xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา”เผ่นนอก! ศาลสั่งจำคุก 12 ปีทุจริตซื้อรถ-เรือดับเพลิง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตรถและเรือดับเพลิง กทม. ชี้"ประชา มาลีนนท์ - พล.ต.ต.อธิลักษณ์” ทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว จำคุก 12 ปี และ 10 ปี ตามลำดีบ ไม่รอลงอาญาทั้งสองคน ส่วน“โภคิน-วัฒนา-อภิรักษ์”และจำเลยที่เกี่ยวข้องรอดคุกหลักฐานไม่พอว่าทำผิดศาลยกฟ้อง ล่าสุดมีรายงาน"ประชา"หนีไปยุโรปแล้ว


วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 11.30 น. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังค์อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.5/2554 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย , นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ , พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. , บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด หรือ STEYR-DAIMLER-PUCH Spezial fahrzeug AG&CO KG (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม.มูลค่า 6,687,489,000 บาท

โดย ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า การกระทำของนายโภคิน นายประชา นายวัฒนา พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นการกระทำที่ไม่ให้โอกาสผู้อื่นเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้บริษัท STEYR ได้เข้าร่วมในโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่ไม่ควรได้ตามกฎหมาย ให้กับ บริษัท STEYR มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตาม พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ,11 ,12 ,13 ส่วนบริษัท STEYR เนื่องจากไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือในการที่เจ้าพนักงานกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ของรัฐ ฯ มาตรา 7 ,11 ,12,13 และนายอภิรักษ์ ได้ดำเนินการเปิดแอลซี และแก้ไขแอลซีให้กับบริษัท STEYR และแก้ไขเพิ่มเติมในเนื้อหาอื่นอีกหลายรายการทำให้ บริษัท STEYR ได้รับประโยชน์จากการเปิดแอลซีที่เกิดจากการทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักสุจริตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และการแก้ไขดังกล่าวทำให้นายโภคิน กับพวกที่ได้กระทำไปแล้วในตอนแรก ยังไม่ได้ปรากฏเป็นมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงิน แต่โดยผลของการเปิดแอลซีดังกล่าวทำให้ กทม. ต้องจ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวน 2,354 ล้านบาท โดยไม่ได้สินค้าตามวัตถุประสงค์ของการจัดหาพัสดุแต่อย่างใด การกระทำของอภิรักษ์ จึงมีมูลตามความผิดมาตรา 157

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคำฟ้องโจทก์ในส่วนที่ 6 คุมเครือ เนื่องจากไม่ระบุรายละเอียดวันเวลาและพฤติการณ์ และในชั้นไต่สวนจำเลยที่ 6 ไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง องค์คณะมีมติเอกฉันท์ 9 เสียงเห็นว่าป.ป.ช.ได้รับสำนวนการตรวจสอบคดีนี้หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.พ้นวาระเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.51 โดยคตส.ก็มีอำนาจการตรวจสอบหน่วยงานรัฐและบุคคลใดๆ ที่น่าจะมีพฤติการณ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ปี 2549 โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะเป็นบุคคลกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ให้อำนาจป.ป.ช.ที่จะตรวจสอบการทุจริตเรื่องที่คิดว่าน่าจะมีการทุจริต ขณะที่ได้ความว่าในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของคตส.ก็ได้แจ้งให้จำเลยที่ 6 มารับทราบข้อกล่าวหา และจำเลยที่ 6 ก็มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่ออนุกรรมการถึง 2 ครั้ง กระทั่งเมื่อมีการส่งมอบสำนวนต่อให้ป.ป.ช. ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องคดีนี้และฟ้องโจทก์ได้ระบุรายละเอียดพฤติการณ์เพียงพอที่จำเลยจำเข้าใจและแก้ข้อกล่าวหา

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การการะทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยก่อนว่าการจัดซื้อสินค้าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ซื้อสินค้าต่างตอบแทนกันระหว่าง 2 ประเทศ และจัดซื้อในราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย เมื่อประมาณเดือนมิ.ย. 46 เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยได้เสนอให้มีการจัดซื้อสินค้าในลักษณะรัฐต่อรัฐ โดยมีการเสนอช่วยหาแหล่งทุนในการจัดซื้อให้ด้วย และให้มีการจัดซื้อสินค้าต่างตอบแทนระหว่าง 2 ประเทศในแบบเต็มจำนวนร้อยต่อร้อย โดยมีการเสนอให้ซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์รถและเรือดับเพลิงผ่านบริษัทสไตเออร์ จำเลยที่ 5 มูลค่า 156 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทย 6,687,489,000 บาท โดยให้มีการทำข้อตกลง AOU ที่มีภาระผูกพันระหว่างคู่สัญญา ขณะที่ได้ความจากพยานโจทก์ระบุว่า โครงการพัฒนาระบบฯ จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หลังจากที่ครม.มีมติแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ โดยกทม.ออกเองอีก 40 เปอร์เซ็นต์ จึงเท่ากับว่างบประมาณในโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามที่มีการเสนอไว้ว่าออสเตรียจะช่วยหาแหล่งทุน ขณะที่ลักษณะของการจัดซื้อสินค้าเกษตรลักษณะต่างตอบแทนตามข้อตกลง ก็กลับเป็นกรณีที่จำเลยที่ 5 ได้จ้างให้บริษัทซีพีเอ็ม จำกัด เป็นผู้แทนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรของไทย แต่ไม่ใช่การซื้อขายสินค้าการเกษตรนอกเหนือจากยอดปกติที่บริษัทส่งออก โดยเรื่องนี้ได้ความจากกรรมการบริหารบริษัทซีพีเอ็มฯ พยานเบิกความยอมรับว่าในการส่งออกสินค้าไก่ต้มสุกในทางบัญชีไม่สามารถแยกแยะได้ว่ายอดไก่ต้มสุกที่บริษัทส่งออกกับยอดที่จำเลยที่ 5 ให้ดำเนินการตามเงื่อนไขต่างตอบแทนเป็นจำนวนแตกต่างกันมากน้อยเท่าใด


ขณะที่ราคารถและเรือดับเพลิงเมื่อเทียบเคียงกับที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กระทรวงมหาดไทย ได้เคยจัดซื้อสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ใช้งานอย่างเดียวกัน โดยมีผู้ผลิตในประเทศจะพบว่าราคารถและเรือดับเพลิงที่กทม.ดำเนินโครงการครั้งนี้ด้วยวิธีพิเศษราคาสูงกว่า เช่น รถดับเพลิงมีบันไดสูง 18 เมตร จำนวน 9 คัน กทม.ซื้อในราคาแพงกว่าคิดเป็นเงิน 154 ล้านบาท รถดับเพลิงที่บรรทุกน้ำ จำนวน 144 คัน กทม.ซื้อแพงกว่า 2,225 ล้านบาท รถส่องสว่าง 4 คัน กทม.ซื้อแพงกว่า 71 ล้านบาท รถบรรทุกเคมีดับเพลิง จำนวน 7 คัน กทม.ซื้อแพงกว่า 396 ล้านบาท เรือดับเพลิงซึ่งบริษัทสไตเออร์ไม่ได้ผลิต แต่ได้ว่าจ้างบริษัทอื่นในยุโรปผลิตและประกอบขาย จำนวน 30 ลำ กทม.ซื้อแพงกว่า 334 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าที่เสนอผ่านเอกชนสเปนมาไทย ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพเช่นเดียวกันมีเงื่อนไขปลอกการชำระ 24 เดือน แต่มีราคาต่ำกว่า 2,090 ล้านบาท ขณะที่เมื่อพยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้เปรียบเทียบราคาตามมาตรฐานก็พบว่าเมื่อมีการพิจารณาราคาโดยรวมทั้งหมดแล้วจำเลยที่ 5 ได้ผลประโยชน์ 2,192 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48.77 เปอร์เซ็นต์ แม้สินค้าที่มีราคาแพงกว่าจำเลยจะอ้างว่าสินค้าผู้ผลิตต่างรายไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ แต่การจัดซื้อต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะสินค้าคดีนี้ที่เป็นรถและเรือดับเพลิงซึ่งมีมาตรฐานสากลและเป็นสินค้าที่มีคุณลักษณะเฉพาะ แม้จะมาจากผู้ผลิตต่างรายกันแต่ย่อมสามารถเปรียบเทียบราคากันได้ พยานหลักฐานชอบด้วยเหตุผลรถและเรือที่กทม.ซื้อจากจำเลยที่ 5 สูงเกินจริงไม่สมเหตุผลและซื้อแพงกว่าท้องตลาดมาก แม้ก่อนหน้านี้ในการตกลงที่จะให้ซื้อสินค้าจากออสเตรียจะอ้างว่าเป็นการช่วยรัฐบาลไทย แต่ทางปภ.สามารถประกวดราคาในการจัดซื้อจากผู้ผลิตที่จำหน่ายในประเทศได้ต่ำกว่ามาก และข้อบัญญัติของกทม.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2538 มีเนื้อหาสำคัญว่า หากจะมีการจัดซื้อโดยงดเว้นหลักเกณฑ์ด้วยวิธีพิเศษก็ต้องมีความจำเป็นในการจัดซื้อโดยเร่งด่วน แต่กรณีนี้ได้ความจากพยานว่าสามารถที่จะซื้อได้ด้วยวิธีปกติ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นการจัดซื้อที่มีความพยายามกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการรัฐต่อรัฐ จนนำไปสู่การทำ AOU ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเพื่อซื้อสินค้าของจำเลยที่ 5 เท่านั้น และการจัดซื้อสินค้าด้วยวิธีพิเศษเป็นการเอื้อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5 ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการกีดกั้นการเสนอราคาย่างเป็นธรรม

