xs
xsm
sm
md
lg

‘ตอลิบาน’ผู้ใกล้ได้อิสรภาพอาจเป็น‘กุญแจ’สู่สันติภาพอัฟกัน

เผยแพร่:   โดย: อาบูบาการ์ ซิดดิกู

Freed Taliban may hold key to Afghan peace
By Abubakar Siddique
12/09/2013

ผู้คนชาวอัฟกันไม่น้อยวาดหวังว่า มุลลาห์ อับดุล กอนี บารอดาร์ อดีตผู้นำหมายเลขสองของกลุ่มตอลิบาน จะสามารถแสดงบทบาทเอาชนะใจพวกตอลิบานสายกลางให้หันมาเห็นดีเห็นงามกับแผนการใหญ่ของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ดังนั้นการที่เขากำลังจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำของปากีสถานภายในเดือนกันยายนนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันสำคัญมากสำหรับการบรรลุสันติภาพในอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆ กลับมองว่า บารอดาร์ ไมได้หลงเหลืออิทธิพลบารมีสักเท่าใดแล้วในหมู่พวกผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้

ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นผู้วางแผนประสานการทำศึกเข้าโจมตีครั้งใหญ่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายหนักหน่วงที่สุดในอัฟกานิสถาน ทว่ามาถึงเวลานี้ผู้คนจำนวนมากกำลังมองว่า มุลลาห์ อับดุล กอนี บารอดาร์ (Mullah Abdul Ghani Baradar) เป็นความหวังที่สำคัญที่สุดในการนำพาประเทศไปสู่สันติภาพ

ข่าวคราวที่ว่าอดีตผู้บัญชาการอันดับสองของกลุ่มตอลิบานผู้นี้ กำลังจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในปากีสถาน ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับกรุงคาบูล ซึ่งได้เพียรพยายามมาหลายปีแล้วเพื่อให้มีการปล่อยตัวบุคคลผู้นี้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสแสดงบทบาทนำในการเจรจาสันติภาพที่นำโดยชาวอัฟกัน

ทว่าบารอดาร์จะสามารถผลักดันให้เกิดการผ่าทางตันในการเจรจากับพวกผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ได้จริงๆ หรือไม่ ดูเหมือนจะต้องมีเงื่อนไขอันเอื้ออำนวยจำนวนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองของอัฟกานิสถานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาลแล้วนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2010 ตอนที่บารอดาร์ถูกจับกุมตัวในนครการาจี

ในเวลานั้นเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า เขาตกเป็นเป้าหมายถูกกองกำลังความมั่นคงปากีสถานเล่นงาน เนื่องจากถูกเหล่าผู้ทรงอำนาจเหนือกองกำลังดังกล่าว มองว่าเขามีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะหลบเลี่ยงไม่ฟังกรุงอิสลามาบัด และหันไปทำการเจรจาโดยตรงกับกรุงคาบูล

**อิทธิพลอาจไม่หลงเหลือแล้ว**

เขาเคยถูกมองว่ามีศักยภาพที่จะเอาชนะใจพวกตอลิบานสายกลางให้หันหาเห็นดีเห็นงามกับแผนการใหญ่ของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ซึ่งจะบูรณาการพวกเขากลับเข้าสู่สังคมชาวอัฟกัน ถ้าหากพวกเขายินยอมวางอาวุธ อย่างไรก็ตาม เวลานี้มันอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

ตามความเห็นของ ยูนัส ฟาคูร์ (Younas Fakoor) นักวิเคราะห์เรื่องอัฟกานิสถาน กลุ่มตอลิบานไม่น่าที่จะยอมรับเชื่อมั่นบารอดาร์ในฐานะผู้นำของพวกเขาอีกต่อไปแล้วภายหลังจากที่เขาถูกจองจำมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และกระทั่งถ้าหากพวกหัวรุนแรงติดอาวุธเหล่านี้ยอมเชื่อใจบารอดาร์ มันก็ยังคงน่าสงสัยอยู่ดีว่ากระบวนการสร้างสันติภาพในอัฟกานิสถานจะสามารถดำเนินไปโดยที่มีกรุงคาบูลเป็นผู้นำได้หรือไม่

