ดีเอสไอจ่อหมายจับขบวนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 4 พันล้าน ล็อตแรกยืนยันมี ขรก.เอี่ยวคดีนี้ เผยกลโกงขบวนการนี้สำแดงเท็จเศษเหล็กโลละ 600 บาท จากราคาจริงโลละ 11 บาท
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 16 ก.ค.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานการประชุมเรื่องความคืบหน้าการดำเนินคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยมี นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีดีเอสไอ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการในการสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ร.ต.อ.สุวนีย์ แสวงผล รองเลขาฯสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นางลัดดาวัลย์ ภูมิวานิช รอง ผบ.สำนักคดีภาษีอากร และ นายชวลิต ก้อนทอง ผอ.ส่วนคดีภาษีอากร 3 โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 1 ชม.
นายธาริต กล่าวภายหลังการประชุมว่า สืบเนื่องจากกระทรวงการคลัง ได้มาร้องทุกข์ที่ดีเอสไอ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งมีพฤติการณ์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ในระหว่างรอบปี 2555-2556 มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีดังกล่าวทางดีเอสไอได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.56
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวนั้นมีการสำแดงต้นทุนเศษโลหะที่รับซื้อถึง กก.ละ 600 บาท แต่จากการตรวจสอบพบว่าเศษโลหะ กก.ละ 11 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ ดีเอสไอได้ดำเนินให้สั่งอายัดเงินในส่วนของนิติบุคคล 53 ราย บุคคลธรรมดา 50 ราย รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 4 ราย และนอกเหนือกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว อาจะมีญาติและยังมีผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งภายในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค.) ช่วงเที่ยง ดีเอสไอจะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับรองเลขา ปปง.เพื่อที่ให้รีบทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมและให้ส่งผลกลับมายังดีเอสไอ เพื่อแจ้งให้ทราบและเราจะสั่งอายัดเพิ่มเติมทุกราย โดยไม่มีการยกเว้น ยืนยันว่าทำการโดยโปร่งใส และตรงไปตรงมา ทั้งนี้จากการหารือของทั้ง 3 หน่วยงาน ภายในปลายสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้า จะขอศาลอนุมัติออกหมายจับกลุ่มตัวการใหญ่ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลที่ปรากฏชื่อใน 53 ราย ล้วนเป็นชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ทางดีเอสไอจะพิจารณากันตัวไว้เป็นพยาน โดยจะเน้นดำเนินคดีกับตัวจริงเป็นหลัก พร้อมกันนี้ จะได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบนิติบุคคล หรือบุคคลอื่นที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องด้วย
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติขอรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างเป็นทางการ ซี่งดีเอสไอจะได้รับรายชื่อภายในวันพรุ่งนี้ และดีเอสไอจะใช้อำนาจในการอายัดเงินเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และไม่ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่เหลืออีก 1 เดือนแน่นอน
นายธาริต กล่าวว่า จากการหารือกัน 3 หน่วยงาน ถือว่าการกระทำของกลุ่มดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาอีก โดยพบ 2 สาเหตุ คือ 1.ฉ้อโกงการทำเอกสารสิทธิเป็นเท็จของภาคเอกชนชัดเจนที่กระทำเป็นกลุ่ม โดยวางแผนอย่างแยบยลทุกมิติ และช่องทางฉ้อโกงเอาเงินของรัฐมาเป็นประโยชน์ของตนเองจำนวน 4,000 กว่าล้าน ส่วนภาครัฐเราพบ 3 มิตินั้น คือช่องว่างระเบียบข้อบังคับบางอย่าง ซึ่งจากการดำเนินคดีร่วมกัน 3 ฝ่าย เมื่อดำเนินการจัดการจบ ก็จะมีข้อเสนอเพื่อนำเสนอไปสู่การแก้ระเบียบข้อบังคับปิดช่องว่าง นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 หน่วยงาน คือ กรมศุลกากร กับกรมสรรพากร น่าจะมีปัญหาเรื่องช่องว่างประสานงานในเรื่องนี้ ซึ่งเห็นว่าจะต้องทำงานอย่างไร้รอยต่อ และเมื่อมีช่องว่างก็จะเกิดการช่องว่างการทุจริต ขณะที่ยืนยันได้ว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน
สำหรับจำนวนเงิน 4 พันล้านบาทนั้น อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า อยู่ระหว่างร่วมกันตรวจสอบและติดตามว่าเงินไปอยู่ที่ไหน อย่างไร ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเราคงไม่สามารถติดตามเงินกลับมาได้ทั้งหมด เพราะกลุ่มขบวนการอาชญากรทางเศรษฐกิจนี้ เมื่อได้รับเงินจะมีการยักย้าย ถ่ายเท หรือโอนเงินอย่างรวดเร็ว แต่พวกเราหวังว่าจะยับยั้งให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสุดท้าย ซึ่งพฤติกรรมกลุ่มอาชญากรทางเศรษฐกิจนี้ มีการแจ้งเอกสารเท็จมูลค่าส่งออกมากกว่าความเป็นจริงถึง 60 เท่า โดยราคาเศษเหล็ก 11 บาท แต่สำแดงสินค้าเท็จราคา 600 บาท
ส่วนกลุ่มผู้กระทำความผิดยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่นั้น นายธาริต กล่าวว่า บางคนอาจจะยังอยู่ในประเทศ ขณะที่บางคนอาจจะหลบหนีออกไปต่างประเทศแล้ว ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อคนผิดได้ ขณะที่ในส่วนของข้าราชการที่ร่วมกระทำความผิดนั้น ยังคงปฏิบัติหน้าที่ปกติอยู่ครบ โดยไม่มีใครหายไป ทั้งนี้ ภายในวันพรุ่งนี้ดีเอสไอจะมีการอายัดบัญชีข้าราชการทุกรายที่สงสัยเกี่ยวข้องว่าการกระทำความผิดเพื่อทำการตรวจสอบ โดยกลุ่มนี้มีประมาณ 10 คน กลุ่มแรกที่ดีเอสไอจะขอศาลออกหมายจับพยานจะต้องมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ซึ่งขบวนการดังกล่าวกระทำความผิดไม่ต่ำกว่า 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีขบวนการแจ้งว่าดำเนินธุรกิจส่งออกประเภทอื่นที่ทำเอกสารเท็จขอคืนภาษีจากรัฐ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับข้อหาการกระทำความผิดที่ออกหมายจับขบวนการดังกล่าว มี 2 ข้อหา คือการฉ้อโกงเงินของแผ่นดินในส่วนของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง รวมทั้งทำเอกสารเท็จและปลอม แต่ในส่วนของชาวบ้านที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น จะตัดสินจากการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา หากชาวบ้านไม่ได้มีส่วนจับเงิน โอนเงินไปให้ใคร หรือรับเช็คเงินคืนภาษี หรือเป็นคนนำเงินเข้าบัญชีเอง แต่ในทางตรงข้ามหากใครเข้าไปเกี่ยวข้องโดยถ่ายเท ยักย้ายเงิน มีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง ก็จะชี้เจตนาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย ทั้งนี้จะมีการประชุมของ 3 หน่วยงาน ในวันจันทร์นี้ (29 ก.ค.) เวลา 14.00 น.อีกครั้ง เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว
รองเลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า สำนักงาน ปปง.ได้รับหนังสือจากดีเอสไอเพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบธุรกรรมและวิเคราะห์ทางการเงินของกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลที่ทุจริตในการขอคืนภาษี ซึ่งดูจากข้อมูลพยานเอกสารที่ส่งไปแล้ว เราพบว่าน่าจะมีความผิดฐานฉ้อโกง รวมไปถึงการปลอมแปลงเอกสารสิทธิ ซึ่งความผิดทั้ง 2 ประการ จะเป็นความผิดเข้าข่ายตามมูลฐาน พ.ร.บ.การฟอกเงิน หลังปปง.ทำการวิเคราะห์เสร็จจะส่งรายงานแจ้งให้ดีเอสไอทราบต่อไป
นางศิวพร กล่าวอีกว่า การดำเนินการครั้งนี้เชื่อว่าหากไม่มีความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการยับยั้งการกระทำความผิดของกลุ่มดังกล่าว เชื่อว่าตัวเลขความเสียหายต่อรัฐจะมีจำนวนมากกว่า 4,000 ล้านบาท ที่พบอยู่ในขณะนี้ โดยกลุ่มนี้ก็จะคงไม่หยุดดำเนินการโกงเงินประเทศ