อาถรรพณ์เพชรซาอุฯ ประหาร “ชลอ เกิดเทศ”
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ราวตีสองของวันที่ 1 ส.ค. 2537 มีผู้พบศพนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและบุรชายนาสันติ ศรีธนะขันฑ์ เจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ ภายในรถเบนซ์ บนถนนมิตรภาพ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยเบื้องต้นสถาบันนิติเวชวิทยา ที่เป็นผู้ชำนาญการด้านการชันสูตรพลิกศพและตรวจหาพยานหลักฐานต่างๆ ได้สรุปว่า การเสียชีวิตของสองแม่ลูกมาจากอุบัติเหตุ ถูกรถบรรทุก 10 ล้อที่วิ่งสวนทางมาชน
“ศรีธนะขัณฑ์” ติดบ่วงอาถรรพณ์
การเสียชีวิตของนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ไม่ได้เป็นการเสียชีวิตเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม เพราะทั้งสองแม่ลูกในขณะนั้น เป็นภรรยาและบุตรของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “อาถรรพณ์เพชรซาอุฯ”
หลังจากที่ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง หนุ่มลำปางที่ไปขุดทองขายแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้กลับมาพร้อมกับเครื่องเพชรอลังการของราชวงศ์ “ไฟซาล” กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย โดยไม่มีใครล่วงรู้การฉกเพชรครั้งมโหฬารครั้งนั้น แม้แต่ราชวงศ์แห่งซาอุดิอารเบียเอง
เมื่อ “เกรียงไกร” กลับมายังบ้านเกิด เงินที่ไปค้าแรงงานมาได้ ก็ย่อมหร่อยหรอลงไปทุกวัน จนวันหนึ่ง เขาตัดสินใจ นำเพชรที่ขโมยมาเม็ดเล็กๆ ไปขายให้กับร้านเพชรในตัวจังหวัดลำปาง และถัดมาจากนั้นไม่นาน “เกรียงไกร” ก็ทยอยนำเพชรน้ำงามไปขายให้เจ้าประจำเรื่อยมา
เจ้าของร้านเพชรที่ลำปาง โทรศัพท์สายตรงลงมาหา “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” ในฐานะพ่อค้าเพชรรายใหญ่ที่คุ้นเคยกันที่กรุงเทพฯ ทันที พร้อมเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่ามีเด็กหนุ่มบ้านนอกเอาเพชรน้ำงามมาขายให้เรื่อย เชื่อว่ายังมีเพชรน้ำงามอีกจำนวนไม่น้อย ขอให้รีบขึ้นมาดู
ด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นกับคำพูดที่เจ้าของร้านเพชรเมืองลำปางย้ำนักย้ำหนาว่า “น้ำงาม” จริงๆ ทำให้ “สันติ” ต้องบึ่งขึ้นเหนื่อในทันที จากนั้นไม่นานด้วยการประสานจากเจ้าของร้านเพชรในลำปาง ก็มีการดำเนินธุรกิจกันโดยตรงระหว่าง “เกรียงไกร” กับ “สันติ” ในฐานะผู้ขาย และผู้ซื้ออย่างเงียบๆ
“ชลอ เกิดเทศ” วีรบุรุษในคราบโจร
ครั้นต่อมา ข่าวการโจรกรรมเพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียถูกเผยแพร่ออกไป และรัฐบาลซาอุฯระบุว่า คนร้ายเป็นคนไทยที่เข้าไปทำงานในพระราชวังเป็นผู้โจรกรรม อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น คือพล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ จึงสั่งการให้ “สิงห์เหนือ” พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ผู้ช่ำชองทั้งพื้นที่ และตัวบุคคลในภาคเหนือ รับผิดชอบการติดตามตัว “วายร้าย นักโจรกรรมบันลือโลก” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นชาวลำปาง นาม “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ทันที
