และแล้วการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับรองผบช.-ผบก.วาระประจำปี 2555 หรือ นายพลเล็ก ก็ดำเนินการเสร็จสิ้น มีตำแหน่งที่ถูกโยกขึ้น และโยกสลับในระนาบเดียวกันรวม 196 ตำแหน่ง ทว่าการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้กลับไม่เรียบร้อยอย่างที่คาดการณ์ไว้แต่แรก
นั่นเพราะระหว่างการประชุม ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด 6 คน ที่มีอยู่ในที่ประชุม ประกอบด้วย พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ พล.ต.อ.บุญญฤทธิ์ รัตนะพร พล.ต.ท.ศุภวุฒิ สังข์อ่อง พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ และ รศ.ร.ต.อ.สรพลจ์ สุขทรรศนีย์ ได้ตัดสินใจตบเท้า "วอล์กเอาต์" ออกจากที่่ประชุมอย่างกระทันหัน หลังจากที่เริ่มการพิจารณาบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายของ บช.น.และบช.ภ.1
แต่กระนั้นการแต่งตั้งโยกย้ายก็ไม่ได้สะดุด สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะในที่ประชุมยังมี ก.ตร.โดยตำแหน่งรวมประธานอีก 11 คน ซึ่งตามกฎหมายหากองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ได้ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจเดินออกมาจากห้องประชุมของก.ตร.ทั้ง 6 คน ว่า ก่อนการประชุมได้มีการนำเอกสารชี้แจงไปยัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร.ถึงการแต่งตั้งไม่เป็นธรรมในระดับรอง ผบช.-ผบก.ในครั้งนี้ 4 ประเด็น ประกอบด้วย...
ประเด็นแรก หลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่ง เมื่อครบวาระในปีแรก ตามกฎ ก.ตร.ข้อ 33 ที่ระบุว่า การคัดเลือกหรือแต่งตั้งผู้เหมาะสมที่จะได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ที่เพิ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนในปีแรกให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีผลการปฏิบัติงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง โดยมีผลปฏิบัติงานเป็นรูปธรรม
"ในประเด็นนี้อยากจะเรียนชี้แจงว่า ในระดับ ผบก.เลื่อนขึ้นเป็น รอง ผบช.ตามข้อกฎ ก.ตร.ข้อ 33 มีทั้งสิ้น 18 นาย ระดับรอง ผบก.เลื่อนขึ้น ผบก.มี 20 นาย โดยตนพบเพียงแค่บัญชีนำเสนอของ บช.ภ.5 เท่านั้น ที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ที่นำรายละเอียดมาประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วน เช่น พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบก.ภ.จว.พะเยา ขึ้นเป็นรอง ผบช.ภ.5 และ พ.ต.อ.วันชัย สุวรรณศิริเขต รอง ผบก.ภ.จว.เชียงราย ขึ้นเป็น ผบก.ภ.จว.เชียงราย ตรงนี้พบว่าทาง บช.ภ.5 ได้บรรยายสรุปผลงานว่า นายตำรวจทั้ง 2 นายดังกล่าว สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล ได้เป็นลำดับ 1 ของประเทศ ซึ่งถือว่าเหมาะสม ต่างจาก พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ที่มีผลงานโดดเด่น และมีอาวุโส แต่กลับไม่ได้เลื่อนขึ้น ขณะที่ พล.ต.ต.สมชาย อ่วมถนอม ผบก.ภ.จว.ชุมพร ที่มีอาวุโสน้อยกว่า พล.ต.ต.รณพงษ์ แต่ในบัญชีกลับได้เลื่อนขึ้นเป็น รอง ผบช.ภ.8 รวมถึง พ.ต.อ.ดาวลอย เหมือนเดช รอง ผบก.สส.ภ.8 ที่มีผลงานปราบยาเสพติดโดดเด่น และมีอาวุโสมากกว่า พ.ต.อ.ชลิต แก้วยะรัตน์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ที่ได้เลื่อนเป็น ผบก.ภ.จว.พังงา ส่วน พ.ต.อ.ชัชชรินทร์ สว่างวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี อาวุโสลำดับที่ 1 ได้เลื่อนเป็น ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรี แต่ไม่ได้มีการแสดงเหตุผลชัดเจนว่า มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์อย่างไร"พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าว