“ผมคิดว่า ถ้าหากฝ่ายอเมริกันไม่เอาด้วยกับเรื่องการปล่อยตัวเขา และการปล่อยตัวนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตในนโยบายของปากีสถาน (ที่จะยุติการสนับสนุนพวกผู้ก่อความไม่สงบชาวอัฟกัน) ด้วยแล้ว การปล่อย มุลลาห์ บารอดาร์ ก็จะเป็นเพียงการกระทำเพื่อเอาใจคาร์ไซเท่านั้น แต่จะไม่ช่วยผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างไรเลย” นักวิเคราะห์ผู้นี้แจกแจง

ฟาคูร์กล่าวด้วยว่า พวกผู้นำชาวชนเผ่าและบุคคลที่มีการติดต่อกับพวกตอลิบานใกล้ๆ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar เมืองนี้เป็นจุดกำเนิดและฐานสำคัญที่สุดของกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้ ) ได้บอกกับเขาว่า มีการพูดร่ำลือเกินความเป็นจริงไปมากในเรื่องอิทธิพลบารมีของบารอดอร์ในหมู่พวกตอลิบานด้วยกัน

เขากล่าวต่อไปว่า แม้กระทั่งก่อนหน้าที่บารอดาร์จะถูกจับกุมตัว มุลลาห์ โมฮัมหมัด โอมาร์ (Mullah Mohammad Omar) ผู้นำทางจิตวิญญาณของตอลิบาน ก็ได้จัดแจงโยกย้ายเขาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการการปฏิบัติการทางทหาร โดยให้มานั่งในตำแหน่งสำคัญน้อยลงมาภายในสำนักการเมืองของตอลิบาน

**เวลาที่จะปล่อยตัวยังไม่ชัดเจน**

ซาร์เตจ อาซิส (Sartaj Aziz) ที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศของปากีสถาน ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมาว่า มุลลาห์ บารอดาร์ จะได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุดภายในเดือนนี้ “โดยหลักการแล้ว เราได้ตกลงปล่อยตัวเขาแล้ว” เขาบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ “สำหรับวันเวลาปล่อยตัวที่แน่นอนกำลังอยู่ระหว่างการหารือกัน”

ทว่าไม่มีความชัดเจนเอาเลยว่า ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันของปากีสถานแล้ว เขาจะมีบทบาทอะไรต่อไป หรือเขาจะไปที่ไหนกันแน่เมื่อพ้นจากเรือนจำ

อาซิสนั้นบอกว่า จะไม่มีการส่งมอบตัวบารอดาร์ต่อกรุงคาบูล ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอัฟกันวาดหวังเอาไว้ ตรงกันข้ามเขาจะถูกปล่อยตัวในขณะที่อยู่ภายในปากีสถาน ทั้งนี้เป็นที่เชื่อกันมานานแล้วว่าอันที่จริงพวกผู้นำตอลิบานส่วนใหญ่ก็กำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศนี้เอง

ถ้าหากปากีสถานปล่อยตัวบารอดาร์ภายในปากีสถานจริงๆ มันก็อาจจะกลายเป็นจุดสะดุดติดขัดสำหรับคณะรัฐบาลคาร์ไซก็เป็นได้ ถึงแม้มีการดำเนินฝีก้าวในทางบวกไปหลายต่อหลายอย่างแล้ว ภายหลังจากประธานาธิบดีอัฟกานิสถานผู้นี้ออกโรงผลักดันให้ปากีสถานปล่อยตัวบารอดาร์ตลอดจนสมาชิกตอลิบานรายสำคัญอื่นๆ ในระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนกรุงอิสลามาบัดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ระหว่างให้สัมภาษณ์วิทยุฟรีอัฟกานิสถาน (Radio Free Afghanistan) ไอมัล ไฟซี (Aimal Faizi) โฆษกของคาร์ไซบอกว่า ในการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับบารอดาร์และสมาชิกสำคัญคนอื่นๆ ของตอลิบานนั้น ควรที่จะต้องให้กรุงคาบูลได้เข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้ด้วย