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1-4 และ6 กระทำผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้จากพยานซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการของนายประชา จำเลยที่ 2 ว่า ก่อนที่จะมีการเริ่มโครงการ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 ได้พาผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 5 เข้าพบนายประชา จำเลยที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย กำกับดูแลกทม. เพื่อผลักดันให้มีการเสนอโครงการพัฒนาระบบฯ แต่พยานคัดค้านโดยขอให้มีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่จากกองบังคับการตำรวจดับเพลิงมาเป็นสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกทม.เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนที่จะกำหนดให้มีการซื้อสินค้าการเกษตรของไทยในลักษณะต่างตอบแทน ก็เพื่อเป็นการระบายสินค้าโอท๊อปที่จำเลยที่ 2 ดูแลอยู่ ซึ่งยังมีสินค้าค้างสต๊อกอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันจำเลยที่ 5 ได้ติดต่อบริษัทซีพีเอ็มฯ ให้เป็นผู้แทนดำเนินการค้าต่างตอบแทน ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่าจำเลยที่ 4 ติดต่อกับจำเลยที่ 5 ขณะรับราชการภารกิจในกองบังคับการตำรวจดับเพลิง และพยายามผลักดันภารกิจนี้โดยพาไปพบจำเลยที่ 2 ให้ช่วยผลักดัน เมื่อโอนย้ายอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 4 มาที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ได้เกี่ยวข้องกับโครงการมาตลอด โดยครั้งแรกจำเลยที่ 4 ทำรายงานบันทึกถึงจำเลยที่ 2 เพื่อเสนอครม.อนุมัติโครงการ แต่ปรากฏว่าในบันทึกยังขาดรายละเอียดทั้งเชิงวิชาการและการวิเคราะห์ จำเลยที่ 2 จึงให้นำกลับไปแก้ใหม่ ขณะเดียวกันให้พยานยกร่างด้วยลายมือและจำเลยที่ 4 นำไปปรับแก้ไข โดยแก้วันที่ย้อนหลัง โดยไม่คำนึงถึงระเบียบงานสารบัญ การกระทำของจำเลยที่ 4 ที่ลุกลี้ลุกล้นแก้ไขวันที่ ไม่ทำตามกฎระเบียบราชการ จึงเชื่อว่าเพื่อต้องการเร่งนำเสนอครม.ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และก่อนที่นายสมัคร สุนทรเวช จะหมดวาระในตำแหน่งผู้ว่ากทม. ยิ่งไปกว่านั้นพบว่ารายการสินค้ารถและเรือดับเพลิงราคาต่อหน่วยในใบเสนอราคา ยังเท่ากับราคาที่จำเลยที่ 5 เสนอให้กับนายวันมูหะหมัดไปก่อนล่วงหน้าแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเสนอโครงการไม่ใช่เกิดจากความจำเป็นของกทม.แต่เป็นการเสนอตามความต้องการของจำเลยที่ 5 ที่จะขายสินค้า ซึ่งในจำนวนและรายการสินค้ามีการตกลงกันไว้แต่แรกแล้ว ไม่ได้เพิ่งมีขึ้นมาภายหลังจากการลงนามข้อตกลง AOU เพราะเป็นการปฏิบัติด้วยขั้นตอนที่รวบรัดไม่ชอบด้วยระเบียบราชการ อีกทั้งจำเลยที่ 4 ยังไม่ปฏิบัติตามมติครม. และไม่ส่งเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาก่อนที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างเห็นว่าจำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์ลุกลี้ลุกร้นเร่งรัดไม่ทำตามกฎระเบียบราชการที่ต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศก่อนลงนามเซ็นสัญญา และไม่ได้เสนอให้บอร์ดกทม.พิจารณาก่อนการจัดซื้อเพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการ โดยอ้างว่านายสมัคร ผู้ว่ากทม.ขณะนั้นกำลังจะครบวาระแล้ว ไม่สามารถขอความเห็นได้ แต่ข้อเท็จจริงยังมีรองผู้ว่าฯ ปลัดกทม. และรองปลัดกทม.อีกที่มีอำนาจพิจารณาลงนามได้ และยังปรากฏว่านายสมัครได้อยู่รักษาการแทนผู้ว่ากทม.ถึงวันที่ 6 ก.ย. 47 ก่อนได้มอบงานให้กับนายอภิรักษ์ เป็นผู้ว่ากทม.คนใหม่

อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความจากพยานว่ากทม.มีอุปกรณ์ทดแทนอยู่แล้ว ขณะที่บุคลากรมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนรถดับเพลิงที่มีอยู่ด้วยซ้ำ และตามระเบียบจะต้องมีการฝึกฝนบุคลากรให้มีความพร้อม จึงไม่ใช่กรณีเหตุการจัดซื้ออย่างจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องขอยกเว้นหลักเกณฑ์ตามระเบียบการจัดซื้อปกติที่ต้องพิจารณาคุณภาพและราคาตามความเหมาะสม ประกอบกับจำเลยที่ 4 ในฐานะประธานบริหารโครงการพัฒนาระบบฯ และประธานคณะกรรมการจัดซื้อที่ได้รับแต่งตั้งโดยนายสมัครไม่เคยสืบราคาสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายใด ทั้งที่มีผู้ผลิตอีกหลายรายในประเทศ เพียงแต่ทำหนังสือที่อ้างว่าได้แจ้งต่อรองราคาให้จำเลยที่ 5 แต่ไม่ได้ต่อรองอย่างจริงจัง ทำเพียงเพื่อให้เห็นว่าต่อรองราคาแล้วเท่านั้น ทั้งที่ในขณะนั้นจำเลยที่ 5 ยังไม่ได้ทำบันทึกซื้อขาย แต่จำเลยที่ 4 กลับทำเรื่องเสนอซื้อเป็นการฝ่าฝืนประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่องการซื้อสินค้าต่างตอบแทน การไม่ทำตามประกาศกระทรวงย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 จงใจมุ่งหมายซื้อสินค้าให้ได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังขอถอนคืนร่างบันทึกที่มีการเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบไปแล้วกลับคืนมา โดยอ้างว่าก่อนหน้านี้เคยยื่นร่างบันทึกดังกล่าวไปแล้วซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน อีกทั้งจำเลยที่ 4 เร่งให้จำเลยที่ 2 เปิดแอลซี นอกจากนี้เมื่อนายอภิรักษ์ จำเลยที่6 เข้ารับตำแหน่ง ได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ขยายเวลาเปิดแอลซี แต่จำเลยที่ 4 นอกจากจะไม่กระทำตามแล้วยังมีหนังสือแจ้งไปที่ธนาคารกรุงไทยในการอนุมัติทำให้นายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6 ต้องทำหนังสือแจ้งกลับไปที่ธนาคารให้ระงับการอนุมัติวงเงินในวันเดียวกัน เห็นว่าจำเลยที่ 4 ผิดวิสัยข้าราชการ มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อตั้งแต่ต้น ซึ่งจำเลยที่ 4 ต้องบริหารโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการ แต่กลับมีการต่อรองราคาโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติ เร่งรัดรวบรัดไม่ผ่านมติครม.และบอร์ดกทม. ทำให้ได้ราคาแพงกว่าราคาตลาด โดยมีพิรุธและเอื้อประโยชน์ต่อจำเลยที่ 5 โดยมิชอบ ส่วนที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นปราศจากเหตุผลรับฟังไม่ได้

จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถูกขอให้ช่วยเหลือผลักดันโครงการหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ซื้อสินค้าก็คงไม่เดินทางไปดูงานที่ประเทศออสเตรีย แม้จำเลยจะปฏิเสธแต่ก็จำนนต่อหลักฐาน ซึ่งเป็นรูปหมู่ และตารางการบิน โดยเฉพาะผู้แทนจำเลยที่ 5 มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่มาศาลหลายหนและเมื่อมาเบิกความก็ให้การกลับไปกลับมา จนทนายความโจทก์ต้องนำหลักฐานมาให้ดูเพื่อถามซักค้านแต่ก็ยังเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าได้รับเชิญจาก จำเลยที่ 5 ให้เดินทางไปที่ออสเตรียเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อส่อพิรุธให้เชื่อมากขึ้น ประกอบกับ เมื่อกลับมาจำเลยที่ 4 ได้ทำหนังสือบันทึกจัดทำโครงการเสนอจำเลยที่ 2 แต่บันทึกดังกล่าว ไม่ตรงตามหลักการทำให้ที่ปรึกษา จำเลยที่ 2 ต้องยกร่างใหม่ ขึ้นมาแทน และจำเลยที่ 4 นำมาปรับแก้วันที่ใหม่ เชื่อว่าการยกร่างบันทึกฉบับใหม่ของที่ปรึกษาจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำเองหากจำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่งการ ดังนั้นนอกจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็เกี่ยวข้องกับโครงการตั้งแต่แรก โดยจำเลยที่ 2 พร้อมพวกได้ร่วมกันเขียนโครงการเจือสมกับที่ นายสมัคร เคยกล่าวขอก่อหนี้ผู้พันในสภา กทม. พยานที่วินิจฉัยมามีเหตุโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ร่างบันทึกที่ปรึกษาจำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นสอดคล้องเป็นไปตามที่จำเลยที่ 5 เสนอราคา ไม่ใช่เกิดจากความจำเป็นแท้จริงของ กทม. ยิ่งไปกว่านั้นข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า เมื่อจำเลยที่ 6 มีหนังสือให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนโครงการ แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งรักษาการแทน รมว.มหาดไทยในขณะนั้น มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 6 จำนวน 2 ฉบับ โดยอ้างAOU และเร่งให้เปิดแอลซี ทันที พฤติการณ์เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก โดยเร่งรัดผลักดันให้จำเลยที่ 6 เปิดแอลซีจนนำไปสู่การซื้อสินค้าไม่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5

ส่วนข้ออ้างจำเลยที่ 2 ที่ว่าไม่เคยสั่งให้ที่ปรึกษาของตนยกร่างบันทึก แต่เป็นการกระทำของที่ปรึกษาเอง เพราะมีความขัดแย้งกัน เห็นว่าข้ออ้างจำเลยที่ 2 รับฟังไม่ได้ เพราะพยานมีเหตุโกรธเคืองกับที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ขณะที่เคยสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่ไม่เคยปรากฏสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน อีกทั้งข้อเท็จจริงของที่ปรึกษาจำเลยที่ 2 ก็เป็นการใช้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ส่วนข้ออ้างว่าการจัดซื้อเป็นเรื่องของกทม. จำเลยที่ 2 ไม่มีความเกี่ยวข้อง แค่มีหน้าที่กำกับดูแลกทม.เท่านั้น เห็นว่า ถ้าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างจำเลยที่ 2 คงไม่มีเหตุผลที่จะไปดูงานต่างประเทศกับจำเลยที่ 4 และสั่งการเร่งรัดให้จำเลยที่ 6 เปิดแอลซีให้จำเลยที่ 5 ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้

ส่วนจำเลยที่ 1 แม้พยานหลักฐานไต่สวนปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในข้อตกลง AOU โดยเข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทยต่อจากนายวันมูหะมัดนอร์หลังจากที่มีการเสนอโครงการแล้ว ซึ่งขณะที่จำเลยที่ 4 นำผู้แทนจำเลยที่ 5 เข้าพบจำเลยที่ 2นั้น จำเลยที่ 1 ยังเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลเรื่องกฎหมาย ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติโครงการแต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่า กทม.เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบเนื้อหาโดยถูกต้องแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ลงนาม AOU โดยเชื่อว่ากทม.ได้ตรวจสอบเนื้อหาแล้ว ประกอบกับที่จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือตอบกลับจำเลยที่ 6 เมื่อเดือนพ.ย. 47 เรื่องที่เคยขอให้จำเลยที่ 1 ทบทวนโครงการว่า โครงการเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่ได้มีมติยับยั้ง แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่กทม.โดยจำเลยที่ 6 ด้องดำเนินการตรวจสอบ หากพบการทุจริตก็ให้แจ้งกระทรวงมหาดไทยพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่โจทก์ฟ้อง

สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นรมว.พาณิชย์ ก็ได้มีการทำข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน หลังจากที่มีการลงนามข้อตกลง AOU และได้มีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่จะเป็นหลักเกณฑ์ปฏิบัติแล้ว โดยที่จำเลยที่ 5 ได้จ้างให้บริษัทซีพีเอ็มฯ มาดำเนินการซื้อขายไก่ต้มสุกที่ส่งออกแทน แม้จะมีการอ้างว่าบริษัทซีพีเอ็มฯ เป็นเครือญาติกับจำเลยที่ 3 แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นด้วย ส่วนที่มีการนำไก่ต้มสุกเป็นสินค้าชนิดแรกที่ให้ขึ้นบัญชีส่งออกก็ได้ความว่า ที่ไม่สามารถนำส่งเป็นไก่สดแช่แข็งเนื่องจากขณะนั้นเกิดปัญหาไข้หวัดนกจึงต้องมีการแปรรูปเป็นไก่ต้มสุก ขณะที่การส่งออกสินค้าต่างตอบแทนได้มีการสำรวจและประกาศรายชื่อประเทศต้องห้ามส่งออกสินค้าไว้แล้ว แต่ในการตรวจสอบเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการ ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 3 ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เอื้อประโยชน์ให้กับจำเลยที่ 5 ความเสียหายในคดีนี้จึงไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และจำเลยที 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่โจทก์ฟ้อง