ประเด็นที่สอง เรื่องการพิจารณาลำดับอาวุโสร้อยละ 33 ตามกฎ ก.ตร.ข้อ 33 (2) ที่ระบุว่า ข้าราชการตำรวจที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ สว.-ผบช.ให้พิจารณาตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับตำแหน่ง โดยลำดับอาวุโสดังกล่าว ไม่ได้เป็นการคิดในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เป็นการแยกคำนวณของแต่ละกองบัญชาการ แต่พบว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหลายนายที่ได้สิทธิตามหลักอาวุโสร้อยละ 33 นั้น ต้องไปเลื่อนตำแหน่งนอกหน่วยกองบัญชาการที่สังกัด
ประเด็นที่สาม การแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในบัญชีเหมาะสมนอกหน่วย และมีอาวุโสต่ำกว่าคนใหม่ในหน่วยที่รับตัว โดยพบว่ามีบางกองบัญชาการได้จัดลำดับบัญชีผู้เหมาะสมไว้เป็นลำดับต้น เพื่อให้ได้สิทธิในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง แต่กลับไปเลื่อนตำแหน่งในกองบัญชาการอื่นๆ ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยที่รับตัวนั้น อาวุโสอยู่มากมาย ฉะนั้นไม่ทราบว่าการแต่งตั้งลักษณะนี้ จะชอบด้วยหลักเกณฑ์หรือไม่ อย่างการเลื่อน พ.ต.อ.หญิง อัญชนา ศรีทรงผล รอง ผบก.อก.รพ.ตร.เป็น ผบก.กต.6 จต.
และประเด็นที่สี่ ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่ครบหลักเกณฑ์ และบางรายมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง อย่างในกรณีของ พ.ต.อ.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบก.น.7 เป็น ผบก.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร.(ประสานงานนโยบายกับนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ถึงแม้อ้างว่าเป็นผู้ที่นายกฯ ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้ แต่ทางเราเห็นว่าการยกเว้นให้นายตำรวจรายนี้ จะมีผลเสียต่อองค์กรตำรวจและจะมีผลกระทบอย่างสูงต่อการเมือง และนายกฯ หรือกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติพงศ์ เศรษฐีสมบัติ รอง ผบก.ศพฐ.7 เป็น ผบก.ศพฐ.2 เมื่อพิจารณาคุณวุฒิและการอบรมเมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ต.อ.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข รอง ผบก.ศพฐ.4 ที่มีคุณวุฒิ วท.บ.(เคมี), นฐ./บตส.32
"ตรงนี้จะเห็นชัดเจนว่า พ.ต.อ.ธวัชชัย มีคุณวุฒิ และความเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวมากกว่า โดยเรื่องการแต่งตั้งบุคลากรที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในส่วนวิทยาศาสตร์ ที่จะมีความสำคัญมากในอีก 3 ปีข้างหน้า คือ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่กลับมีการแต่งตั้งไม่ตรงกับคุณสมบัติที่เหมาะสมในตำแหน่งนั้น" ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิระบุ
"ภายหลังหารือกับ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ถึงการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจว่า เริ่มการประชุม ก.ตร.ได้มีการนำเสนอหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่อง ซึ่งการแต่งตั้งครั้งนี้มีบางรายชื่อที่ทาง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่ามีความไม่เหมาะสม ทั้งในเรื่องคุณสมบัติและในเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงมีบางรายชื่อที่มีการปรับเปลี่ยนแบบกะทันหันภายในที่ประชุม ซึ่งทางตนก็ได้มีการอภิปรายในประชุมแล้ว โดยทางประธาน ก.ตร.