“จันทร์ส่องดาว” จันทร์นี้ ขอนำเสนอ พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผบก.อคฝ.) หรือผู้การอู๊ด หนึ่งนายตำรวจเคยอยู่ในทีมจับกุม พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ “ผู้พันตึ๋ง” ผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านายปรีณะ สีรัตนพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร คาโรงแรมรอยัลแปซิฟิก จนเป็นข่าวโด่งดังเมื่อ 10 ปี ก่อน และเมื่อลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ยังสามารถจับกุมผู้ต้องหาแนวกลุ่มก่อความไม่สงบตัวสำคัญได้อีกหลายคนเช่นกัน
พล.ต.ต.สมพงษ์ เกิดในค่ายจังหวัดทหารบกลพบุรี เป็นลูกคนที่ 8 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน และด้วยความที่พ่อและพี่น้องรับราชการเป็นทหารทั้งหมด จึงถูกปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยของทหารมาตั้งแต่เล็ก หลังจากจบชั้นประถมและมัธยมต้นที่โรงเรียนนารายณ์ศึกษา ผู้การอู๊ดก็อยากจะเป็นตำรวจ เพื่อความแตกต่างกับพี่น้องคนอื่นในครอบครัวที่เลือกจะเป็นทหารกันหมด จึงสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 24 จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน (นรต.) รุ่นที่ 40 จนจบปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า จนจบปริญญาโท
หลังจากจบหลักสูตรที่โรงเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว ผู้การอู๊ดก็เริ่มเข้ารับราชการเป็นตำรวจครั้งแรกเมื่อปี 30 ในตำแหน่ง รอง สว.สส.สภ.เมืองตรัง และย้ายมารับตำแหน่ง รอง สว.แผนกสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ บก.สปพ.บช.น.ในปี 34 จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายเวรผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ในปี 37 ผ่านไป 1 ปี ก็รับตำแหน่ง สวป.สภ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ผู้การอู๊ดก็ได้ย้ายไปรับตำแหน่ง สว.แผนก 3 กก.2 กองปราบปราม ก่อนจะขึ้นมารับตำแหน่ง รอง ผกก.2 กองปราบปรามในปี 42
ต่อมาในปี 45 ผู้การอู๊ดได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายเวร รอง ผบ.ตร. หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผกก.ฝ่ายปฏิบัติการที่ 2 ส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ก่อนจะย้ายมาเป็น ผกก.ฝอ.บก.ป.ในปี 48 และโยกมารับตำแหน่ง ผกก.5 บก.ป.ในปีถัดมา หลังจากนั้นในปี 50 ผู้การอู๊ด ก็ต้องลงไปรับตำแหน่งในพื้น 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นครั้งแรก โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผกก.สภ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ก่อนจะขึ้นเป็นรอง ผบก.ภ.จว.นราธิวาส ในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งหลังจากปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่นาน 3 ปี ก็ได้ย้ายกลับมาเป็น รอง ผบก.ส.2 บช.ส. จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบก.อคฝ. เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.สงพงษ์กล่าวถึงหน้าที่รับผิดชอบในปัจจุบันว่า มีอยู่ 2 ภารกิจหลัก คือ ภารกิจแรกเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการถวายอารักขาความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ส่วนภารกิจที่สองนั้นคือภารกิจควบคุมฝูงชน หากมีการชุมนุมหรือม็อบต่างๆ ขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ต้องขอทำความเข้าใจก่อน เพราะส่วนใหญ่จะเข้าใจ ตำรวจ ปจ.เป็นตำรวจที่เข้าไปปราบปรามม็อบ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ตำรวจควบคุมฝูงชนมีหน้าที่จัดการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันหรือคนไทยทะเลาะกันเอง
“ในส่วนนี้เราต้องฝึกตามหลักวิธีของสหประชาชาติ ฝึกตามหลักการ และกระทำอยู่ภายใต้กฎหมาย ภายใต้แผนกรกฎ 52 ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชากำชับมาโดยตลอด ทั้ง ผบ.ตร. และ ผบช.น.ก็ได้กำชับมาโดยว่าให้กระทำอย่างถูกต้องชอบธรรม และอยู่ในหลักเมตตาธรรม ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมก็มีหลายกลุ่ม หลายปัญหาทางเราก็พยายามจะเป็นคนกลางคอยดูแลไม่ให้มีมือที่สาม หรือใครเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย ตามวัตถุประสงค์ที่มีการตั้งหน่วยนี้ขึ้นมา” ผู้การอู๊ดกล่าว
