xs
xsm
sm
md
lg

พินัย “กรรม” จำ จน ตาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ปัญหาความวุ่นวายอันเกิดจากการแบ่งทรัพย์มรดกที่ไม่ลงตัว... เป็นเรื่องที่พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ทั้งในชีวิตจริงหรือแม้แต่ในละคร... ทั้งนี้เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ท่านว่า ไม่เข้าใคร ออกใคร

ตามกฎหมายแล้วเมื่อเจ้าของทรัพย์เสียชีวิต ทรัพย์มรดกทั้งหมดย่อมตกทอดแก่ทายาทตามลำดับชั้น เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของทรัพย์จะได้ทำพินัยกรรมระบุว่าจะให้ทรัพย์สินที่มีแก่ใคร จำนวนเท่าใดบ้าง กรณีเช่นนี้ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกจึงเป็นใครก็ได้ที่เจ้าของทรัพย์ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรม โดยที่ไม่จำต้องเป็นทายาทเท่านั้น

และการทำพินัยกรรมก็มีหลายรูปแบบ แล้วแต่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ทำ เช่น พินัยกรรมแบบธรรมดา แบบเขียนเองทั้งฉบับ แบบเอกสารฝ่ายเมือง แบบเอกสารลับ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันออกไป...

วันนี้ ผมมีเรื่องราวข้อพิพาทที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมฝ่ายเมือง ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่มีความเป็นทางการเพราะต้องทำต่อหน้านายอำเภอ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำพินัยกรรมมากนัก และต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยตรวจสอบความถูกต้องรวมทั้งดูแลเก็บรักษาพินัยกรรมไว้ให้ การทำพินัยกรรมแบบนี้โอกาสผิดพลาดจึงมีน้อย... เรียกได้ว่า ผู้ทำสบายใจนอนตายตาหลับแน่ๆ ครับ…

แต่ก็ไม่มีอะไรแน่เหมือนแช่แป้ง...

ดังเช่นกรณีของคุณยายละม่อมที่ได้ตัดสินใจเลือกทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองเพื่อแบ่งสมบัติให้ลูกหลาน โดยได้แจ้งความประสงค์ต่อทางการว่าหากตัวเองเสียชีวิต ต้องการแบ่งที่ดินให้แก่นางหนูนาหลานสาวกับหลานเขย จำนวน 10 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 10 ไร่ แบ่งให้ลูก 4 คน คือนางชมพู่ นางลำไย นายแตงโม และนายแตงไทย ในจำนวนเท่าๆ กัน โดยแต่งตั้งให้นางหนูนาเป็นผู้จัดการมรดก

หลังจากที่ทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว ปลัดบุญมีซึ่งรักษาราชการแทนนายอำเภอ ก็ได้ลงลายมือชื่อโดยประทับตราประจำตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ แล้วจึงผนึกซองมอบให้เสมียนตราอำเภอเก็บรักษาไว้ตามระเบียบของทางราชการ พร้อมทั้งได้ออกใบรับพินัยกรรมให้คุณยายละม่อมเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย คุณยายละม่อมจึงโล่งอกที่ได้จัดการแบ่งทรัพย์สินของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...

4 ปีให้หลัง... คุณยายละม่อมก็ได้เสียชีวิตลง จึงได้มีการนัดเปิดพินัยกรรมกันขึ้น และทันทีที่อ่านพินัยกรรมจบ ทุกคนก็ต้องถึงกับตาค้าง คุณพระช่วย !!! “คุณยายละม่อมไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรม” ทำให้พินัยกรรมดังกล่าวต้องตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1705 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดจึงตกเป็นของทายาทตามกฎหมาย ซึ่งก็คือลูกๆ ทั้ง 4 คน ของคุณยายละม่อมในจำนวนเท่าๆ กัน หลานสาวอย่างนางหนูนาจึงหมดสิทธิ์ไปตามระเบียบ

งานนี้...ผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากความผิดพลาดของปลัดบุญมีเห็นทีจะเป็นนางหนูนาหลานรักของคุณยายละม่อมและสามีที่ต้องชวดที่ดินไปจำนวน 10 ไร่ นางหนูนาจึงยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการจังหวัด โดยต่อมาได้มีการนัดทายาททั้ง 4 คน มาพบเพื่อประนีประนอม