ก็มีการรับฟัง แต่ก็มีการดำเนินการแต่งตั้งเช่นเดิม ทางเราจึงเห็นว่ามีสัญญาณที่เชื่อได้ว่าคงจะไม่เกิดผลอะไร จึงได้เดินออกมาจากที่ประชุม โดยไม่ได้นัดกับ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่นแต่อย่างใด" พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ พล.ต.อ.ชาญชิต กล่าวเสริมว่า "การแต่งตั้งครั้งนี้ยังพบว่าขาดความเป็นธรรมในหลายส่วน ทั้งเรื่องการโยกย้าย ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ที่พึ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ดังกล่าวได้เพียง 1 ปี ไปเข้ากรุเป็น ผบก.กต.1 และหากดูย้อนไปที่ ผบช.ภ.2 ก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งถูกโยกออกจากเก้าอี้ ตรงนี้เป็นธรรมและมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ถามไปยังประธาน ก.ตร.แล้ว แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง ส่วนเรื่องการเปิดตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวน ที่จะเข้ามาดูงานเรื่องนิติวิทยาศาสตร์นั้น อยากจะให้ไปปรับปรุงเรื่องการแต่งตั้งระดับ ผบก.ใน สพฐ.ตร.ให้ดียิ่งขึ้น หรือให้มีคุณสมบัติความเหมาะสมที่ถูกต้องมากกว่านี้"
อย่างไรก็ตามหลังการประชุมเสร็จสิ้น "บิ๊กเหลิม" ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งงานนี้เสียรังวัดไปไม่น้อย ถึงกับต้องกวักมือเรียกสื่อมวลชนมาชี้แจง โดยยืนยันว่าถือเป็นการแต่งตั้งที่เรียบร้อยดี ถูกต้องชอบธรรม และที่สำคัญที่สุดการแต่งตั้งเท่าที่ตนเองมาอยู่ ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง แต่การแต่งตั้งจะให้ถูกใจทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้
"อย่างนายตำรวจที่ติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีการซักถามว่ามีการยกเว้นหลักเกณฑ์ ถูกต้องนายกฯ จะเอาใครมาติดตามก็ต้องเป็นคนที่ท่านไว้วางใจได้ ไม่ใช่เอามาจากไหนสุ่มสี่สุ่มห้า เราสามารถชี้แจงได้ อย่างข้ามสายก็มีความจำเป็นอย่างกรณีเอา ผบก.กองทะเบียนประวัติไปเป็นรองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ได้อธิบายความชัดเจนว่ารองแพทย์ใหญ่เดิมมี 3 คน ตอนนี้มี 4 คน คนที่จบแพทย์จะเก่งด้านวิชาชีพ ทางด้านบริหาร จัดการ งบประมาณ การเขียนโครงสร้างนโยบายต้องใช้นายตำรวจภาคส่วนอื่น ภาพรวมตนเองพอใจ" รองนายกฯ กล่าว และว่าส่วนกรณีที่ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แสดงออกโดยการเดินออกจากห้องประชุมนั้น ผมไม่ทราบ มีการทำบันทึกมาเราก็ได้ชี้แจงไปแล้วก็เข้าใจแล้ว ยืนยันว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ถือว่าสง่างามไม่ปัญหา ปัญหามีอย่างเดียวอย่าไปเรียกรับทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รองนายกฯ เฉลิม ชี้แจงฟังดูเพลินๆ เหมือนจะมีเหตุมีผล แต่ทว่าหากฟังให้ดี มันเป็นคนละประเด็นกับที่ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิเขาทวงถาม ซึ่งเป็นเรื่องของ "ระบบคุณธรรม" ที่ขาดหายไปจากการแต่งตั้งครั้งนี้ อยากให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่กลับถูกเพิกเฉยจากผู้มีอำนาจ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการประชุมก.ตร. โดยเฉพาะในการแต่งตั้งโยกย้าย ที่อดีตนายตำรวจอย่าง ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดจะพร้อมใจกันแสดงจุดยืนเพื่อปกป้อง "ระบบคุณธรรม" แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะในที่สุดการแต่งตั้งก็ยังดำเนินการต่อไป
แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ขาดความชอบธรรม และยังเป็นการเตือนสติผู้มีอำนาจ ไม่ให้เหิมเกริมลุแก่อำนาจทำอะไรตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องอีก...