ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เวทีเสวนา 28 ก.พ. ลบหรือบวก ชี้มีด้านลบมากกว่าบวกหากการเจรจาเป็นการบังคับ และรัฐบาลมุ่งหาผลประโยชน์ วงในชี้การเจรจา 28 มีนาคมล้มแน่ เพราะบีอาร์เอ็นยังไม่สามารถหาคณะกรรมการเจรจาได้ครบ 15 คน ด้านชินทาโร่ ชี้รัฐบาลไทยสัญญาต่อประชาคมโลกแล้วว่าพร้อมรับฟังผู้เห็นต่าง
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) ร่วมเครือข่ายสื่อ และภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดเวทีเสวนาปาตานี หรือ Bicara Patani ในหัวข้อ “28 ก.พ. : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” หรือ “28 Feb : Petanda Baik atau Buruk Proses Damai Patani” โดยมีประชาชนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ารวมรับฟังประมาณ 3,000 คน
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวระหว่างการเสวนาว่า การเจรจาระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่เป็นลบ โดยมองว่าการเจรจาที่ผ่านมาเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองของทั้ง 2 ทั้งประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียทีจะการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ ซึ่งพรรคการเมืองของรัฐบาลมาเลเซียต้องการคะแนนเสียงจากคนปาตานีที่อยู่ประเทศมาเลเซีย หากสามารถดำเนินการเจรจาให้ประสบความสำเร็จ
นางชลิดา กล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจาที่ถูกบังคับมากกว่าที่จะเป็นการเจรจาโดยความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย (รัฐบาลกับขบวนการบีอาร์เอ็น) เนื่องจากก่อนที่จะมีการเจรจาครั้งที่ผ่านมา ทางตำรวจมาเลเซียได้ควบคุมตัวนายฮัสซัน ตอยิบ แล้วบังคับให้มีการเจรจากับรัฐบาลไทย ซึ่งตามหลักแล้วการเจรจาจะต้องเป็นความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถที่จะเจรจาด้วยสภาพโดนบังคับ
“ในพื้นที่มีขบวนการหลายกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ ตกลงแล้วนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวแทนของทุกกลุ่มหรือไม่ ไม่แน่ใจ และที่ผ่านมา ยังไม่มีการพูดคุยกับประชาชนพื้นว่าประชาชนต้องการอะไร แล้วนายฮัสซัน ตอยิบ จะเอาเรื่องอะไรเป็นข้อเสนอที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่”
นางชลิดา กล่าวอีกว่า แม้การเจรจาที่ผ่านมาตนมองว่าเป็นการเจรจาที่ถูกบังคับ แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นการริเริ่มของกระบวนการก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักการเจรจาจะต้องมีการสร้างความไว้วางใจต่อประชาชนในพื้นที่สักระยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่จะมีการเจรจาจริง อย่างกรณีของอาเจะห์ มีกระบวนการสร้างความไว้วางใจต่อประชาชนประมาณ 2 ปี กว่าที่จะมีการเจรจาจริงระหว่างผู้เกี่ยวของทั้ง 2 ฝ่ายได้
อีกทั้งรัฐบาลไทยจะต้องก่อตั้งองศ์กรที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาองค์กรหนึ่งขึ้นมา พร้อมมีคณะทำงานชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการเจรจาโดยตรง โดยที่ขึ้นตรงต่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างกรณีของมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ มีองค์กรที่ทำหน้าเรื่องของการเจราจาโดยเฉพาะ และมีคณะทำงานที่หน้าที่ในการเจรจากัน แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรนี้
นายชินทาโร่ ฮารา กล่าวในการเสวนาว่า ตนได้มีโอกาสพบแหล่งข่าวระดับสูงที่ยืนยันว่านายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแกนนำระดับสูงของบีอาร์เอ็นจริง และได้รับมอบหมายจากขบวนการเพื่อเข้าร่วมการพูดคุยกับรัฐบาลไทยซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า กระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเพื่อความสงบในพื้นที่ได้
นายชินทาโร่ ยังเปิดเผยอีกว่า แหล่งข่าวดังกล่าวยืนยันว่าหนังสือที่มีการลงนามในการพูดคุยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการร่างโดยฝ่ายรัฐบาลไทยเท่านั้น ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นไม่ได้มีส่วนในการร่างหนังสือที่มีการลงนามแต่อย่างใด จึงเป็นการยืนยันว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยต้องการให้มีการเจรจาสันติภาพเนื่องจากหนังสือที่ได้ลงนามมีข้อความสำคัญคือ รัฐไทยต้องการพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ
“สาระสำคัญของการลงนามในวันนั้นคือ รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าต้องการพูดคุยเจรจากับคนที่เห็นต่างกับรัฐ ซึ่งหมายความว่า รัฐต้องฟังทุกคนที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายขบวนการเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ ก็ต้องฟังด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้เซ็นสัญญาต่อประชาคมโลกแล้วในวันนั้น” นายชินทาโรกล่าว
นายอัสโตรา ชาบัต ผู้สื่อสารอาวุธโสของประเทศมาเลเซีย กล่าวในระหว่างของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีว่า การเจรจาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ มองว่ามีโอกาสที่ล้มเหลวประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากทางขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้การเจรจาครั้งนี้เป็นของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยที่ทางขบวนการบีอาร์เอ็นจะเอานักวิชาการ หรือผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามาเป็นคณะเจรจาในจำนวน 15 คน แต่ขณะนี้สามารถหาได้เพียงแค่ 5 คน เท่านั้น ขาดอีก 10 คน เนื่องจากไม่ใครที่จะกล้าเป็นคณะกรรมกาเจรจา
น.ส.รุซดา มะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep Peace) นำเสนอในช่วงของการแลกเปลี่ยนว่า ถ้าหากประชาชนต้องการปฏิเสธการเจรจาครั้งนี้จะมีผลเป็นอย่างไร เนื่องจากการเจรจาครั้งนี้ไม่ได้เป็นวาระของประชาชน ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของ 2 ฝ่ายคือ ประชาชนกับเจ้าหน้าที่ และไม่ใช่ขบวนการ ถ้าไม่ได้อยู่บนฐานของวาระประชาชน การเจรจานั้นจะต้องล้มเหลว เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง หากการเจรจาล้มเหลว คนที่ต้องเจ็บตัวมากที่สุดคือ ประชาชนไม่ใช่รัฐ หรือขบวนการ และอาจจะทำให้เหตุการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น
“ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าไม่ใช่ ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างสันติภาพได้ เราต้องพูดชัดเจนว่าไม่ใช่ และต่อจากนี้ไป คนปาตานีต้องกำหนดชะตากรรมของเอง หากเรายอมรับที่จะอยู่ในพื้นที่ ที่มีทั้งกฎหมายพิเศษ ถ้ารับได้ เราจะอยู่ต้องอยู่ แต่หากเรายอมรับไม่ใด้ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง” นางสาวรุซดากล่าว
นายอาเต๊ฟ โซะโก จากสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA) กล่าวระหว่างการเสวนาว่า การเจรจาระหว่างรัฐกับขวนการบีอาร์เอ็น ข้อเสนอฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นที่จะต้องมีอย่างแน่นอนคือ เรื่องของการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ การถอนทหารออกไป การยกเลิกการซ้อมทรมาน ยกเลิกควบคุมตัวโดยที่ไม่มีเหตุผล ซึ่งตนมองว่าเรื่องเหล่านี้รัฐไม่จำเป็นที่ต้องไปเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