“ธาริต” ร่วมกับผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOMแถลงผลงานดีเอสไอบุกเข้าช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 คน ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง ท่าเรือแสม จ.ชลบุรี หลังถูกหลอกลวงและบังคับให้ทำงานอย่างหนักในเรือดังกล่าวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง โดย มี 3 คนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.เวลา 14.00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และ ผอ.ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ พ.ต.ท.คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผอ.ส่วนป้องกันและและปราบปราม 1 น.ส.ธนาภาณ์ ไชยศรีหา มิไชด์ ตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International for migration หรือ IOM) และนายปราโมทย์ โถวสกุล ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานต่างด้าว ร่วมแถลงผลการช่วยเหลือผู้เสียหายต่างชาติจากการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง ที่ท่าเรือแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา
พ.ต.ท.คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผอ.ส่วนป้องกันและและปราบปราม 1 กล่าวว่า หลังศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ ได้รับการร้องขอจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration หรือ IOM ) เพื่อให้ช่วยเหลือ ชาวเมียนมาร์ 6 คน ซึ่งถูกนายหน้าหลอกว่าจะพาไปทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่กลับถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมง และมีการทำร้ายร่างกาย โดยผู้เสียหายคนหนึ่งได้โทรศัพท์แจ้งว่า อยู่ในเรือหมายเลข 12 เป็นเรือสีฟ้าขาว ไม่ทราบชื่อและกำลังเข้าจอดที่ท่าเรือแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานไปยังศูนย์ประสานงานแรงงานต่างด้าว ต.แสมสาร ซึ่งเป็นศูนย์ที่ผู้ประกอบการประมงในพื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือดูแลคนต่างด้าวที่ถูกหลอกลวงและบังคับให้ทำงานในเรือประมง กระทั่งตรวจสอบทราบว่าเรือลำดังกล่าวชื่อ มนตรีทวีทรัพย์สิน 12 ได้ออกจากฝั่งที่แสมสารไปแล้วในวันที่ 4 ต.ค.ทางดีเอสไอจึงประสานไปยังศูนย์ช่วยเหลือติดต่อกับเจ้าของเรือลำดังกล่าว เพื่อขอให้นำเรือกลับมา
พ.ต.ท.คมวิชช์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบภายในเรือพบบุคคล 6 ราย นอกจากนี้มีผู้ที่ถูกหลอกลวงและบังคับให้ทำงานในเรือลำดังกล่าว ได้ร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 4 คน รวม 10 คน ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 3 คน
สอบสวนทราบว่า ผู้เสียหายทั้ง 10 คน ถูกหลอกลวงและบังคับให้ทำงานบนเรือประมง ซึ่งทุกคนไม่สมัครใจทำงาน และไม่ได้รับเงินค่าแรง ทั้งยังถูกทำร้ายร่างกายด้วย เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการจับกุมตัวหัวหน้าคนงานและผู้ช่วยหัวหน้าคนงานในเรือลำดังกล่าว ซึ่งเป็นชาวเมียนมาร์
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาร่วมกับพวกที่หลบหนีกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันกักขัง หรือหน่วงเหนี่ยวผู้อื่น ร่วมกันทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