ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก 20 ปี ปรับเงิน 1.1 พันล้าน “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” อดีต กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี กับพวก ทำสัญญาแลกเปลี่ยนพันธบัตร กับไฟแนนซ์ต่างประเทศ ทำให้แบงก์บีบีซีเสียหายกว่า 1.2 พันล้าน ขณะที่เจ้าตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาในสภาพอิดโรยจากพิษโรคมะเร็ง
วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ ด.6173/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารบีบีซี, ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ และ น.ส.เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์, เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการสินทรัพย์กระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 354 และกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยจำเลยทั้งสามร่วมกับ นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องยักยอกทรัพย์บีบีซี มูลค่า 1,228,896,438 บาท จากการลงนามทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ธนบัตร ระหว่างบีบีซี กับบริษัท ดิเวลลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด เมื่อเดือน พ.ค.2538
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 เม.ย.50 ว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 33, 37-39 และ 311 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352-354 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษบทหนักสุดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทุจริตต่อหน้าที่ ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 20 ปี และให้ปรับ 1,157,244,186.28 บาท พร้อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซี จำนวน 589,622,043.04 บาท และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญามีคำพิพากษาแล้ว 5 สำนวนที่ให้จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 70 ปีด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีพยานหลายปาก ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของธนาคาร โจทก์ร่วมซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายบริหารเงินวิเทศธนกิจ และฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งดูแลการโอนหลักทรัพย์ และการชำระมูลค่าสินทรัพย์ เบิกความสอดคล้องรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็น กก.ผจก.ใหญ่ จำเลยที่ 2 เป็นรอง ผอ.ฝ่ายบริหารงานเงินและวิเทศธนกิจ ดูแลการลงทุนหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 3 เป็นรอง ผอ.ฝ่ายบริหารการเงินและวิเทศธนกิจ ดูแลการซื้อขายและหลักทรัพย์ในต่างประเทศของบีบีซี โจทก์ร่วม ซึ่งการทำสัญญา 2 ฉบับที่ให้มีโอนแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่เป็นพันธบัตรประเทศอาร์เจนตินา และ เวเนซุเอลา มูลค่ากว่า 56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่บีบีซี โจทก์ร่วม ทำการเมื่อวันที่ 16 พ.ค.38 นั้น มีจำเลยที่ 2-3 เป็นผู้ลงนามกระทำการ ขณะที่หลังจากทำสัญญาแล้วจะต้องมีการโอนหลักทรัพย์ตามที่ระบุในสัญญา 18 พ.ค.38 แต่ไม่มีการดำเนินการและบีบีซี โจทก์ร่วมไม่ได้รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือนตามที่ระบุในสัญญา โดยการทำสัญญานั้นจำเลยที่ 1 ไม่เคยนำโครงการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บีบีซี โจทก์ ให้พิจารณาตามที่ธนาคารแหงประเทศไทย (ธปท.) กำหนดหลักเกณฑ์ไว้
ขณะที่หลังจากมีการควบรวมบีบีซี เมื่อมีการติดตามทรัพย์สินในต่างประเทศของบีบีซี พบว่า ไม่เคยมีการโอนหลักทรัพย์จากการทำสัญญาพันธบัตรผ่านธนาคารที่ดูแลทรัพย์ของบีบีซี แต่ทราบว่า นายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษา นายเกริกเกียรติ กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี และจำเลยที่ 1 เปิดบริษัทเพื่อที่จะรับดูแลการโอนหลักทรัพย์ และยังพบการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และกระแสรายวันของกลุ่มจำเลยกับบุคคลอื่นด้วย ขณะเดียวกัน ยังพบว่า นายราเกซ ยังได้โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยที่ 2-3 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า สัญญาเป็นเอกสารเท็จนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 อ้างว่า ไม่เคยเจรจาทำสัญญานั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นถึงผู้บริหารลงนามแทนโจทก์ร่วมได้ และยังได้นำสัญญาให้จำเลยที่ 1 พิจารณาการกระทำแสดงให้เห็นว่าร่วมดำเนินกันเป็นขั้นตอนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ถือว่าคดีนี้เป็นสำนวนที่ 7 ที่ศาลมีคำพิพากษา ขณะที่ นายเกริกเกียรติ ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษามีสภาพอิดโรยอย่างมาก ภายหลังที่ต้องรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำคีโม