xs
xsm
sm
md
lg

ขยายถนน…จนทางเท้า หายไป !! : ทำได้หรือ ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

หลายครั้ง...ที่ผมขับรถไปตามถนนสายต่างๆ แล้วสังเกตเห็นว่า... มีการขยายถนนบางสายให้รถวิ่งได้อย่างสะดวกสบาย แต่กลับเหลือพื้นที่ทางเท้าสำหรับให้คนเดินไม่มากนัก หรือบางกรณีแทบไม่เหลือพื้นที่ทางเท้าให้คนเดินเลย สุดขอบถนนก็เป็นพื้นดิน ทำให้ประชาชนต้องขึ้นมาเดินบนถนนที่รถวิ่งสัญจรไปมาซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ง่าย หลายท่านคงสงสัยว่าแท้จริงแล้วถนนสำหรับให้รถวิ่งกับทางเท้าที่ให้คนเดินนี้ มีความสำคัญเท่ากันหรือไม่ ? และการขยายถนนจนทางเท้าหายไปนั้นสามารถทำได้หรือ ? คดีนี้มีคำตอบครับ...
เทศบาลนครดาวเรืองได้จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจรถนนสายต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 24 สาย โดยทำการรื้อทางเท้า ตัดต้นไม้ รวมทั้งย้ายต้นไม้ที่ปลูกบนทางเท้าออกไปเพื่อขยายถนนให้กว้างขึ้นรวมทั้งทำเป็นที่จอดรถ จนไม่เหลือพื้นที่ทางเท้าสำหรับคนเดินหรือเหลือเพียงบางส่วนทั้งสองข้างทาง หรือเพียงข้างใดข้างหนึ่งของถนน ซึ่งมีความกว้างของทางเท้าข้างละไม่ถึง 1.50 เมตร
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 59 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านในละแวกดังกล่าวเห็นว่าการกระทำของเทศบาลนครดาวเรือง ทำให้ผู้ที่ต้องใช้ทางเท้าในการสัญจรได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันขัดต่อหลักความเสมอภาคและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนขัดต่อพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 และประกาศกรมโยธาธิการ เรื่องมาตรฐานและลักษณะของทางหลวงและงานทาง รวมทั้งกำหนดเขตทางหลวง ที่จอดรถ ระยะแนวต้นไม้ และเสาพาดสายเกี่ยวกับทางหลวงชนบทและทางหลวงเทศบาล พ.ศ. 2543 จึงนำเรื่องมาฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่เทศบาลนครดาวเรืองได้จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงและขยายผิวจราจรทั้ง 24 สาย โดยรื้อทางเท้าที่มีอยู่เดิมและตัดหรือย้ายต้นไม้ที่ปลูกบนทางเท้าออกไปเพื่อทำการขยายถนนและทำเป็นที่จอดรถ จนไม่เหลือพื้นที่ทางเท้าหรือเหลือเพียงบางส่วนซึ่งมีความกว้างของทางเท้าข้างละไม่ถึง 1.50 เมตร หรือมีพื้นที่ทางเท้าเพียงข้างใดข้างหนึ่งของฝั่งของถนนนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
กรณีนี้...ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้เทศบาลต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ...รวมทั้งจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ.. ซึ่งในการปฏิบัติงานของเทศบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเทศบาลด้วย
เทศบาลนครดาวเรืองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางสาธารณะที่อยู่ในเขตเมืองหรือในเขตชุมชนย่อมเป็นทางที่มีไว้บริการสำหรับประชาชนทุกคนไม่ว่าผู้นั้นจะสัญจรด้วยการเดิน หรือใช้รถจักรยาน หรือรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด อันพึงใช้ทางนั้นในการสัญจรได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าทางเท้าถือเป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณะที่ทำไว้ให้คนเดิน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า... ถนนที่เทศบาลนครดาวเรืองได้ทำการขยายนั้น ล้วนเป็นถนนที่เคยมีทางเท้าอยู่ทั้งสองข้างทางทั้งสิ้น การที่เทศบาลนครดาวเรือง (ผู้ถูกฟ้องคดี) จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจรโดยการรื้อทางเท้าที่มีอยู่เดิมออกไปทั้งหมดหรือบางส่วน จึงถือเป็นการตัดโอกาสประชาชนที่จะใช้ทางเท้าโดยสิ้นเชิง และย่อมทำให้ประชาชนต้องลงมาเดินบนพื้นผิวจราจรแทน ซึ่งไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน และหากการขยายผิวจราจรในย่านชุมชนของเทศบาลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อทำเป็นช่องทางจอดรถสองข้างทางดังที่อ้างมา ก็เป็นที่เห็นได้ว่าประชาชนจะต้องลงมาเดินบนผิวจราจรในช่องทางถัดไปแทน ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนดังที่กล่าวแล้ว ยังเป็นการกีดขวางการจราจรซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดหรือไม่คล่องตัวตามมาอีกด้วย
ประกอบกับอธิบดีกรมโยธาธิการได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำโครงการดังกล่าว ออกประกาศเรื่อง มาตรฐานและลักษณะของทางหลวงและงานทาง รวมทั้งกำหนดเขตทางหลวง ที่จอดรถ ระยะแนวต้นไม้ และเสาพาดสายเกี่ยวกับทางหลวงชนบทและทางหลวงเทศบาล พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดให้แบ่งทางหลวงเทศบาลออกเป็น 4 ชั้น โดยทางหลวงเทศบาลชั้นที่ 3 กำหนดให้ต้องประกอบด้วยลักษณะผิวจราจรเป็นลูกรัง หรือวัสดุอื่นที่ดีกว่า มีความกว้างผิวจราจรไม่น้อยกว่า 6 เมตร และมีทางเท้าหรือไหล่ทางทั้งสองข้าง กว้างข้างละไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
