xs
xsm
sm
md
lg

“ซุนวู” โวยโดน “ยูนิค” หักหลังประมูลรถไฟฟ้าสีแดง แฉดึง บ.โนเนม-ไร้ประสบการณ์ สวมสิทธิงานระบบราง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซุนวู” บุกร้อง “ดีเอสไอ” สอบพิรุธประมูลรถไฟฟ้า สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน โวยถูกกลุ่ม “ยูนิค” หักหลัง แต่งตั้ง “บ.โนเนม” เข้ามาสวมสิทธิ์งานก่อสร้างวางระบบราง ยอมรับ เคยร้องเรียน “ปลัดสุพจน์” ไปแล้วแต่เรื่องเงียบหาย ยันการรถไฟฯ ปล่อยให้ผู้ไม่มีประสบการณ์สวมสิทธิ์งานก่อสร้าง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ รัฐอาจต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซม หรือชดเชยความเสียหายจากความบกพร่องในระบบ

รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุขสันติ์ นันทกุล ตัวแทนบริษัท ซุนวู คอนสตรัคชั่น แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมีชื่อเสียงด้านงานวางระบบรางรถไฟ สำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกง เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในการรับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ต่อ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยระบุว่า บริษัทได้ร่วมงานกับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “กิจการร่วมค้า ยูนิค-ซุนวู” ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มูลค่าก่อสร้าง 8,748,399,000 บาท และทำสัญญากับรถไฟฟ้า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551

ทั้งนี้ กลุ่มซุนวู มีประสบการณ์ในการก่อสร้างมานานกว่า 40 ปี โดยเฉพาะวิทยาการด้านระบบวางราง ทำให้กลุ่มยูนิคได้ชักชวนให้เข้าร่วมในลักษณะกิจการร่วมค้า โดยมีสัดส่วนร่วมค้าบริษัท ซุนวู ก่อสร้าง 15% และกลุ่มยูนิค 85% แต่มีข้อสงสัยมิชอบ เช่น ไม่มีขั้นตอน e-auction และทางกลุ่มยูนิค ได้ใช้ชื่อซุนวูเป็นข้ออ้าง เพื่อให้ครบคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูลยื่นแบบทีโออาร์

ทั้งนี้ หลังเซ็นสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ยูนิค ได้นำหนังสือมอบอำนาจของบริษัท ซุนวู ไปดำเนินการแต่งตั้งบริษัท เอ.เอส.แอสโซซีเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด เข้ามาทำงานระบบรางแทน บริษัท ซุนวู จึงทำหนังสือหลายฉบับแจ้งไปยังการรถไฟฯ เพื่อให้ระงับการก่อสร้าง เนื่องจากบริษัท ยูนิค นำระบบรางของบริษัทอื่นเข้ามาสวมสิทธิ์

ยอกจากนี้ ยังเคยทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปถึง นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น แต่ไม่ได้รับการชี้แจง หรือตอบกลับ การกระทำของการรถไฟฯ จึงถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปล่อยให้ผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้าดำเนินการ ทั้งที่ไม่ใช่คู่สัญญา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนกับผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และรัฐอาจต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซม หรือชดเชยความเสียหายจากความบกพร่องในระบบคมนาคม

ด้าน นายธาริต กล่าวว่า จากข้อร้องเรียนดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับกรณีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ดีเอสไอเคยรับดำเนินการสอบสวน จึงไม่น่าจะมีความซับซ้อน เบื้องต้น จะตรวจสอบรายละเอียดเอกสารขั้นตอนการทำสัญญา พร้อมขอตรวจสอบเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น