xs
xsm
sm
md
lg

เตือน‘ชาวอัฟกัน’เป็น‘ผู้ลี้ภัยผิดกฎหมาย’สุดอันตราย

เผยแพร่:   โดย: ฟารันกิส นาจิบุลเลาะห์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghans warned of refugee perils
By Farangis Najibullah
26/08/2013

องค์การระหว่างประเทศและหน่วยราชการของอัฟกานิสถาน ร่วมมือกันจัดโครงการรณรงค์เสริมสร้างความตื่นตัว ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเตือนชาวอัฟกันซึ่งมุ่งหวังที่จะไปเป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดน ให้เห็นอันตรายนานาจากการลักลอบเดินทางอย่างผิดกฎหมายเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ เป็นต้นว่ายุโรป โดยที่มีผู้เสี่ยงภัยเหล่านี้จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลับต้องยุติการดิ้นรนของพวกเขาในสภาพของการสิ้นเนื้อประดาตัว, การถูกคุมขังในสถานที่ห่างไกลจากบ้านหรือกระทั่งร้ายกาจยิ่งกว่านั้นอีก อย่างไรก็ตาม ชาวอัฟกันอีกมากหลายยังน่าที่จะต้องสูญเสียเงินเก็บเงินออมของครอบครัวให้แก่พวกนักค้ามนุษย์หลอกลวงไร้ยางอายต่อไปอีก ในเมื่อพวกเขาเชื่อว่าการทุจริตติดสินบนที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในดินแดนมาตุภูมิของพวกเขานั้น ทำให้การหลบหนีออกไปอยู่ต่างแดนกลายเป็นความหวังอันงดงามที่สุดสำหรับการสร้างเนื้อสร้างตัว

คาบูล, อัฟกานิสถาน – หลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของอัฟกานิสถาน ได้เริ่มเปิดการรณรงค์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับความตื่นตัวของประชาชน ในเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกเส้นทางเดินแบบผิดกฎหมายเพื่อไปใช้ชีวิตใหม่ในต่างแดน

ปัจจุบันอัฟกานิสถานมีชื่อเสียงเลื่องลือ ในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย, ผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมาย, และผู้ยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย จนกระทั่งทำให้ประเทศจุดหมายปลายทางหลายแห่งถึงขั้นแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในทางลบ

จากการที่มีผู้ลี้ภัยจำนวนร่วมๆ 2.6 ล้านคนเข้าไปพำนักพึ่งพิงอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 80 ประเทศ ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นชาติระดับแนวหน้าในการเป็นดินแดนต้นกำเนิดของผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2012 และยิ่งกำหนดการถอนทหารองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ออกไปจากอัฟกานิสถานในตอนสิ้นปี 2014 กำลังขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ความวิตกห่วงใยที่ว่าจะมีชาวอัฟกันหลั่งไหลทะลักอพยพออกนอกประเทศ จึงมีแต่เพิ่มทวีขึ้นทุกที

“ชาวอัฟกันจำนวนมากทีเดียวที่กำลังขบคิดหาทางไปขอลี้ภัยในต่างประเทศกันอยู่นั้น เป็นพวกที่แทบไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้” ซิดดิก ฮัซรัตไซ (Siddiq Hazratzai) ผู้ทำหน้าที่โฆษกคนหนึ่งให้กับสำนักงานในกรุงคาบูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration ใช้อักษรย่อว่า IOM) แถลงเอาไว้เช่นนี้

IOM ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือระดับรัฐบาลนานาชาติที่มีรัฐสมาชิกกว่า 150 ราย กำลังจับมือกับพวกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอัฟกานิสถาน อย่างกระทรวงผู้ลี้ภัยและการกลับถิ่นฐาน (Refugee and Repatriation Ministry) และกระทรวงแรงงานและกิจการสังคม (Labor and Social Affairs Ministry) ตลอดจนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund) ในการดำเนินโครงการรณรงค์เสริมสร้างความตื่นตัวเป็นระยะเวลา 3 เดือนในทุกๆ จังหวัดทั้ง 34 จังหวัดของอัฟกานิสถาน

“การรณรงค์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกันอย่างกว้างขวางแก่ประชาชน เป็นต้นว่า การที่ประเทศเจ้าภาพหลายประเทศใช้นโยบายการอพยพเข้าเมืองที่เข้มงวดยิ่งขึ้นกว่าเดิม, ความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อของพวกแก๊งค้ามนุษย์, หรือเส้นทางที่ไม่ว่าไว้วางใจในการเดินทางไปสู่ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทาง” ฮัซรัตไซ แจกแจง