กว่า “สิงห์เหนือ” อย่าง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ จะลากคอตัว “เกรียงไกร” ออกมาได้ เด็กบ้านนอกที่หลายคนบอกว่า “ซื่อบื้อ” ผู้นี้ ก็เล่นเอาล่อเอาเถิดด้วยการหลบหนี จน พล.ต.ท.ชลอและทีมงานเองถึงกับหัวปักหัวปำ แต่ด้วยเชาว์ปัญญาของ พล.ต.ท.ชลอเอง ก็ทำให้ในที่สุดสามารถจับกุม “เกรียงไกร” ไว้ได้ ด้วยฝีมือของ พล.ต.ท.เจตนากร นภีตะภัฎ ที่ขณะนั้นมียศเพียง พ.ต.ท. ผู้ถีบประตูห้องเข้าไปคร่อมทับร่าง “เกรียงไกร” ไว้จนสิ้นฤทธิ์
เมื่อได้ตัวเกรียงไกรมาแล้ว ทุกอย่างก็อยู่ในมือ คำสารภาพของเกรียงไกรพุ่งเป้าไปที่ “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” ในฐานะ “ผู้ซื้อ” เพชรน้ำงามของราชวงศ์ไป และไม่นาน “สันติ” ก็ถูกเรียกมาเค้นสอบ โดยตำรวจมีเป้าหมายที่ทางการซาอุฯ สั่งตรงมา นั่นคือ การตามหาเพชรประจำราชวงศ์ “บลูไดมอนด์” เม็ดใหญ่เม็ดเดียวในโลกที่มีการทำตำหนิไว้ด้วย “แสงอินฟราเรด” อยู่ใจกลางของเม็ดเพชรด้วย
ไม่มีใครรู้ว่า พล.ต.ท.ชลอ กับสันติพูดคุยกันอย่างไร ในที่สุดก็มีข่าวใหญ่ โดย พล.ต.ท.ชลอ เปิดแถลงข่าว การตามยึดของกลางพชรซาอุฯ ด้วยโต๊ะยาวเหยียดสำหรับวางของกลาง จากนั้นมีการส่งมอบเพชรของกลางคืนให้ราชวงศ์ซาอุฯ กระทั่งกลับมามีข่าวใหญ่อีกครั้งว่า เพชรของกลางที่ตำรวจไทยส่งคืนกลับไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพชรปลอม!
ปฏิบัติการตามล่าตัว “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” จึงอุบัติขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน เพราะ “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” ต้องหนีหัวซุกหัวซุน จน พล.ต.ท.ชลอ จนปัญญา จึงหันไปใช้วิธีการใต้ดิน นั่นคือปฏิบัติการ “อุ้มลูก-เมีย” เหยื่อไปเป็นตัวประกัน เพื่อล่อให้ “สันติ” โผล่ออกมา ในขณะนั้น นางดาราวดี และ ด.ช.เสรี จึงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจากหน้าบ้านพักย่านตลิ่งชัน จนกระทั่งตีสองวันที่ 1 ส.ค.2537 จึงมีผู้ไปพบสองแม่ลูกภายในรถเบนซ์ริมถนนมิตรภาพ เขตอ.แก่งคอย จ.สระบุรี แต่เป็นสองแม่ลูกที่ไร้ลมหายใจไปแล้ว
ตำรวจชุดคลี่คลายคดีสองแม่ลูก ภายใต้การบังคับบัญชาของพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองอธิบดีกรมตำรวจ (รอง อ.ตร.) ในขณะนั้น กับ พล.ต.ต.วรรณรัตน์ คชรัตน์ ผบก.ป. สั่งให้มีการสืบสวนสอบสวนการเสียชีวิตของสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ขึ้นมาใหม่ แม้สถาบันนิติเวชวิทยาในขณะนั้นจะรับรองการเสียชีวิตของสองแม่ลูกว่าเป็นอุบัติเหตุรถชนก็ตาม ซึ่งครั้งนั้น ถือเป็นความตกต่ำสุดขีดของสถาบันนิเวชวิทยาของตำรวจอย่างหนักที่สุด
“ป้ายราคาห่อผ้าอนามัย” เบาะแสลากคอคนร้าย
ชุดคลี่คลายคดี เริ่มต้นขุดคุ้ยจากหลักฐานภายในรถเบนซ์ของสองแม่ลูก จนกระทั่งพบเบาะแสสำคัญ คือ “ป้ายราคา” ห่อผ้าอนามัยที่อยู่ในรถ บ่งบอกว่าถูกซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี ในขณะนั้น ชุดคลี่คลายคดีไม่รอช้า จึงลงพื้นที่จนกระทั่งพบ “กวีวิลล่า” ใน อ.สระแก้ว อันเป็นสถานที่คนร้ายนำตัวสองแม่ลูกไปกักขังไว้และสังหารจนเสียชีวิต ซึ่งภายหลังตำรวจจับกุมผู้ต้องหารวม 9 คน ประกอบด้วย พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ, พ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ อดีตสว.สส. สภ.อ.เมือง ปราจีนบุรี (ขณะนั้น), จ.ส.ต.ยงค์ กล่ำนาค อดีตผบ.หมู่ สภ.อ.เมืองปราจีนบุรี (เสียชีวิต), ด.ต.สมนึก เวชศรี อดีตผบ.หมู่ สภ.อ.สระแก้ว, นายวีระชัย พลทิแสง, นายนิคม หรือป๊อด มนต์ศิริ, นายสำราญ แจ่มจำรัส หรือฉายาว่า พงษ์ ปากกว้าง, นายสมหมาย พุดเทศ (เสียชีวิต) และนายสุภาพ ช่างสาย (เสียชีวิต) โดยภายหลังพนักงานสอบสวนส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นจำเลยที่ 1-9 ตามลำดับ
ในคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2552 ที่ผ่านมาระบุพฤติกรรมของคนร้ายไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค.37 เวลา 08.00 น. พ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ อดีตสว.สส. สภ.อ.เมือง ปราจีนบุรี (จำเลยที่ 2) และนายวีระชัย พลทิแสง, นายนิคม หรือป๊อด มนต์ศิริ, นายสำราญ แจ่มจำรัส หรือฉายาว่า พงษ์ ปากกว้าง, นายสมหมาย พุดเทศ (เสียชีวิต) จำเลยที่ 5-8 ได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายทั้งสอง ขณะขับรถยนต์ออกจากบ้านย่านตลิ่งชันไปกักขังที่ กวีวิลล่า จ.สระแก้ว แล้ว จำเลยที่ 2, 6 และ 7 ได้ร่วมกันเรียกค่าไถ่จากโจทก์ร่วม ได้เงินไปจำนวน 2.5 ล้าน โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เวลา 02.00 น.ได้พบผู้ตายทั้งสองภายในรถยนต์ซึ่งถูกเฉี่ยวชนที่ถนนมิตรภาพ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ฆ่า “สองแม่ลูก” อย่างเหี้ยมโหด
คดีนี้ โจทก์มีแพทย์ผู้ชันสูตรรวมทั้งผู้ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุรถยนต์ของผู้ตายถูกชนและพยายามเข้าไปช่วย เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า สภาพรถยนต์ที่ถูกเชี่ยวชน มีเพียงกันชนด้านหน้าขวาที่ถูกเชี่ยวชนจนห้อยลงมา เป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ส่วนภายในรถก็ไม่ได้เกิดความเสียหาย สภาพศพนางดาราวดีนั่งก้มหัวประชิดเข่า ส่วน ด.ช.เสรี สภาพนอนหงายที่เบาะซ้ายข้างคนขับ โดยไม่มีอวัยวะใดกระแทกกับรถ อีกทั้งตำแหน่งที่รถบรรทุกมาชนรถยนต์ของนางดาราวดีมาในทิศทางเดียวไม่ได้วิ่งสวนทาง ที่จะมีแรงปะทะมาก หากเกิดการเฉี่ยวชน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายทั้งสองเสียชีวิตได้ และจากผลการชันสูตรศพนางดาราวดี พบว่ามีบาดแผล 7 แห่ง ที่กะโหลกบวมช้ำ เลือดคลั่งในสมอง ผิวหนังฉีก ถลอกช้ำกระดูกหักหลายแห่งเช่นเดียวกับ ด.ช.เสรี ที่มีบาดแผล 3 แห่ง ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าทั้งสองเสียชีวิตเนื่องจากสมองบวมเฉียบพลัน ซึ่งไม่น่าจะเกิดจากอุบัติเหตุเล็กน้อยได้
ส่วนแผลที่กกหูของนางดาราวดี คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ทดลองนำผู้หญิงซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับนางดาราวดีไปนั่งที่เบาะคนขับ และให้พยายามใช้ศีรษะด้านขวาไปแตะที่แกนพวงมาลัยว่าจะทำให้เกิดบาดแผลได้หรือไม่ ปรากฎว่าหญิงสาวดังกล่าวไม่สามารถนำศีรษะเข้าไปใต้แกนพวงมาลัยได้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อ้างความเห็นของ พล.ต.ต.ทัศนะ สุวรรณจูฑะ อดีต ผบก.นิติเวชตำรวจ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 37 ว่าผู้ตายทั้งสองตายด้วยอุบัติเหตุไม่ใช่การฆาตกรรม พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงแน่นหนารับฟังได้ว่า การเสียชีวิตของผู้ตายทั้งสองเกิดจากการฆาตกรรมด้วยของแข็งไม่มีคม โดยจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันกระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