ผลการไกล่เกลี่ยสรุปว่า ทายาททั้ง 4 คน ได้ทำบันทึกตกลงกันว่าประสงค์ที่จะตั้งนางชมพู่เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อทำการแบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินจำนวน 20 ไร่ ให้แก่ทายาททั้ง 4 คน เท่าๆ กัน โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อนายแตงโมรับทรัพย์มรดกไปแล้วจะแบ่งที่ดินให้แก่นางหนูนา จำนวน 2 ไร่ และนางชมพู่จะยกที่ดินในส่วนของตนจำนวน 5 ไร่ให้แก่นางหนูนาด้วย จึงเท่ากับว่านางหนูนาจะได้รับที่ดินรวมทั้งสิ้นจำนวน 7 ไร่

แต่อย่างไรก็ดีนางหนูนาก็ยังขาดที่ดินที่ควรจะได้อีกจำนวน 3 ไร่

นางหนูนาและสามีจึงปรึกษากันโดยเห็นว่าเป็นเพราะปลัดบุญมี ละเลยต่อหน้าที่ไม่ทำการตรวจสอบความถูกต้องของพินัยกรรมให้ดีเสียก่อน เป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 10 ไร่ ซึ่งคิดเป็นเงินกว่าห้าแสนบาท จึงได้ยื่นฟ้องจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) อำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรมการปกครอง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน
ประเด็นปัญหาของคดีนี้ก็คือ... การที่พินัยกรรมของนางละม่อมตกเป็นโมฆะ ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ ? และกรมการปกครองซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของปลัดบุญมี จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ?

คงอยากทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่า...กรณีเช่นนี้จะลงเอยอย่างไร และนางหนูนาจะได้รับค่าเสียหายจากกรมการปกครองหรือไม่ ? ศาลปกครองสูงสุดท่านได้ตัดสินไว้แล้วดังนี้ครับ...

โดยที่เจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดทำพินัยกรรมฝ่ายเมือง ก็เพื่อประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ นายอำเภอซึ่งมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายในเรื่องดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการทำพินัยกรรมให้ ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้พินัยกรรมมีความถูกต้องสมบูรณ์ และมีผลบังคับได้ตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรม

ดังนั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ทำพินัยกรรมที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของพินัยกรรมว่ามีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่ตนจะลงนามและประทับตราประจำตำแหน่งในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ทำพินัยกรรม

การที่ปลัดบุญมีซึ่งรักษาราชการแทนนายอำเภอได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้กับนางละม่อมโดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของพินัยกรรมให้ละเอียดถี่ถ้วนว่านางละม่อมผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อแล้วหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายโดยไม่ได้รับที่ดินตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม กรณีจึงเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

เมื่อผลการไกล่เกลี่ยของสำนักงานอัยการจังหวัด ทำให้นางหนูนาได้ที่ดินมาแล้วจำนวน 7 ไร่ โดยเหลือความเสียหายที่ยังไม่ได้รับอีกจำนวน 3 ไร่ ซึ่งคิดคำนวณเป็นเงิน 125,104.59 บาท (ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ประกาศไว้ขณะเกิดเหตุ) และโดยที่ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำลงไปในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นหน่วยงานต้นสังกัดของปลัดบุญมีจึงต้องเป็นผู้รับผิดในความเสียหายดังกล่าวแทนปลัดบุญมีครับ

ศาลปกครองสูงสุดจึงได้พิพากษาให้กรมการปกครองในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางหนูนาและสามี เป็นเงิน 125,104.59 บาท (คดีหมายเลขแดงที่ อ. 214/2550)

น่าเห็นใจปลัดบุญมีนะครับ... ที่มีกรรมมาบังตา ทำให้ไม่เห็นว่าคุณยายละม่อมยังไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรม และคงต้องถูกกรมการปกครองไล่เบี้ยต่อไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ... แต่ก็ยังโชคดีนะครับที่ราคาประเมินที่ดินแปลงนี้อยู่ที่หลักแสน เพราะถ้าหากเป็นหลักล้าน ผมว่าทั้งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่คงต้องเซโรงังไปตามๆ กัน...
คดีนี้จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ
ที่ควรต้องจดจำอย่างยิ่งครับ !

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น