บริษัทต่างชาติ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้ดีเอสไอช่วยตรวจสอบการรถไฟฯ บริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่ากว่า 8,700 ล้านบาท ชี้ การรถไฟฯปล่อยให้บริษัทไม่มีประสบการณ์สวมสิทธิ์เข้าวางรางรถไฟ ขณะที่ อธิบดีดีเอสไอ ระบุ เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมาก คาดใช้เวลา 60 วัน ตรวจสอบข้อเท็จจริง
วันนี้ (14 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสุขสันต์ นันทกุล และ นายจุลสิงห์ เจนล่ำซำ ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ซุนวู คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ตั้งอยู่ที่อาคารฮ่องกง สปินเนอร์ส อินดัสเตรียล 601-603 ถนนไตหนานตะวันตก เกาลูน ประเทศฮ่องกง เข้ายื่นหนังสือต่อ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ผู้ตรวจราชการกระทรววงยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมให้ดีเอสไอตรวจสอบการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการบริหารโครงการรับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า (สายสีแดง) บางซื่อ-ตลิ่งชัน หลังจากบริษัท ซุนวู ได้ร่วมกับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ “กิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู” เข้ารับงานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง มูลค่ากว่า 8,700 ล้านบาท กับการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมตกลงให้บริษัท ซุนวู เป็นผู้วางระบบราง เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามทีโออาร์(TOR) แต่ต่อมาบริษัท ยูนิค ได้ให้บริษัท เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด เข้ามาทำงานวางระบบรางแทนโดยการรถไฟฯ ได้มีหนังสือ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.อนุญาตให้บริษัท เอ.เอส.แอส เข้ามาทำงานแทน เบื้องต้นดีเอสไอรับเรื่องไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า บริษัท ซุนวู ได้ร่วมกับบริษัท ยูนิค รับงานโครงการรับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายสีแดง) ตามสัญญาเลขที่ กส.5/รฟฟ./2551 ลงวันที่ 12 ธ.ค.2551 ภายใต้ชื่อ “กิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู” มูลค่าโครงการก่อสร้าง 8,748,399,000 บาท กับการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยบริษัท ซุนวู มีคุณสมบัติตามทีโออาร์ เพราะมีประสบการณ์ในการวางระบบและทำระบบรางในต่างประเทศมากว่า 10 ปี ส่วนบริษัท ยูนิค ที่ไม่มีประสบการณ์ในงานระบบราง จึงได้ไปชักชวนบริษัท ซุนวู ให้เข้าร่วมรับงานก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อให้คุณสมบัติเข้าตามทีโออาร์ ก่อนจะเข้าทำสัญญากับการรถไฟฯ บริษัท ซุนวู ได้มอบอำนาจให้บริษัท ยูนิค ตั้งบริษัทกิจการร่วมค้า โดยบริษัท ซุนวู จะเข้ามารับผิดชอบ 15 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของการวางระบบราง มูลค่า 1,000 ล้านบาท แต่ต่อมาทางบริษัท ยูนิค ได้แต่งตั้งบริษัท เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด เข้ามาวางระบบรางแทน ซึ่งระบบที่นำเสนอมีความแตกต่างกันในด้านวิทยาการ ราคาและคุณภาพวัสดุ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า บริษัท ซุนวู จึงต้องมอบอำนาจให้ตัวแทนเข้าขอความเป็นธรรมต่อ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพราะเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2553 และการรถไฟฯ แต่ไม่มีความคืบหน้า โดยบริษัท ซุนวู ได้ร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ ว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงไม่มีขั้นตอนการเปิดประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน โดยบริษัท ยูนิค ได้อาศัยคุณสมบัติของบริษัท ซุนวู เพื่อให้คุณสมบัติครบตามทีโออาร์ ต่อมามีการให้บริษัทอื่นมาวางระบบรางแทน ทั้งที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ได้ออกหนังสือให้บริษัทใหม่เข้ามาสวมงานแทนบริษัท ซุนวู การกระทำของผู้ว่าการการรถไฟฯ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีรับรองให้ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติตามทีโออาร์ และเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติอย่างแท้จริง บริษัท ซุนวู จึงร้องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในโครงการให้ดีเอสไอตรวจสอบ
ด้าน นายธาริต กล่าวว่า คาดว่า จะใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงประมาณ 60 วัน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด โดยดีเอสไอจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมา เคยเกิดคดีในลักษณะดังกล่าวในกรณีของโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ที่บริษัทกิจการร่วมค้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ 5 แห่ง ไม่มีคุณสมบัติตามทีโออาร์ จึงไปนำบริษัทของประเทศอังกฤษที่มีคุณสมบัติก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย มาเป็นองค์ประกอบ จนชนะประมูลโครงการก่อนจะไล่บริษัทของประเทศอังกฤษออกไป ซึ่งทำให้การก่อสร้างเสียหายจน ครม.มีมติเลิกสัญญาของบริษัทกิจการร่วมค้า โดยหลังจากนี้ ดีเอสไอจะตรวจสอบพยานบุคคล เอกสารทีโออาร์ ขั้นตอนที่นำไปสู่การเซ็นสัญญา องค์ประกอบของโครงการ และการรถไฟฯ เบื้องต้นเรื่องนี้ดูแล้วการสอบสวนไม่ซับซ้อนมาก