“แผนการปล่อยตัวเช่นนี้ต้องไม่ใช่ทำกันตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” ไฟซี กล่าวย้ำ “พวกเขาควรที่จะร่วมมือประสานงานกับทางรัฐบาลอัฟกานิสถาน”

**หนึ่งในหลายๆ ราย**

ในรอบปีที่ผ่านมา กรุงอิสลามาบัดได้ปล่อยตัวบุคคลสำคัญของตอลิบานไปมากกว่า 30 คน รวมทั้งอดีตรัฐมนตรียุติธรรม มุลลาห์ นูรุดีน ตูราบี (Mullah Noorudin Turabi) ทว่าการปล่อยตัวเหล่านี้ไม่ได้บังเกิดผลอันใดในทางลดทอนการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน

พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของอัฟกานิสถานหลายรายเปิดเผยว่า บารอดาร์นั้นเคยเกี่ยวข้องมีบทบาทเมื่อตอนที่คณะรัฐบาลคาร์ไซเปิดการโหมโรงเรื่องเจรจาสันติภาพ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่เขาจะถูกฝ่ายปากีสถานจับกุมตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2010

ทางด้านผู้อาวุโสชาวชนเผ่าในภาคใต้อัฟกานิสถานหลายราย ก็ชี้ว่า บารอดาร์นั้นมาจากเผ่าโปปัลไซ (Popalzai tribe) ของคาร์ไซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงว่านเครือดูร์รานี ปัชตุน (Durrani Pashtun lineage) อันเป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานมานานหลายร้อยปีแล้ว

ขณะที่ฟาคูร์บอกว่า อดีตผู้บัญชาการหมายเลขสองของตอลิบานผู้นี้ รักษาสายสัมพันธ์ฉันมิตรอันมีอยู่กับ อาหมัด วาลี คาร์ไซ (Ahmad Wali Karzai) มาโดยตลอด ทั้งนี้ คาร์ไซผู้นี้คือน้องร่วมบิดาของประธานาธิบดีคาร์ไซนั่นเอง แต่ปัจจุบันเขาเสียชีวิตแล้ว

ก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน คาร์ไซได้เคยปล่อยตัวบารอดาร์ให้เป็นอิสระ ภายหลังจากกองกำลังซึ่งสนับสนุนเขาสามารถยึดพื้นที่ภาคใต้ของอัฟกานิสถานจากพวกตอลิบานได้ในตอนปลายปี 2001 จากนั้นบารอดาร์ก็พำนักอย่างสงบในจังหวัดอูรุซกัน (Uruzgan) ทางตอนใต้อัฟกานิสถานเป็นเวลาหลายเดือนทีเดียว แต่แล้วก็ได้โยกย้ายเข้าไปอยู่ในปากีสถานเนื่องจากถูกรบกวนจากพวกสายลับของหน่วยข่าวกรองอัฟกานิสถาน

บารอดาร์เป็นผู้บัญชาการทหารระดับอาวุโสคนหนึ่งของตอลิบาน ในช่วงที่พวกเขาขึ้นปกครองประเทศอัฟกานิสถานเมื่อตอนทศวรรษ 1990 เขาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญซึ่งเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของ มุลลาห์ โอมาร์ ผู้นำตอลิบาน ทั้งนี้เขาเป็น 1 ในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการตอลิบานขึ้นมาเมื่อปี 1994

บารอดาร์มีฐานะเป็นผู้ติดต่อคนสำคัญคนหนึ่งระหว่างโอมาร์กับพวกลูกน้องของโอมาร์ที่พำนักอยู่ในปากีสถาน และก็เป็นผู้นำทางทหารอาวุโสสูงสุดของขบวนการตอลิบานในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน เขาอำนวยการการก่อเหตุไม่สงบที่ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายมากมายจากสถานที่หลบซ่อนของเขาในเมืองแควตตา (Quetta) ของปากีสถานอยู่หลายปีทีเดียว

รายงานข่าวชิ้นนี้เขียนโดย อาบูบาการ์ ซิดดิกู แห่ง เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี โดยที่มี อับดุล ฮามีด โมห์มันด์ (Abdul Hameed Mohmand ) รายงานเพิ่มเติมจากกรุงคาบูล

รายงานนี้มาจากเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น