ผู้การอู๊ดกล่าวถึงหลักในการทำงานของตัวเองว่า จะพยายามนึกถึงอุดมคติของตำรวจ และสิ่งสำคัญก็คือ นำเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” มาใช้ในการปฏิบัติงาน พอได้ลงไปชายแดนใต้ ก็นำพระราชดำรัสที่ในหลวงทรงพระราชทาน คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ในการปฏิบัติงานก็ปรากฏว่าได้ผล ได้ทั้งมวลชน ได้ทั้งผลการปฏิบัติงาน และได้ความเข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะไปอยู่หน่วยไหนก็จะนำหลักนี้มาใช้ได้หมด
สำหรับผลงานที่ผู้การอู๊ดภูมิใจมากที่สุดนั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน โดยผลงานช่วงที่อยู่กองปราบที่ภูมิใจคือ เป็นหนึ่งในทีมที่เข้าจับกุม “ผู้พันตึ๋ง” ผู้ต้องหาฆ่านายปรีณะ ลีรัตนพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพราะถือว่าทำตามหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน แต่ผลงานที่ตัวผู้การรู้สึกประทับใจที่สุดคือ การได้ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะช่วงนั้นต้องมีความพร้อมทุกสถานการณ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
“ตำรวจชายแดนใต้เป็นตำรวจที่น่าเห็นใจ เพราะตำรวจอาชีพจริงๆ ไม่มีเวลาจะพาครอบครัวไปเดินเที่ยวห้าง เดินออกจากโรงพักก็มีโอกาสถูกกระทำตลอดเวลา ภาวะความตึงเครียดของตำรวจใต้รวมถึงครอบครัวของเขาจึงมีสูง และเมื่อได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในชายแดนใต้แล้ว ก็รู้สึกประทับใจในความรัก ความสามัคคีของลูกน้อง ของผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน สิ่งสำคัญคือหากมีความสามัคคีกันแล้ว มีการประสานงานกันที่ดีระหว่างหน่วยแล้ว ก็จะทำให้ได้ผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งได้มวลชนด้วย” ผู้การอู๊ดกล่าว
ส่วนผลงานการจับกุมช่วงมี่ลงไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ชายแดนใต้นั้น ก็ไม่ได้น้อยไปกว่างานมวลชน เพราะได้ร่วมกับทีมงานหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ เข้าจับกุมแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้หลายคนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมนายอับอุลรอแม พีรีซี หัวหน้าอาเยาะห์ นายอิสมาแอ มะเซ็ง ผู้ต้องหาระดับแกนนำสั่งการกลุ่มกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือนายอับดุล รอซะ คาเดร์ ที่มีรางวัลสินบนนำจับถึง 2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีชุดปฏิบัติการ RKK จำนวนหลายสิบคนอีกด้วย
พล.ต.ต.สมพงษ์ยังกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้ประชาชนมอบตำรวจในแง่ลบว่า ต้องมองด้วยความเป็นธรรมว่าสิ่งที่ประชาชนสะท้อนออกมานั้น ตำรวจเป็นอย่างที่ว่าหรือไม่ และต้องยอมรับว่า ต้นทุนของตำรวจในสายตาของพี่น้องประชาชนนั้นต่ำ ก็เนื่องจากอาจจะมีตำรวจไม่ดีบางคน หรือส่วนน้อยไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน แต่ความจริงแล้วตำรวจที่ดีที่ยังไม่ปรากฏออกมาตามสื่อหรือตามสายตาพี่น้องประชาชนนั้นยังมีอีกมาก ตรงนี้ต้องให้กำลัง พยายามให้ตำรวจมีจุดยืนในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ต้องให้เป็นตำรวจที่ดี 100% แต่ของให้เป็นตำรวจที่มีคุณธรรม เพราะเมื่อมีคุณธรรมแล้วก็จะแยกแยะได้ว่าอะไรควรไม่ควร
“ผมอยากฝากทิ้งท้ายไปด้วยว่า สังคมจ้างตำรวจถูกไปหรือเปล่า เพราะตำรวจมีงานหลากหลายหน้าที่มาก เช่น งูเข้าบ้านก็แจ้งตำรวจ ผัวเมียตีกันยังแจ้งตำรวจ บางครั้งตำรวจก็ติดขัดเรื่องงบประมาณ เรื่องค่าตอบแทน บางครั้งพนักงานสอบสวนรับแจ้งเหตุ แล้วต้องเดินทางไปที่เกิดเหตุ แต่งบประมาณเรื่องค่าน้ำมันนั้นไม่พอ บางที่ให้งบประมาณค่าน้ำมันในการเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุวันละ 1 ราย แต่หากวันไหนมีการแจ้งเหตุเข้ามาเป็น 10 ราย พนักงานสอบสวนก็อาจจะต้องควักเนื้อเอง จึงอยากให้สังคมมาดูตรงนี้ด้วย เพราะหากทำให้ตำรวจมีรายได้ในการดำรงชีพได้อย่างมีเกียรติพอสมควร พวกเขาก็จะทำหน้าที่ได้ดี” ผบก.อคฝ.กล่าว และว่า “ส่วนพวกตำรวจที่สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนนั้น ก็ต้องดำเนินการตามวินัย ดำเนินคดีไป ไม่ต้องมาปกป้องกัน ถ้าตำรวจทำกฎหมายให้เป็นกฎหมายแล้ว ก็จะไม่มีใครกล้ากระทำผิด บ้านเมืองก็จะดีขึ้น”