แม้เทศบาลนครดาวเรืองจะอ้างว่าถนนที่ทำการขยายทั้ง 24 โครงการนั้น ไม่ได้อยู่ในประเภททางหลวงเทศบาลตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 เนื่องจากมิได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงเทศบาลก็ตาม แต่เมื่อถนนที่เทศบาลนครดาวเรืองดำเนินการขยายผิวจราจรทั้ง 24 โครงการนั้น เป็นทางหลวงที่อยู่ในเขตของเทศบาลฯ จึงชอบที่จะต้องนำมาตรฐานและลักษณะของทางหลวง งานทาง และเขตทางหลวง มาตรฐานที่จอดรถ ระยะแนวต้นไม้และเสาพาดสาย ตามประกาศกรมโยธาธิการดังกล่าวมาประกอบในการพิจารณาขยายถนนทั้ง 24 โครงการโดยอนุโลม
เมื่อถนนทั้ง 24 โครงการ ล้วนแต่มีความกว้างผิวจราจรไม่น้อยกว่า 6 เมตร ซึ่งเทียบเคียงได้กับทางหลวงเทศบาลชั้นที่ 3 ดังนั้นการที่เทศบาลนครดาวเรืองรื้อทางเท้าที่มีอยู่เดิมออกไปทั้งหมด หรือเหลือไว้เพียงบางส่วนของสองข้างทาง หรือเพียงข้างใดข้างหนึ่งของถนน ซึ่งมีความกว้างของทางเท้าน้อยกว่าข้างละ 1.50 เมตร จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานและลักษณะของทางหลวงเทศบาลตามประกาศกรมโยธาธิการฯ
การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการคำนึงถึงแต่ความสะดวกของผู้ใช้รถเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้ทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้นกว่าเดิม และไม่ได้ทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนที่จะต้องใช้ทางเท้า ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานและลักษณะของทางหลวงเทศบาล กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่มีเหตุผลอย่างชัดแจ้ง อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และยังเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางเท้าซึ่งเป็นการบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอีกด้วย
สำหรับกรณีที่เทศบาลนครดาวเรืองอ้างผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ตอบแบบสอบถามแล้วเห็นว่าการปรับปรุงพื้นผิวจราจรจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนมากคำนึงถึงปัญหาจราจรโดยการใช้ยานพาหนะมากกว่าการเดินเท้า รวมทั้งประชาชนต้องการที่จอดรถและความคล่องตัวในการใช้ยานพาหนะที่สะดวกรวดเร็วมากกว่า เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยก็น่าจะมีผู้ฟ้องคดีมากกว่าจำนวนที่ฟ้องนี้ ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของบุคคลกลุ่มน้อย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้วนั้น
ประเด็นนี้ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาคำถามตามแบบสอบถามจะเห็นได้ว่า เป็นเพียงแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการจราจร การขยายผิวจราจรและการเพิ่มพื้นที่จอดรถเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร โดยมิได้มีการให้ข้อมูลหรือมีคำถามใดในแบบสอบถามที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการขยายถนนโดยรื้อทางเท้าออกไปทั้งหมดหรือคงเหลือไว้เพียงบางส่วน อันเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่พิพาททั้ง 24 โครงการ ข้อกล่าวอ้างของเทศบาลนครดาวเรืองจึงไม่อาจรับฟังได้
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เทศบาลนครดาวเรืองดำเนินการจัดให้มีทางเท้าในถนนที่มีการขยาย
ผิวจราจรทุกสายที่เคยมีทางเท้าอยู่เดิม โดยพิจารณาความกว้างของทางเดินเท้ารวมทั้งการปลูกต้นไม้บนทางเท้าดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ประโยชน์ของชุมชน และขนาดของถนนแต่ละโครงการ ซึ่งจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่าข้างละ 1.50 เมตร โดยอนุโลมให้ใช้มาตรฐานของประกาศกรมโยธาธิการฯ (อ.54/2553)
คดีนี้ถือว่าศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักการสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างหรือขยายถนนกับการกำหนดพื้นที่ทางเท้าสำหรับคนเดินไว้ โดยสรุปก็คือ ไม่ว่าทางรถวิ่งหรือทางคนเดิน กฎหมายให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะทางเท้าถือเป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณะ ดังนั้นในการดำเนินโครงการปรับปรุงหรือขยายถนนจึงต้องกำหนดให้มีพื้นที่ทางเท้าให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเองครับ !


ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น