xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา” เผ่นนอกหนีคุก 12 ปี เดินตามรอย นช. “แม้ว-วัฒนา”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


โดยผู้กองตั้ง

ปิดฉากอีกหนึ่งคดี กรณีนักการเมืองทุจริตโกงจัดซื้อรถเรือดับเพลิงมูลค่า 6,687,489,000 บาท มหากาพย์โกงกินชาติบ้านเมืองนานนับสิบปี เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 12 ปี และ 10 ปีตามลำดับ โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542

คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด หรือ STEYR-DAIMLER-PUCH Spezial fahrzeug AG&CO KG (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-6

โดย ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า การกระทำของ นายโภคิน นายประชา นายวัฒนา พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นการกระทำที่ไม่ให้โอกาสผู้อื่นเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้บริษัท STEYR ได้เข้าร่วมในโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ตามกฎหมาย ให้แก่ บริษัท STEYR มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตาม พ.ศ.2542 มาตรา 7, 11, 12, 13 ส่วนบริษัท STEYR เนื่องจากไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือในการที่เจ้าพนักงานกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐฯ มาตรา 7, 11, 12, 13 และนายอภิรักษ์ ได้ดำเนินการเปิดแอลซี และแก้ไขแอลซีให้แก่บริษัท STEYR และแก้ไขเพิ่มเติมในเนื้อหาอื่นอีกหลายรายการ ทำให้บริษัท STEYR ได้รับประโยชน์จากการเปิดแอลซีที่เกิดจากการทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักสุจริตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 และการแก้ไขดังกล่าวทำให้นายโภคิน กับพวกที่ได้กระทำไปแล้วในตอนแรก ยังไม่ได้ปรากฏเป็นมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงิน แต่โดยผลของการเปิดแอลซีดังกล่าว ทำให้ กทม. ต้องจ่ายงบประมาณไปแล้ว จำนวน 2,354 ล้านบาท โดยไม่ได้สินค้าตามวัตถุประสงค์ของการจัดหาพัสดุแต่อย่างใด การกระทำของนายอภิรักษ์ จึงมีมูลตามความผิดมาตรา 157

โดยศาลพิเคาระห์ว่า จำเลยที่ 2 ถูกขอให้ช่วยเหลือผลักดันโครงการหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ซื้อสินค้าก็คงไม่เดินทางไปดูงานที่ประเทศออสเตรีย แม้จำเลยจะปฏิเสธแต่ก็จำนนต่อหลักฐาน ซึ่งเป็นรูปหมู่ และตารางการบิน โดยเฉพาะผู้แทนจำเลยที่ 5 มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่มาศาลหลายหน และเมื่อมาเบิกความก็ให้การกลับไปกลับมา จนทนายความโจทก์ต้องนำหลักฐานมาให้ดูเพื่อถามซักค้านแต่ก็ยังเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าได้รับเชิญจากจำเลยที่ 5 ให้เดินทางไปที่ออสเตรียเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อส่อพิรุธให้เชื่อมากขึ้น ประกอบกับเมื่อกลับมาจำเลยที่ 4 ได้ทำหนังสือบันทึกจัดทำโครงการเสนอจำเลยที่ 2 แต่บันทึกดังกล่าวไม่ตรงตามหลักการทำให้ที่ปรึกษา จำเลยที่ 2 ต้องยกร่างใหม่ขึ้นมาแทน และจำเลยที่ 4 นำมาปรับแก้วันที่ใหม่ เชื่อว่าการยกร่างบันทึกฉบับใหม่ของที่ปรึกษาจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำเองหากจำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่งการ ดังนั้นนอกจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็เกี่ยวข้องกับโครงการตั้งแต่แรก โดยจำเลยที่ 2 พร้อมพวกได้ร่วมกันเขียนโครงการเจือสมกับที่ นายสมัคร เคยกล่าวขอก่อหนี้ผู้พันในสภา กทม. พยานที่วินิจฉัยมามีเหตุโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ร่างบันทึกที่ปรึกษาจำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นสอดคล้องเป็นไปตามที่จำเลยที่ 5 เสนอราคา ไม่ใช่เกิดจากความจำเป็นแท้จริงของ กทม. ยิ่งไปกว่านั้นข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า เมื่อจำเลยที่ 6 มีหนังสือให้กระทรวงมหาดไทย ทบทวนโครงการ แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งรักษาการแทน รมว.มหาดไทยในขณะนั้น มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 6 จำนวน 2 ฉบับ โดยอ้าง AOU และเร่งให้เปิดแอลซีทันที พฤติการณ์เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก โดยเร่งรัดผลักดันให้จำเลยที่ 6 เปิดแอลซีจนนำไปสู่การซื้อสินค้าไม่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5

องค์คณะฯ จึงมีมติเสียงข้างมากพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และมีความผิดตาม พ.ร.บ. การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 13 และมาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และมีความผิดตาม พ.ร.บ. การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 12 การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท แต่ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก นายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี และให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4

