรียญสหรัฐ รวมงบประมาณที่ใช้ในโครงการทั้งสิ้น 700,000 เหรียญสหรัฐ (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท) เป็นโครงการ 2 ปี โดยได้เริ่มโครงการนี้มาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2557 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีการอบรมทั้งหมด 11 หลักสูตร และในการอบรมครั้งนี้เป็นหลักสูตรที่ 6 ว่าด้วยการดูแลเหยื่อ (victim care) ดำเนินการสอนโดยนาย Sean McKenna เจ้าหน้าที่ของ UNODC ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประจำของศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การดูแลเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้นมีความสำคัญ เพราะในขั้นตอนการดำเนินคดีเรื่องการค้ามนุษย์ ผู้เสียหายจะเป็นเหมือนประจักษ์พยานและรู้เห็นเหตุการณ์ดีที่สุด ในแง่ของหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวอีกว่า สหรัฐอเมริกาไดัตั้งมาตรฐานจัดลำดับประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ Watch List (วอตช์ลิสต์) ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีปัญหาการค้ามนุษย์รุนแรง และแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ 2. กลุ่มที่มีปัญหาการค้ามนุษย์รุนแรง และพยายามแก้ไขตามมาตรฐานขึ้นต่ำ และระดับที่ 3. ไม่สนใจ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับที่ 2 ทั้งนี้ตนตั้งเป้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยจะทำให้ประเทศไทยเลื่อนขึ้นไปอยู่ในระดับที่ 1 ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินการจัดฝึกอบรมมาแล้วทั้งสิ้น 5หลักสูตร คือ 1. Investigation of trafficking, policy books, and risk assessing a victim rescue 2. Senior Managers intelligence training 3. Intelligence training for frontline officers 4. Intelligence logs, grading and handling และ 5. Operational security ซึ่งการอบรมหลักสูตร “การดูแลเหยื่อ” ในครั้งที่ 6 นี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบถึงขบวนการขั้นตอนในการดูแลเหยื่อที่ถูกต้องตามหลักสากล และหลักมนุษยธรรม เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการนี้ผู้จัดการฝึกอบรมได้เล็งเห็นถึงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าร่วมการอบรมด้วย ได้แก่ สำนักงานตำรวจแหีงชาติ โดยกองบังคับการปรามปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ International Organization for Migration และ NGO ได้แก่ Alliance Anti-Traffic และ Labor Rights Protection Network เพื่อจะได้อภิปรายร่วมกันถึงปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการต่อไป