xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกคำร้องดีเอสไอยื่นถอนประกัน “สมคิด บุญถนอม”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย
ศาลยกคำร้อง “อธิบดีดีเอสไอ” ยื่นถอนประกัน “สมคิด” กับลูกน้อง คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ ชี้ “ธาริต” เบิกความเพียงปากเดียว มีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ พร้อมสั่งห้ามจำเลยทั้ง 5 ให้สัมภาษณ์สื่อหรือข่มขู่พยาน

ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (1 พ.ค.) ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง หมายเลขดำที่ อ.199/2553 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และ พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี จำเลยที่ 1 และ 4 ในคดีร่วมกับพวกอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ อ้างว่าเป็นการปกป้องตนเอง และรักษาสิทธิตามกฎหมาย

คำร้องโจทก์ระบุว่า คดีฆาตกรรมนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี เป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบ และมีอำนาจการสืบสวนและยื่นคำร้องถอนประกันจำเลยทั้งห้า ระหว่างการสืบพยานพบว่า พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก เป็นพยานปากสำคัญ และพำนักอยู่ที่สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรตส์ หรือยูเออี ทำให้ พล.ต.ท.สมคิด จำเลยที่ 1 และ พ.ต.ท.สุรเดช จำเลยที่ 4 ใช้อำนาจข่มขู่พยาน เรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ ในคดี และจำเลยที่ 1 ให้ข่าวกับสื่อมวลชนติดต่อกัน มีผลให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสีย และยังนำข้อมูลส่วนตัวของ พ.ต.ท.สุวิชชัยไปเปิดเผย ถือเป็นการข่มขู่พยาน ทำให้พยานรู้สึกหวาดกลัว ส่งผลต่อการพิจารณาคดีและกระทบความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย จึงยื่นคำร้องปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1และ 4

ส่วนจำเลยเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องว่า การกระทำของจำเลยเกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากนางอินทราณี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายต่างประเทศซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อให้ พ.ต.ท.สุวิชชัย พยานอยู่นอกเขตอำนาจศาล ส่งผลให้จำเลยไม่สามารถซักค้านได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อีกทั้ง พ.ต.ท.สุวิชชัย ต้องการหลบหนีการจับกุมในคดีฆ่าคนตาย และยังถูก พ.ต.ท.สุรเดช จำเลยที่ 4 ฟ้องว่าแจ้งความเท็จ การหลบหนีไปต่างประเทศจึงไม่เกี่ยวกับการให้ข่าวของจำเลย ซึ่งที่จำเลยแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชน เป็นการแสดงออกโดยสุจริตและเป็นการปกป้องสิทธิในการต่อสู้คดีอาญา และจำเลยทั้งสองไม่มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยานหลักฐานแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าฝ่ายผู้ร้องมีเพียงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอมาเบิกความเพียงปากเดียว ไม่มีพยานสนับสนุนว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ไปข่มขู่พยานจนเสียหายต่อกระบวนพิจารณาหรือไม่ จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งการข่มขู่พยานไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.สุวิชชัย เดินทางไปต่างประเทศแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยมีเหตุผลเพียงพอ แต่การที่จำเลยที่ 1 และ 4 ให้ข่าวติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 20 วัน ไม่เหมาะสม กระทบกับการพิจารณาคดีของศาล แต่ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว จึงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ห้ามจำเลยมีพฤติการณ์ข่มขู่ คุกคามพยาน หรือกระทำการใดๆ ที่กระทบกับกระบวนการพิจารณาคดีและห้ามจำเลยทั้งห้าให้ข่าวหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นให้ข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียนั้น ศาลอาญาได้นัดพร้อมคู่ความทั้งสองในวันที่ 20 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.เพื่อฟังผลการส่งประเด็นไปสืบพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ต่างประเทศ

ด้าน พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ หัวหน้าชุดคุ้มครองพยานซึ่งเดินทางมาศาล กล่าวยืนยันว่า ดีเอสไอมีหน้าที่ให้การคุ้มครองพยาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ส่วนจะนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ซึ่งมีหมายจับคดีฆ่าผู้อื่นกลับมาดำเนินคดีหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของดีเอสไอ และทางอัยการแจ้งว่าพยานปากนี้เดินทางไป-กลับระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ภายหลังสืบประเด็นปาก พ.ต.ท.สุวิชชัยเสร็จสิ้นแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับศาลอาญาว่าจะรับฟังคำเบิกความของพยานปากนี้หรือไม่
(แฟ้มภาพ)พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ จำเลยคดี ร่วมกับพวกอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย
(แฟ้มภาพ)นายธาริต เพ็งดิษฐ์อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ
กำลังโหลดความคิดเห็น