สำหรับจำเลยที่ 6 เห็นว่า แม้จะเป็นผู้สั่งให้ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งแทน จำเลยที่ 4 ที่เกษียณไป ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 2 ได้เคยระงับจำเลยที่4 ไปเปิดแอลซีหลังจากที่นายสมัคร ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไว้แล้ว จะครบ 30 วัน ตามข้อตกลง รวมทั้งได้ระงับให้จำเลยที่ 4 พ้นจากการดำเนินการดังกล่าว และได้มีการแต่งตั้งนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าฯกทม. ช่วงเกิดเหตุ เป็นประธานพิจารณารายละเอียดการจัดซื้ออีกครั้ง ซึ่งนายสามารถได้ต่อรองราคากับจำเลยที่ 5 ต่อรองราคากับประเภทอุปกรณ์และครุภัณฑ์เพื่อให้กทม.ได้ประโยชน์สูงสุดเพิ่มเติมเป็นเงิน 250 ล้านบาท นับได้ว่าจำเลยที่ 6 กระทำเต็มที่เพื่อประโยชน์แก่ กทม. ซึ่งหากการทำสัญญาทำโดยถูกต้องแล้วและจำเลยที่6 ไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงในการเปิดแอลซี จะทำให้กทม.ได้รับความเสียหาย รวมทั้งถูกจำเลยที่ 5 ฟ้องคดี ซึ่งจำเลยที่ 6 จะต้องรับผิดชอบ ส่วนที่ปรากฎว่าจำเลยที่ 6 ได้แก้ไขแอลซีนั้น ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขในรายละเอียดสาระสำคัญข้อเท็จจริง แต่เป็นการแก้ไขส่วนที่บกพร่องให้มีความสมบูรณ์ ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานยังไม่พอฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 6 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ กทม.หรือทุจริตแต่อย่างใด เชื่อว่าจำเลยที่ 6 กระทำไปบนพื้นฐานตามข้อเท็จจริงตามข้อมูลที่ปรากฏและใช้ดุลยพินิจโดยชอบแล้ว ไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำผิดเอื้อประโยชน์แต่อย่างใด

องค์คณะฯ จึงมีมติเสียงข้างมากพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และมีความผิดตามพ.ร.บ. การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 13 และมาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และมีความผิดตามพ.ร.บ. การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12 การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท แต่ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก นายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี และให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4

และองค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้ยกฟ้อง นายโภคิน จำเลยที่ 1 ,นายวัฒนา จำเลยที่ 3 และ นายอภิรักษ์ จำเลยที่ 6

ทั้งนี้ศาลยังได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับนายประชา จำเลยที่ 2 เพื่อติดตามตัวมาบังคับคดีรับโทษ และให้ออกหมายจับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 ที่วันนี้ไม่ได้มาศาลฟังคำพิพากษา โดยให้ติดตามตัวมารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 09.30 น. พร้อมปรับนายประกัน 2,000,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายประชา ก่อนหน้านี้เคยไม่เดินทางมาศาลมารับฟังคำพิพากษาแล้วหนึ่งครั้งศาลจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษามาหนึ่งเดือน และ ในครั้งนี้ก็ยังไม่มา ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง และให้ออกหมายจับนำตัวมารับโทษดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย จำเลยที่ 1 นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จำเลยที่ 6 แล้ว นาง ปฏิมา โกษะโยธิน ภรรยานายอภิรักษ์ ได้จับมือนายอภิรักษ์ สามี พร้อมกับร่ำไห้ด้วยความดีใจ

ขณะที่นายอภิรักษ์ อดีตผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตนยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นหลักสำคัญในประเทศไทย และขอขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงทุกฝ่ายที่ให้กำลังใจตนเองและครอบครัวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับทีมทนายความที่ได้ร่วมกันต่อสู้คดี ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคดีนี้จะเป็นที่ประจักษ์แก่พี่น้องประชาชนต่อไป

ด้านนายโภคิน อดีต รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ถ้าสังคมอยู่ได้ด้วยความยุติธรรมอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักนิติธรรม หลักความถูกต้องและควรที่จะให้อภัยกัน