ส่วนนายโภคิน จำเลยที่ 1 นายวัฒนา จำเลยที่ 3 และ นายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้ยกฟ้อง

ทั้งนี้ ศาลยังได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับ นายประชา จำเลยที่ 2 เพื่อติดตามตัวมาบังคับคดีรับโทษ และให้ออกหมายจับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 ที่วันนี้ไม่ได้มาศาลฟังคำพิพากษา โดยให้ติดตามตัวมารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 09.30 น. พร้อมปรับนายประกัน 2,000,000 บาท

สำหรับนายประชา ก่อนหน้านี้เคยไม่เดินทางมาศาลมารับฟังคำพิพากษาแล้วหนึ่งครั้งศาลจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษามาหนึ่งเดือน และในครั้งนี้ก็ยังไม่มา ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง และให้ออกหมายจับนำตัวมารับโทษดังกล่าวต่อไป

หลังรับทราบคำพิพากษา ศาสตราจารย์ สิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับนายประชา เพราะตามกฎหมาย นายประชา ซึ่งเป็นจำเลยที่ได้รับการประกันตัว ต้องมาแสดงตัวต่อศาลเมื่อถึงวันที่ศาลนัด แต่ปรากฏว่า นายประชา ไม่ได้เดินทางมาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษา โดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับเพื่อให้นำตัวมาฟังคำพิพากษา

“เมื่อมีการออกหมายจับ หมายจับของศาลจะส่งไปที่ ผบ.ตร. จากนั้นตำรวจก็จะส่งหมายจับไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่ง และส่งไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ แต่หมายจับของศาล ตำรวจไทยจะใช้จับได้ในกรณีที่จำเลยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น หากจำเลยหนีไปต่างประเทศ ตำรวจต้องประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศ ติดต่อไปยังตำรวจสากลเพื่อติดตามจับตัวมาให้ ทราบมาว่าก่อนหน้านี้ คุณประชา ได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปฮ่องกง และมาเก๊า โดยแจ้งวันเดินทางว่าเป็นวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา และบอกศาลว่าจะกลับมาทันฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 6 ส.ค ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษา คุณประชา กลับไม่มาตามนัด ศาลจึงเห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา สำหรับผมเชื่อว่าคุณประชา ป่านนี้ คงไปอยู่ที่สหรัฐฯ หรือยุโรปแล้ว และผมไม่เชื่อว่าจะตามจับตัวคุณประชา มาได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายกรณีจำเลยหนีหมายจับมีอายุความในการตามจับตัวเป็นเวลา 10 ปี”

ย้อนรอยคดีนี้ต้องเริ่มกันตั้งแต่ปี 2547 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้เซ็นลงนามซื้อขายเรือและรถดับเพลิง เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2547 โดยการลงนามในสัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น นายสมัคร ซึ่งรักษาการผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงรอเลือกตั้งหาผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ วันสุดท้ายของการรักษาการก่อนที่อีก 2 วันต่อมา คือ ในวันที่ 29 ส.ค.2547 จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ส่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงเห็นว่ามีความผิดปกติในการเร่งลงนามสัญญา

ต่อมา นายอภิรักษ์ ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ตัดสินใจเปิดแอลซีตามที่ได้ลงนามสัญญาไว้กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด และหลังจากเปิดแอลซีไปแล้วพบว่า สัญญาดังกล่าวเอกชนมีความได้เปรียบในหลายประการ จึงได้แก้แอลซีใหม่ โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ กทม.เพิ่มเติม เช่น การให้บริษัทจัดอบรมและศึกษาดูงานแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดับเพลิงของ กทม. ทั้งในและต่างประเทศ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาสัญญาที่เสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม หลังจากการออกมาแฉสัญญาที่ไม่ชอบมาพากล ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรัฐบาล อย่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล กทม. และผู้บริหาร กทม. ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาโดยตรง ต่างก็ออกมาสาดโคลนทางการเมืองใส่กันว่าใครกันแน่เป็นคนทำผิด หรือตั้งใจจะทุจริต โดยทาง กทม.ก็อ้างเหตุผลที่ว่า มท.ในฐานะกำกับดูแลไปทำสัญญาในระดับประเทศมาแล้ว จึงเร่งให้ กทม.ลงนามเปิดแอลซีเพื่อสัญญาซื้อขายมีผลสมบูรณ์ จะได้ไม่เป็นปัญหากับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่สัญญา ส่วน มท.ก็อ้างว่า ถ้า กทม.เห็นว่าสัญญาผิดก็ไม่ควรยอมรับด้วยการเปิดแอลซี และยกเลิกไป โครงการก็จะไม่เดินหน้า จึงเสมือนเป็นการโยนความรับผิดชอบกันไปมา เมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องมาดำเนินการจึงมีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ชี้มูล มีผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 7 คน คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช.ตั้งทนายฟ้องเอง กระทั่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2554 ศาลฎีกาได้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา

ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของ นายประชา และ พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ซึ่งถูกศาลฎีกาฯ จำคุกในคดีทุจริตว่า ก่อนที่จะดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน ปปง.ต้องขอคัดคำพิพากษาจากศาลฎีกาว่า มีรายละเอียด และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้อย่างไร และมีคำพิพากษาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตหรือไม่ หากมีรายละเอียดชัดเจนจะเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมปปง.พิจารณาเพื่อมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ของนายประชา และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนจำเลยคนอื่นๆ รวมถึงนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเข้าไปเกี่ยวพันในฐานะอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะถูกดำเนินการทางทรัพย์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคำพิพากษา หากศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดก็คงเข้าไปดำเนินการใดๆ ไม่ได้

สำหรับคดีนี้ไม่ทราบว่า ป.ป.ช. ได้ไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งจะเข้าข่ายยึดทรัพย์ได้ ตามมาตรา 79 อย่างกรณีคดี นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ ป.ป.ช.มีอำนาจดำเนินการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย แต่หากเป็นสำนวนคดีอาญาอย่างเดียว ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินที่มาจากการกระทำผิด ทั้งนี้ คดีทุจริตมีความยุ่งยากที่ไม่ใช่ความผิดในตัวเอง อย่างคดีฆ่าคนตาย หรือคดีฉ้อโกงประชาชน แต่คดีทุจริตต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนจึงจะดำเนินการได้ อย่างไรตาม จากนี้ ปปง.ก็จะเร่งประสานกับสถาบันการเงินทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินนายประชาและนายอธิลักษณ์ ก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณา

ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของ นายประชา ที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. เมื่อครั้งพ้นตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 19 ก.ย.50 พบว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 620,261,649.22 บาท

รายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ประกอบด้วย เงินฝาก 218,108,123.77 บาท เงินลงทุน 21 รายการ มูลค่า 148,682,070 บาท ในจำนวนเงินลงทุน 21 รายการ มากที่สุดคือ บริษัท มาลีนนท์ ทาวเวอร์ จำกัด 1,000,000 หุ้น มูลค่า 100 ล้านบาท เงินให้กู้ยืมบริษัทเธียรราชาการก่อสร้าง จำกัด มูลค่า 24 ล้านบาท ที่ดิน 82 แปลง มูลค่า 154,905,333 บาท บ้าน 1 หลัง มูลค่า 50 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 4 ห้อง มูลค่า 6,825,342 บาท รถยนต์ 2 คัน มูลค่า 11,172,100 บาท ทรัพย์สินอื่น 10,290,775 บาท

ขณะที่ นางแพตตรีเซีย แมรี่ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 55,950,993.79 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 11,671,052.90 บาท เงินลงทุนบริษัทจดทะเบียน 3 บริษัท มูลค่า 9,916,250 บาท หลักทรัพย์จดทะเบียน 25 รายการ มูลค่า 19,963,690.89 บาท ทรัพย์สินอื่น 14,400,000 บาท ไม่มีหนี้สิน รวม 2 คน มีทรัพย์สิน 676,212,643.01 บาท

ถือเป็นความพยามที่ดี เมื่อ ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินที่มาจากการกระทำผิด ของนายประชา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แต่ก็มีเหตุผลซ่อนเงื่อนอยู่ในตัวเอง เนื่องจากคดีทุจริตมีความยุ่งยากที่ไม่ใช่ความผิดในตัวเอง อย่างคดีฆ่าคนตาย หรือคดีฉ้อโกงประชาชน แต่จะเร่งประสานกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณา

การจะดำเนินการยึดทรัพย์นักการเมืองที่กระทำผิดด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชันอาจจะเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม เพราะจากอดีตถึงปัจุบัน ตั้งแต่ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ หรือกรณี นายวัฒนา อัศวเหม ที่ถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปี คดีทุจริตซื้อที่ดินคลองด่าน มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถแกะรอยตามยึดทรัพย์มาได้แม้แต่รายเดียว

และเป็นที่น่าเชื่อว่า รัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศ คงไม่มีศักยภาพไปไล่จับ นายประชา มารับโทษตามคำพิพากษา จะเป็นเพราะความจงใจ หรือเลินเล่อก็ตามที สุดท้ายนายประชา ก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างแดน เดินตามรอย “นช.แม้ว-นช.วัฒนา” อีกหนึ่งคดี

แต่คำถามมีอยู่ว่า ... นักการเมืองที่กระทำผิดเหล่านี้รับทราบคำพิพากษาล่วงหน้าได้อย่างไร จึงหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนล่วงหน้า โดยจงใจที่จะไม่เดินทางมารับฟังคำพิพากษา หรือจะมีเงื่อนงำความไม่ชอบมาพากลอะไรบางอย่างในวงการตุลาการ? เพราะสังคมได้ตั้งแง่สงสัยตามจำนวนคดีที่ไม่สามารถเอาตัวนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันมารับโทษได้

กำลังโหลดความคิดเห็น