xs
xsm
sm
md
lg

สืบพยานคดีก่อการร้ายนัดแรก “พ.อ.ทหารบก” เบิกความ ยันม็อบใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่ดับ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สืบพยานโจทก์คดีก่อการร้ายนัดแรก อัยการมั่นใจพยานหลักฐานเอาผิดแกนนำ นปช.ทั้ง 24 คนได้ พร้อมนำตัว “พ.อ.” นายทหารกรมข่าวทหารบกเบิกความต่อศาล ยันการชุมนุมเสื้อแดง มีการใช้อาวุธสงครามเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่ จน “พล.อ.ร่มเกล้า” เสียชีวิต ศาลนัดซักค้านนายทหารก 20 ธ.ค.นี้

ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (14 ธ.ค.) ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์, นพ.เหวง โตจิราการ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันทำให้ปรากฏกับประชาชนด้วยวาจา มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553

โดยวันนี้นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 นำ พ.อ.ธนากร โชติพงษ์ นายทหารปฏิบัติการ กรมข่าวทหารบก เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ขณะเกิดเหตุ พยานเป็น รอง ผอ.กองข่าว กรมข่าวทหารบก ซึ่งได้รับแต่งตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่นายทหารส่วนข่าวร่วมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อรวบรวมรายงานข่าวสรุปสถานการณ์ประจำวันเสนอผู้บังคับบัญชา เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งเริ่มเคลื่อนผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 เพื่อกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ยุบสภา และคืนอำนาจให้ประชาชน โดยยกเหตุผลว่า นายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ขณะที่การชุมนุมช่วงแรกยังเป็นไปโดยสงบแต่เมื่อมีผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 60,000-70,000 คน ก็มีการเข้ายึดพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสี่แยกราชประสงค์ในการชุมนุม และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น มีการยิงเอ็ม 79, ขว้างระเบิดเอ็ม 26, ระเบิดเอ็ม 67 และยิงจรวดอาร์พีจีเข้าไปในพื้นที่ราชการ ขณะที่การข่าวไม่ชี้ชัดได้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง แต่พบว่าน่าจะเชื่อมโยงกับผู้ชุมนุมที่สถานการณ์เกิดในช่วงเดียวกัน และนอกจากในพื้นที่ กทม.แล้วยังมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย เช่น จ.อุดรธานี จ.อุบลราชธานี และ จ.เชียงใหม่

ส่วนการสูญเสียเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ขณะ ศอฉ.ได้ขอกระชับพื้นที่ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ-สี่แยกคอกวัว ซึ่งมีการปะทะของกำลังเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่มีบุคคลไม่ทราบฝ่ายรวมอยู่ด้วยและมีการยิงใส่เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายนาย อาทิ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ.ค่ายจักรพงษ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกอาวุธยิงใส่เสียชีวิตที่ยังสงสัยว่าจะเป็นเอ็ม 79 หรือลูกระเบิดชนิดขว้าง นอกจากนี้ยังมี ผบ.พล.ร.2 ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดด้วย แต่ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยึดยานพาหนะ และถอดอะไหล่ชิ้นส่วนออก รวมทั้งยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปด้วย โดยหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 มีแนวโน้มที่ความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง เช่น การยิงเอ็ม 79 เข้าไปในพื้นที่กองพันทหารราบที่ 11 รอ. ที่ตั้งของ ศอฉ. และยิงเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุขหลังที่มีการประชุม ครม.ด้วย สำหรับการชุมนุมของ นปช.จะมีกลุ่มการ์ดอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการวิดีโอลิงก์ส่งภาพและเสียงมายังเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงด้วย

พ.อ.ธนากรกล่าวว่า ในช่วงการชุมนุม ศอฉ.เคยพยายามเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล โดยช่วงที่มีการกระชับพื้นไม่ได้ใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม เพียงแต่ต้องการกดดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติไปเอง เนื่องจากขณะนั้นมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอยู่ด้วย โดยช่วงการกระชับพื้นที่ก็ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นประมาณ 6 จุด ก่อเหตุเผาในหลายพื้นที่ ซึ่งต่อมาการชุมนุมได้ยุติลงเมื่อประมาณวันที่ 20 พ.ค. 2553 หลังจากนั้นพยานก็ได้รับมอบหมายจาก ศอฉ.ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งได้นำรายงานสรุปสถานการณ์ประจำวันของที่ประชุม ศอฉ. และวีซีดีบันทึกเหตุการณ์ส่งไปด้วย โดยยืนยันว่าพยานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้ง 24 คนมาก่อน