นอกจากนี้ โจทก์ยังมีพยานหลักฐานซึ่งเป็นคำให้การของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนและรายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 และ 2 โดยจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนติดตามหาเพชรที่หายไป โดยจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามหาตัวนายสันติ โจทก์ร่วม แต่ไม่พบกระทั่งจำเลยที่ 1 ทราบข่าวของโจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 กับพวก ไปจับตัวผู้ตายทั้งสองมากักขัง และจำเลยที่ 1 ยังสั่งให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปเรียกค่าไถ่เพื่อเป็นการตบตาในการจับตัวผู้ตายทั้งสอง เพื่อให้โจทก์ร่วมออกมาเพื่อที่จะได้นำตัวไปซักถามเรื่องการซื้อขายเพชร แต่เมื่อไม่เป็นไปตามแผนและจำเลยที่ 1 กลัวว่านายสันติ โจทก์ร่วมจะไปร้องเรียนกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) จึงสั่งให้จำเลยที่ 2 กับพวกฆ่าผู้ตายทั้งสอง และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 37 เวลา 10.00 น. จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาสอบถามจำเลยที่ 2 ว่าเรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ตอบว่าเรียบร้อย ซึ่งคำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นการให้การเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับตน ไม่ได้เป็นการซัดทอดจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ยกฎีกาขึ้นมาอ้าง ศาลจึงนำคำให้การของจำเลยที่ 2 มารับฟังประกอบกับพยานแวดล้อมอื่นที่ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น มาลงโทษจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้จะได้รับแต่งตั้งให้ติดตามหาเพชร ซึ่งก็ได้ติดตามหาเพชรของกลางคืนแล้วบางส่วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนหาเพชรอีก จึงไม่มีความผิดตาม ป.อาญา ม.157
ประหารชีวิต! ปิดฉาก 15 ปีคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูก
ศาลฎีกาเห็นว่าในการปฎิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาเพชร จำเลยที่ 1 ได้เคยทำหนังสือถึงอุปทูตประเทศซาอุดิอาระเบีย ว่าจะติดตามหาเพชรบูลไดมอนด์ เพชรประจำตระกูลเจ้าชายไฟซาล คืนมาให้ได้ภายใน 15 วัน หลังจากที่นำเพชรส่วนแรกคืนไปแล้ว จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ยังคงติดตามหาเพชรอยู่ โดยสั่งการให้จำเลยที่ 2 กับพวกจับกุมตัวผู้ตายเพื่อหวังให้ได้ตัวโจทก์ร่วมมาซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องเพชร ขณะที่นายสันติ โจทก์ร่วมก็เคยเบิกความว่า ก่อนที่ผู้ตายทั้งสองจะถูกจับตัวไป จำเลยที่ 1 เคยจับตัวโจทก์ร่วมไปซักถาม ซึ่งโจทก์ร่วมเคยบอกไปแล้วว่าได้ขายเพชรทั้งหมดไปแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1
เป็นเวลากว่า 15 ปี ที่คดีนี้ ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ บ้างก็ว่า นี้เป็นเพราะอาถรรพ์ของเพชรซาอุฯ ที่คนริเริ่ม อย่าง “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ถูกอาถรรพณ์เล่นงาน แม้จะติดคุกเพียง 3 ปี แต่ปัจจุบัน ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ได้มีความสุขจากทรัพย์สินที่ตัวเองขโมยมา นอกจากนี้ ผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเพชรของราชวงศ์ไฟซาล ต่างก็มีอันเป็นไปต่างๆนานา สุดท้ายแม้แต่ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ที่หลงกับความงามของเพชรบลูไดมอนด์ ก็ต้องปิดฉากชีวิตด้วยคำพากษาของศาลที่ให้ประหารชีวิตสถานเดียว