สน.พระอาทิตย์ / สามยอด
ออกสภาพมึนๆ กันไปหมด ตั้งรับกันไม่ทัน ไม่นึกจะออกแบบนี้ ทั้ง “ศาล-อัยการ-กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เลยขอตั้งหลักสักระยะ รอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแบบเต็มๆ
หลังมีมติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 13 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมาในคำร้องที่โยงไปถึงคดี “ลักพาตัวและฆาตกรรมนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย”
ที่ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาอนุญาตให้ฝ่ายโจทก์ส่งประเด็นไปสืบพยานปากสำคัญคือ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีได้
ทำให้ฝ่ายจำเลยคือ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ เห็นว่าเรื่องนี้อาจขัดรัฐธรรมนูญแม้จะเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535
จึงทำให้เกิดคำโต้แย้งทางข้อกฎหมายขึ้น ทาง พล.ต.ท.สมคิด จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36 37 38 39 และ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40(2) (3) (4) และ (7) หรือไม่
เนื่องจาก พล.ต.ท.สมคิด เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศฯไม่ได้ กำหนดวิธีการสืบพยานให้จำเลย สามารถตามประเด็นไปสืบได้ ถือเป็นการขัดหรือแย้งต่อการสืบพยานต่อหน้าจำเลย และตามที่บัญญัติให้พยานหลักฐานที่ได้มา ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถรับฟังได้ มีผลให้จำเลยเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงเห็นว่าน่าจะขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ
จนสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยคำร้องนี้ออกมาเป็น 2 มติดังนี้
1.มติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2
เห็นว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 มาตรา 40(2) (3) (4) และ (7)
2.มติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4
เห็นว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ที่บัญญัติให้บรรดาพยานหลักฐานที่ได้มาตาม พ.ร.บ.นี้ให้เป็นพยานหลักฐานเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมายนั้น ขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นบทบัญญัติที่จำกัดต่อสิทธิของจำเลยในคดีอาญา
เพราะเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบหรือรับทราบ แต่ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเพียงพอหรือเป็นธรรม ตลอดจนไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทางทนายความ
อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 มาตรา 29 และมาตรา 10(2) (3) (4) (7)
สำหรับมาตรา 36-41 ของ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศฯที่มีการยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยพบว่าเป็นหมวดว่าด้วยเรื่องวิธีขอความช่วยเหลือที่ ที่ตามนิยามของกฎหมายฉบับนี้ ความช่วยเหลือหมายถึงการช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการสืบสวน สอบสวน ฟ้องคดี ริบทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาระหว่างหน่วยงานของรัฐคือฝ่ายไทยที่จะขอความช่วย เหลือจากต่างประเทศว่าต้องทำอย่างไรบ้าง
ขณะที่ มาตรา ๔๑ ดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐาน และเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมาย”
ส่วนที่ศาล รธน.เห็นว่ามาตรา 41 ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ,มาตรา 29 และมาตรา 40 ก็พบว่าทั้ง 3 มาตราดังกล่าว เป็นบทบัญญัติหลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม
เช่น มาตรา 40(2) ที่บัญญัติว่า “สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา อย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง”
หลังมีคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญออกมา แม้ผู้เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานอัยการสูงสุดและดีเอสไอที่เป็นคนทำคดีมาตั้งแต่ต้น จะรู้ก่อนหน้านี้ว่ามีการยื่นเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ก็ปรากฏว่าเรื่องเงียบหายไป ผนวกกับคงยังไม่เห็นคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญว่าได้ให้ที่มา ที่ไปและเหตุผลในการวินิจฉัยดังกล่าวอย่างไร
ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายส่วนยังแสดงความเห็นอะไรมากไม่ได้ แม้แต่กับ พล.ต.ท.สมคิด เองก็ตาม
ทั้งเรื่องที่ว่าจะมีผลต่อการส่งประเด็นไปสืบพยานคือ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่ยูเออีหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเสนอข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวว่ามีการส่งประเด็นไปสืบพยานคือ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่ยูเออีเรียบร้อยแล้ว ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าตกลงแล้วมีการดำเนินการไปแล้วจริงหรือไม่ ที่หากอยากรู้อย่างเป็นทางการก็ต้องรอวันที่ 20 พ.ค.ซึ่งเป็นวันที่ศาลได้นัดคู่ความเพื่อสอบถามความคืบหน้าคดี
หรือในแง่ของข้อกฎหมายหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกมาว่าหลังจากนี้ หากจะมีการดำเนินการในลักษณะนี้คือส่งคนหรือส่งประเด็นไปสืบพยานที่ต่างประเทศแต่เป็นคดีอื่นจะมีผลอย่างไรหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานมีผลผูกพันอะไรหรือไม่
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยทั้งในแง่เชิงคดีความในการติดตามความเป็นไปของ “คดีอัลรูไวลี” และในแง่ข้อกฎหมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ดังกล่าว
เนื่องจากการต่อสู้คดีนี้ พบว่าเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งในห้องพิจารณาคดีและนอกห้องพิจารณาคดี
อย่างเมื่อ พล.ต.ท.สมคิด และทีมทนายความออกมาเดินหน้าชนดีเอสไอและอัยการ ในประเด็นที่ว่ามีการร่วมมือกันของ 2 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและ1 อัยการ ที่พล.ต.ท.สมคิดอ้างว่าต่างร่วมมือกันในการพาตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่เป็นผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาของศาลมีนบุรีที่ให้จำคุกตลอด ชีวิต ในคดีฆ่าขบวนการต่อต้านลาว แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น เกียรติกรณ์ แก้วผลึก เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิทั้งที่มีชื่ออยู่ในบัญชีถูกออกหมายจับที่ ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่กลับมีการพาตัวไปยังยูเออีเมื่อช่วงธันวาคม 55
ทาง พล.ต.ท.สมคิด จึงยื่นเรื่องให้บางหน่วยงานเช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบเรื่องนี้เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอะไรแปลกๆ
เช่นการตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมต้องไปที่ยูเออี ไม่พาไปประเทศอื่น แม้ดีเอสไอจะอ้างว่า พ.ต.ท.สุวิชชัยอยู่ในโครงการคุ้มครองพยานของดีเอสไอก็ตาม
ก็ปรากฏว่า ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แม้ไม่ได้ทำคดีนี้มาตั้งแต่ต้น แต่ในฐานะหัวหน้าหน่วย ก็ต้องสวนกลับ
เลยมีการไปยื่นเรื่องต่อศาลอาญาเมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว พล.ต.ท.สมคิด กับพวกรวม 5 คน เนื่องจากได้มีการเข้าไปยุ่งเหยิงและข่มขู่พยาน โดยเฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.สุวิชชัย เช่นการนำหลักฐานทางราชการในการเปลี่ยนชื่อมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว วันที่ 25 มีนาคมนี้ เวลา 09.00 น.
ดูแล้วความเป็นไปของคดี อัลลูไวลี เข้มข้นพอๆกับหนังแนวสืบสวนสอบสวนต่างประเทศเลยทีเดียว เพียงแต่หนังนั้นพอจะคาดเดาตอนจบได้อยู่แล้ว
แต่คดีนี้ ไม่รู้จะมีการหักมุมตอนจบหรือไม่ ?