xs
xsm
sm
md
lg

อัยการเตรียมส่งฟ้อง “จิตตนาถ-ไทยเดย์ฯ” ใช้ ASTV กระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTVผู้จัดการ – อัยการสูงสุดไม่เลิกเป็นทาสแม้วคุกคามเอเอสทีวี รับลูก “กรมกร๊วก” เตรียมส่งฟ้อง บ.ไทยเดย์ฯ-กรรมการ ต่อศาล ข้อหาตั้งสถานีโทรทัศน์เผยแพร่ข่าวสาร-ข้อมูล โดยไม่ได้รับอนุญาต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากคดีที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยนายอานนท์ ลอยกุลนันท์ ผู้รับมอบอำนาจ ผู้กล่าวหา กับนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายพชร สมุทวณิช นายขุนทอง ลอเสรีวานิช นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตและออกอากาศรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ผ่านโทรทัศน์ระบบดาวเทียมเอเอสทีวี ผู้ต้องหาที่ 1-4 และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคล ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 5 ในความผิดร่วมกันดำเนินกิจการให้บริการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามความผิด พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ในวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค.) อัยการได้มีคำสั่งให้นำคดีดังกล่าวส่งฟ้องต่อศาล

ในเวลา 10.00 น.ของวันพรุ่งนี้ เนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ส่งฟ้องคดีต่อศาล ทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย จะต้องเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายคดีอาญา 7 (รัชดาภิเษก)

สำหรับคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จากสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 เนื่องจากเปิดโปงและต่อต้านความฉ้อฉลของ “ระบอบทักษิณ” ทำให้นายสนธิต้องหันมาใช้เอเอสทีวีเพื่อเผยแพร่ความรู้กับให้กับประชาชน จนต่อมากรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวหาว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2548 ถึงปี 2549 นายจิตตนาถ ในฐานะกรรมการบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ได้ร่วมกันตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี และดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

สำหรับคดีนี้ถือเป็นความพยายามของกรมประชาสัมพันธ์ที่จะดำเนินคดีกับเอเอสทีวี และก่อนหน้านี้ ได้เสนอศาลขอหมายค้น แต่หลังจากศาลพิจารณาแล้วไม่อนุมัติหมายค้น โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้ศาลปกครองยังมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจึงไม่สามารถออกหมายค้นได้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2549 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองเสรีภาพประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร สั่งศาลปกครองชั้นต้นรับคำร้องผู้รับชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ผ่านอินเทอร์เน็ต-เอเอสทีวี เป็นผู้ฟ้องคดีร่วมกับ “สนธิ” และบริษัท ไทยเดย์ ขณะเดียวกันไม่รับคำอุทธรณ์ของกรมประชาสัมพันธ์ที่ขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เอเอสทีวีออกอากาศ


ผู้บริหาร บ.ไทยเดย์ฯ และทนายความ ครั้งเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตั้งแต่ปี 2549 (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น