ทั้งนี้ ระหว่างสืบพยาน อัยการโจทก์ ได้นำวีซีดีประมวลภาพเหตุการณ์ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มนปช. ความยาวประมาณ 10 นาที เสนอศาลเพื่อเปิดดูด้วย โดยปรากฏเสียงและภาพของแกนนำ นปช.เช่น นายณัฐวุฒิ นายจตุพร นายอริสมันต์ และอีกหลายคน ที่ขึ้นปราศรัยกล่าวกับผู้ชุมนุมให้ไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดแต่ละที่เพื่อเตรียมพร้อม และยังมีถ้อยคำบางตอนที่กล่าวถึงใช้น้ำมันเบนซินวางเพลิงเผาสถานที่ต่างๆ ใน กทม. และศาลากลางจังหวัด อาทิ ห้างฯ เซ็นทรัล เวิลด์ โดยกลุ่มของจำเลยได้ดูภาพดังกล่าวด้วย

ภายหลัง พ.อ.ธนากร เบิกความตอบการถามของอัยการโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ได้แถลงศาลว่าพยานติดภารกิจต้องเดินทางไปราชการ จ.เชียงราย วันนี้ ในเวลา 16.00 น. จึงจะขอเลื่อนนัดการตอบการซักค้านของทนายความจำเลยไปก่อน

ศาลพิเคราะห์แล้วมีเหตุอันควร จึงนัดสืบพยานปาก พ.อ.ธนากร อีกครั้งในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. และกำชับให้พวกจำเลยมาศาลตรงเวลาตามนัดด้วย

นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กล่าวถึงแนวทางการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความว่า เบื้องต้นทางอัยการเตรียมพยานไว้กว่า 300 ปากเช่นเดิม ยังไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมหรือตัดพยานแต่อย่างไร ส่วนที่พยานโจทก์ไม่มีนายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ.(ขณะนั้น) เพราะพนักงานสอบสวนดีเอสไอไม่เคยเรียกบุคคลทั้งสองมาให้ปากคำในฐานะพยานในคดีนี้ แต่ยืนยันว่าจะมีการนำนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ มาเป็นพยานโจทก์คนสำคัญอย่างแน่นอน ส่วนในการสืบพยานวันที่ 20 ธ.ค. อาจจะยังไม่นำ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นเบิกความเป็นในฐานะพยานโจทก์ เพราะว่า พ.อ.ธนากรยังต้องตอบคำถามซักค้านทนายฝ่ายโจทก์ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร

“ยืนยันว่าไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ทางอัยการจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาจะไม่ท้อและไม่มีการเปลี่ยนสีแน่นอน และส่วนตัวมั่นใจพยานหลักฐานในคดีร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะเอาผิดพวกจำเลยได้แน่นอน” นายรุจกล่าวตอนท้าย

ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งศาลสั่งถอนประกัน และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ กล่าวถึงการยื่นขอประกันตัวว่า ตนได้ปรึกษากับทางทีมทนายความแล้วว่าจะยื่นเรื่องขอศาลปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าใกล้เปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 21 ธ.ค.นี้แล้วตนควรจะต้องประกันตัวออกไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ซึ่งหากศาลอนุญาตเมื่อปิดสมัยประชุมสภาตนก็จะไม่ต้องถูกคุมขังอีก

สำหรับการสืบพยานโจทก์คดีนี้ คาดว่าคงใช้เวลาสืบพยานโจทก์และจำเลยนาน เพราะแต่ละฝ่ายมีพยานนับร้อยปาก ซึ่งจำเลยแต่ละคนก็มีพฤติการณ์และการอ้างอิงพยานที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับในส่วนของแกนนำ นปช.ที่ตกเป็นจำเลยจะใช้พยานชุดเดียวกันทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ สื่อมวลชน นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น




















กำลังโหลดความคิดเห็น