xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” งงรัฐไม่ชัดนโยบายใต้ เตือน “แม้ว” เจรจาไม่ดีเสี่ยงบึ้มซ้ำรอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หัวหน้าประชาธิปัตย์ รับ สมช.ลงนามบีอาร์เอ็นส่งผลต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ งงรัฐยังไม่ชัดเอาไงต่อ ย้ำ “ทักษิณ” เจรจาขาดความละเอียดอ่อนเสี่ยงเจอปฏิกิริยาสะท้อนกลับซ้ำ แนะรัฐเดินหน้าอย่างรัดกุม


วันนี้ (4 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมายอมรับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นที่รัฐบาลไทยไปลงนามเจรจาในกระบวนการสันติภาพที่ประเทศมาเลเซีย เป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจในการสั่งการและไม่มีกองกำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่า เข้าใจว่าไม่ใช่กลุ่มคนที่มีบทบาทในการสั่งการในพื้นที่แล้ว แต่ตนเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลหวังขณะนี้คือขอความร่วมมือจากทางการอินโดนีเซียและมาเลเซียเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คาดหวังจะให้เป็นการเริ่มให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวอื่นๆ เข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยเพิ่ม แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยจะเชื่อบนพื้นฐานนั้นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งรัฐบาลควรชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย ส่วนการเจรจาลงนามของรัฐบาลไทยที่ทำไปแล้วนั้นก็จะเป็นปัญหาเชิงนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อฝ่ายปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ดังนั้น ตนและนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ จึงได้บอกไปยัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่ได้เชิญเราให้ไปร่วมเจรจากับตัวแทนในพื้นที่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหากรัฐบาลนี้จริงจังในการหารือเรื่องสันติภาพก็จะมีเงื่อนไขต่างๆ มากมายตามมาว่าจะปฏิบัติกันอย่างไรเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองยังไม่มีความชัดเจนใดๆ

เมื่อถามว่า ล่าสุดทาง สมช.ได้ประกาศขยายเวลาในการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ออกไปอีก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าหากยังไม่มีการประเมินพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะสามารถยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อไปใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทนก็คงจะใช้การต่อเวลาไปเรื่อยๆ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังจะเจรจาเพื่อขอหารือกับแกนนำที่ควบคุมขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทยในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มอีก ตนเห็นว่าวิธีการที่ พ.ต.ท.ทักษิณคาดหวังและใช้อยู่เป็นวิธีการบนพื้นฐานความคิดแบบอำนาจนิยม โดยคิดว่าทางการของประเทศเหล่านั้นจะสามารถทำหรือมีอำนาจในการดึงแกนนำต่างๆ เข้ามาพูดคุยได้ ก็เป็นความเชื่อส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และตนเคยได้เตือนแต่แรกแล้วว่า ความเชื่อเช่นนี้หากทำโดยขาดความละเอียดอ่อนก็จะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วและมีความเชื่อมโยงกันมาตลอด ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไปหารือกับแกนนำที่มาเลเซียก่อนแล้วจากนั้น เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามมา ซึ่งที่ผ่านมานายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ออกมาปฏิเสธโดยตลอดว่าไม่มีการเจรจาตกลงหรือต่อรองใดๆ แต่พอมาวันนี้กลับออกมายอมรับว่าไปหารือกันจริง ฉะนั้น บทเรียนที่ จ.ยะลา และโรงแรมลีการ์เดนส์ ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ต้องมีสำหรับคนที่ทำงานตามแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงใยว่ารัฐบาลควรจะทบทวนหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลคงจะเดินหน้าต่อ แต่ควรจะต้องรัดกุมกว่าที่เป็นอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น