เมื่อถามถึง อนาคตทางการเมือง นายโภคิน กล่าวว่า ตอนนี้ตนก็ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ หากมีอะไรก็พร้อมจะทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเวลา 10 .00 น. แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัดนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกศาลออกหมายจับไปก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถติดตามตัวมาศาลได้ ขณะที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ จำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้เดินทางมาศาลโดยไม่มีแจ้งเหตุผลให้ทราบ ทำให้ศาลรอจำเลยจนกระทั่งเวลา 11.30 น.จึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยใช้เวลาอ่านคำพิพากษาทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง ขณะที่วันนี้ นอกจากญาติ และทนายวามของจำเลยแล้ว ยังมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษา อาทิ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตโฆษก กทม. และรองผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่นายอภิรักษ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็เดินทางมาให้กำลังใจด้วย รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทย จนเต็มห้องพิจารณาคดีเกือบ 100 คน นอกจากนี้นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ก็ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาเช่นกัน ซึ่งคดีนี้ อัยการเคยมีความเห็นต่างกับ ป.ป.ช.ที่ให้ฟ้องจำเลยบางคน ขณะที่ ป.ป.ช. ยืนยันให้ฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน

ด้านศาสตราจารย์ สิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่มาฟังคำพิพากษาเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาว่า ที่ศาลฯต้องออกหมายจับนายประชา เพราะตามกฎหมายนายประชาซึ่งเป็นจำเลยที่ได้รับการประกันตัว ต้องมาแสดงตัวต่อศาลเมื่อถึงวันที่ศาลนัด แต่ปรากฏว่านายประชา ไม่ได้เดินทางมาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษา โดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับเพื่อให้นำตัวมาฟังคำพิพากษา

"เมื่อมีการออกหมายจับ หมายจับของศาลจะส่งไปที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากนั้นตำรวจก็จะส่งหมายจับไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งและส่งไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ แต่หมายจับของศาล ตำรวจไทยจะใช้จับได้ในกรณีที่จำเลยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นหากจำเลยหนีไปต่างประเทศ ตำรวจต้องประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อไปยังตำรวจสากลเพื่อติดตามจับตัวมาให้ ผมทราบมาว่าก่อนหน้านี้คุณประชา ได้ขออนุญาตศาลเดินทางไปฮ่องกงและมาเก๊า โดยแจ้งวันเดินทางว่าเป็นวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมาและบอกศาลว่าจะกลับมาทันฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 6 ส.ค ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษา คุณประชา กลับไม่มาตามนัด ศาลจึงเห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงปรับนายประกันของคุณประชา ตามสัญญาประกันเป็นเงิน 2 ล้านบาทและออกหมายจับมาครั้งหนึ่งแล้ว และออกหมายจับอีกครั้งในวันนี้ (10 ก.ย.)ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่สองซึ่งเลื่อนมาจากการนัดฟังคำพิพากษาครั้งก่อน

"สำหรับผมเชื่อว่าคุณประชา คงไม่มาฟังคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ป่านนี้ คงไปอยู่ที่สหรัฐฯหรือยุโรปแล้ว และผมไม่เชื่อว่าจะตามจับตัวคุณประชา มาได้ ทั้งนี้ตามกฎหมายกรณีจำเลยหนีหมายจับ มีอายุความในการตามจับตัวเป็นเวลา 10 ปี"

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นผู้ที่ทำคดีทุจริต รถ-เรือ ดับเพลิง ของ กทม. เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาสั่งจำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย จำคุก 12 ปี และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.จำคุก 10 ปี ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลยกฟ้อง ว่า เราทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ซึ่งเราเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอจึงส่งฟ้อง ส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแบบนี้ก็เป็นการวินิจฉัยของศาล โดยส่วนตัวยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของคำพิพากษาจึงไม่สามารถระบุได้ว่า มีเหตุสมควรหรือไม่ที่พิพากษาออกมาแบบนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนขั้นตอนของ ป.ป.ช.ตนพอใจทุกคดีที่ส่งฟ้อง เพราะเราทำอย่างเต็มที่ ส่วนภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาทาง ป.ป.ช.ก็จะรอดูผู้ที่หนีคดีโดนนำตัวมาลงโทษ







(แฟ้มภาพ) นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ที่ถูกศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ พร้อมยึดเงินประกันตัว 2 ล้านบาท
(แฟ้มภาพ)
(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น