คาดหมายกันว่าสื่อมวลชนของภาครัฐจะแสดงบทบาทสำคัญในการรณรงค์นี้ รวมทั้งยังจะมีการปิดโปสเตอร์ที่เตือนประชาชนถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในกรุงคาบูลและในเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ

สำหรับในระดับหมู่บ้าน พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ขอให้อิหม่ามผู้สอนศาสนาตลอดจนผู้อาวุโสของชนเผ่าที่มีอิทธิพลสูง หยิกยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดกับพวกชาวบ้านร้านถิ่นในระหว่างการละหมาดในมัสยิดและการรวมตัวตามงานพิธีต่างๆ ของภาคเอกชน

**สถิติที่ถูกต้องนั้นยังหาได้ยาก**

ในสภาวการณ์ที่ประเทศเกิดการสู้รบขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธมิได้หยุด ขณะที่ความอดอยากยากจนก็มีอยู่อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการขาดไร้โอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัว ได้บีบคั้นบังคับให้ชาวอัฟกันจำนวนเรือนล้านพากันละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน มุ่งไปเสาะแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน

ตามรายงานของสหประชาชาติที่นำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า ผู้ลี้ภัยในทั่วโลกจำนวนถึง 1 ใน 4 ทีเดียว มาจากอัฟกานิสถาน

ข้อมูลสถิติของยูเอ็นดังกล่าวนี้บอกด้วยว่า จำนวนชาวอัฟกันที่ยื่นขอฐานะการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 30% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อัซรัตไซ ชี้ว่าพวกคนหนุ่มจำนวนนับหมื่นนับแสนที่มาจากหมู่บ้านชนบทของอัฟกานิสถาน จะหาทางอพยพไปยังพวกประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านและปากีสถานเพื่อหางานทำ

ขณะที่ “พวกชาวเมืองใหญ่และพวกนักวิชาชีพที่มีการศึกษาสูง ส่วนใหญ่แล้วเลือกที่จะไปยังจุดหมายปลายทางที่อยู่ไกลออกไปอีก เป็นต้นว่า ยุโรป และออสเตรเลีย” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม “ตัวเลขสถิติที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนผู้อพยพเข้าเมือง ที่มีต้นกำเนิดมาจากอัฟกานิสถานนั้น มันไม่มีอยู่หรอก เพราะปกติแล้วคนเหล่านี้ต้องอาศัยความช่วยเหลือของพวกนักค้ามนุษย์ในการเดินทางไปสู่ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทาง” อัซรัตไซกล่าวต่อ “พวกเขาข้ามชายแดนในบริเวณซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาชายแดน ไม่มีด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย”

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพวกที่ต้องการได้รับฐานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองนั้น มักจะต้องจ่ายเงินที่อาจสูงถึง 20,000 ดอลลาร์แก่พวกนักค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นผู้จัดการเดินทางอันมีอันตรายสูง เพื่อนำคนเหล่านี้ไปยังพวกจุดหมายปลายทางที่ผู้ลี้ภัยนิยมไปกัน เป็นต้นว่า ยุโรป, อเมริกาเหนือ, และออสเตรเลีย

**อันตรายเมื่ออยู่กลางทะเล**

พวกเจ้าหน้าที่ชาวอัฟกันบอกว่า พวกโยกย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศอย่างผิดกฎหมายเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะถูกพวกแก๊งค้ามนุษย์ทำร้ายหรือทอดทิ้งในระหว่างทาง หรือไม่ก็อาจถูกส่งตัวกลับโดยพวกเจ้าหน้าที่ในประเทศจุดหมายปลายทาง

ยังมีอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเสี่ยงชีวิตของตนเองโดยพยายามเดินทางไปยังออสเตรเลียหรือยุโรป ด้วยเรือที่ไม่เหมาะแก่การเดินทางไกลในทะเล แถมยังบรรทุกผู้โดยสารจนล้นเกิน

ตามตัวเลขข้อมูลของ IOM ในเดือนธันวาคม 2012 มีชาวอัฟกันที่ต้องการฐานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวน 26 คนต้องจมน้ำเสียชีวิตในทะเล ขณะกำลังพยายามเดินทางด้วยเรือจากตุรกีไปยังกรีซ

ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในออสเตรเลียบอกว่า อัฟกานิสถาน ตลอดจนอิหร่าน, อิรัก, และศรีลังกา เป็นประเทศต้นกำเนิดของพวกที่ต้องการได้ฐานะการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดินทางไปถึงออสเตรเลียด้วยการโดยสารเรือที่แล่นออกมาจากเมืองท่าต่างๆ ในอินโดนีเซีย

ทั้งนี้มีจำนวนหลายร้อยคนทีเดียวที่จมน้ำเสียชีวิตไปในระหว่างทางในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เมื่อเรือสุดโทรมและขาดการบำรุงรักษาที่พวกเขาโดยสารมา ได้อัปปางลงกลางทะเลระหว่างการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายนานา

สถานการณ์เช่นนี้มีส่วนกระตุ้นให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของออสเตรเลียนำเอานโยบายใหม่ออกมาบังคับใช้ โดยที่จะนำเอาพวกที่ต้องการขอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้งหมดที่เดินทางโดยทางทะเลมาถึงดินแดนของออสเตรเลีย ไปอยู่ที่ปาปัวนิวกินี ทั้งนี้ตามข้อตกลงที่ออสเตรเลียกับปาปัวนิวกินีลงนามกันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สื่อมวลชนของออสเตรเลียรายงานว่า ข้อตกลงในการนำเอาผู้ต้องการลี้ภัยทางการเมืองออกไปอยู่เสียที่ปาปัวนิวกินีดังกล่าวนี้ ได้ช่วยชะลอทำให้มีเรือลักลอบขนผู้อพยพผิดกฎหมายเข้าเมือง ทะลักเข้าสู่แดนจิงโจ้ลดน้อยลง อย่างไรก็ดี ยังคงมีเรือดังกล่าวถูกตรวจจับได้กลางทะเลอีกเป็นจำนวนมาก ภายหลังที่ได้ประกาศใช้มาตรการเช่นนี้แล้ว

เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2013 เรือลำหนึ่งซึ่งบรรทุกพวกที่ต้องการเป็นผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 100 คน ได้อัปปางลงกลางทะเลที่บริเวณห่างจากเกาะคริสต์มาส (Christmas Island) ทางตอนเหนือของออสเตรเลียประมาณ 220 กิโลเมตร โดยที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนจากเรือที่ล่มดังกล่าวได้ 105 คน

กระนั้นก็ตามที อาหมัด มาเตอุลเลาะห์ (Ahmad Mateullah) หนุ่มชาวคาบูลวัย 19 ปี ยังคงกล้าที่จะทำนายว่า โครงการรณรงค์เสริมสร้างความตื่นตัวที่กำลังทำอยู่นี้ จะแทบไม่มีผลอะไรในการลดทอนความปรารถนาที่จะออกนอกประเทศของชาวอัฟกัน

“สถานการณ์ในประเทศนี้มันบังคับให้ประชาชนต้องหลบหนีแม้จะต้องเสี่ยงภัยเสี่ยงอันตรายเยอะแยะ” เขากล่าว “ในกรุงคาบูลไม่มีวันไหนเลยที่ผ่านไปโดยที่ไม่เกิดเหตุระเบิดหรือการโจมตีแบบฆ่าตัวตาย นอกจากนั้นประชาชนยังต้องการออกไปจากประเทศด้วยเหตุผลในทางเศรษฐกิจอีกด้วย”

มาเตอุลเลาะห์บอกว่าตัวเขาเองก็ตั้งใจที่จะไปตั้งถิ่นฐานในยุโรปตะวันตก ซึ่งเขามีญาติพี่น้องอยู่ทางนั้น ทั้งนี้ความพยายามครั้งแรกของเขาที่จะข้ามชายแดนเข้าไปในอิหร่านเมื่อตอนต้นปีนี้ต้องประสบความล้มเหลว

“ผมมองไม่เห็นว่าตัวผมเองจะมีอนาคตอะไรเลยถ้าหากยังอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป” มาเตอุลเลาะห์บอก “คุณไม่สามารถหางานอะไรทำได้เลยถ้าหากไม่มีเส้นสายหรือไม่ติดสินบน”

มาเตอุลเลาะห์เล่าว่า เพื่อนบ้านของเขาจ่ายเงิน 14,000 ดอลลาร์ให้พวกแก๊งค้ามนุษย์เพื่อให้พาเขาไปยังเบลเยียม ตัวมาเตมุลเลาะห์เองก็กำลังมองหาทางเลือกต่างๆ ที่จะทำให้เขาสามารถออกไปจากอัฟกานิสถานได้ “ไม่ว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนสักแค่ไหนก็ตามที”

ข่าน มูฮัมหมัด ซีนด์ (Khan Muhammad Seend) ผู้สื่อข่าว เรดิโอ ฟรี อัฟกานิสถาน (Radio Free Afghanistan) ของ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี มีส่วนช่วยจัดทำรายงานชิ้นนี้

รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น