xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดี “อัลรูไวลี” อีกครั้ง 2 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


แม่อัลรูไวรี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมคดี “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” อุ้มฆ่าอัลรูไวลี นักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย ศาลสืบพยานโจทก์อีกครั้ง 2 ก.ย.นี้

ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (20 พ.ค.) ศาลได้นัดพร้อมคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อทราบความคืบหน้าคดีหมายเลขดำที่ อ.199/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือ สมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ร่วมกันเป็นจำเลย 1-5 ในคดีร่วมกันอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวรี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย

โดยในวันนี้ ศาลได้แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้การส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือยูเออี เสร็จเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ทางอัยการส่งคำเบิกความให้กระทรวงการต่างประเทศแปลยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่นายอาตีก ฆอนิม อัลรูไวรี พี่ชายของนายโมฮัมหมัด ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวรี มารดา ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีด้วย ซึ่งทนายความจำเลยทั้งห้า คัดค้าน อ้างว่าไม่ใช่ลายมือของนางวักดะห์ อย่างไรก็ตาม ศาลสอบถามนายอาติก และ ดร.อับดุล เราะห์มาน อัลเซียรี อธิบดีกรมดูแลความมั่นคงและปลอดภัย กระทรวงการต่างประเทศ ซาอุฯ ยืนยันว่า เป็นลายมือของนางวักดะห์ จริง ศาลจึงอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้

นอกจากนี้ศาลยังแจ้งให้ทราบว่า ตามมติศาลรัฐธรรมนูญ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36, 37, 38 และ 39 ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2, มาตรา 29, 40(2)(3)(4)(7) เกี่ยวกับการวิธีกาส่งประเด็นไปสืบในต่างประเทศ

ส่วนมติศาลศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ที่บัญญัติไว้ว่า บรรดาหลักฐานและอกสารที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมายนั้น ขัดต่อหลักนิติธรรม อันเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญา เพราะเป็นหลักฐานที่จำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบ หรือรับทราบ และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม ตลอดจนไม่ได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความ อันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้

จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 มาตรา 29 และมาตรา 40(2)(3)(4)(7) จึงเห็นควรให้พนักอัยการโจทก์เดินทางไปบันทึกถ้อยคำพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก อีกครั้งที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ในวันที่ 31 พ.ค. นี้ ส่วนทนายความจำเลย และพวกจำเลยยืนยันไม่ขอเดินทางไปด้วย เนื่องจากเห็นว่า ขั้นตอนต่างๆ นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ร่วมในวันที่ 2 และ 13 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

นายเอนก คำชุ่ม ทนายความโจทก์ร่วม กล่าวภายหลังว่า วันนี้ นางวักดะห์ มารดาของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ได้ให้พี่ชายของนายโมฮัมหมัด ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ด้วย ซึ่งศาลก็มีคำสั่งอนุญาต นอกจากนี้ยังมีคณะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการซาอุฯ ประมาณ10 คน ร่วมเดินทางมาติดตามความคืบหน้าของคดี เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและจะได้ไปอธิบายให้กับญาติของผู้เสียชีวิตได้ ขั้นตอนหลังจากนี้พนักงานอัยการ จะเดินทางไปฟังบันทึกถ้อยคำพยานปากของ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานโจทก์ปากสำคัญที่ยูเออี ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จากนั้นก็จะแปลคำเบิกความของพยานจากภาษาอารบิก เป็นภาษาอังกฤษ และจากภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทย ต่อไป

โดยจะนำเอกสารคำแปลคำเบิกความมายื่นต่อศาลในวันที่ 2 ก.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ร่วมปากแรก โดยมีนายอาตีก พี่ชายของนายโมฮัมหมัด มาขึ้นเบิกความเพียงปากเดียว ต่อศาล ในเวลา 09.00 น.ส่วนการสืบพยานจำเลยอยู่ช่วงระหว่างเดือน ก.ย.และ ต.ค.รวมทั้งหมด 5 นัด ซึ่งขณะนี้กระบวนการในชั้นได้อยู่ในขั้นตอนการสืบพยานแล้ว และคาดว่าอีกไม่นานกระบวนการทั้งหมดก็คงจะเสร็จสิ้น

ด้าน นายอาตีก พี่ชายนายอัลรูไวลี กล่าวผ่านล่ามว่า “ตนรู้สึกมีความมั่นใจกับกระบวนการยุติธรรมของไทยมากขึ้น แต่ยอมรับว่า 23 ปี ที่ผ่านมา ครอบครัวตนมีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก โดยจากการที่ได้มาติดตามการรับฟังคดีด้วยตนเอง ทำให้ค่อนข้างพอใจกับความคืบหน้าของคดีในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะเป็นสิ่งที่รอคอยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ถือว่าเป็นการรอคอยที่ยาวนานมาก อย่างไรก็ตามยังมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมไทย และจะรอคอยจนกว่าผลการพิจารณาคดีว่าเป็นอย่างไรต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเสร็จการพิจารณา พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และจำเลยคนอื่นไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด เพราะเกรงจะผิดเงื่อนไขการประกันตัว







กำลังโหลดความคิดเห็น