ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งคดีอัยการร้อง “อัลรู ไวรี่" นักธุรกิจซาอุฯ เป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อประโยชน์ต่อการจัดการทรัพย์มรดก 4 พ.ย.นี้ 09.00 น.
วันนี้ (19 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.40 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 603 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลนัดไต่สวนพยานคดีหมายเลขดำ ที่ ด.1268/2552 ที่ นายวิรัช สุวัธนะเชาว์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากนายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ หายตัวไปเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ตามกฎหมายกำหนด โดย นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ และภรรยา ได้เข้ามาประกอบธุรกิจที่ประเทศไทย เมื่อปี 2528 แต่เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2533 นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ ได้หายตัวไปหลังเดินทางออกจากบ้านพัก โดยภรรยาของ นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ ประสานขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้ นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ เป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อประโยชน์ต่อการจัดการทรัพย์มรดก
โดยวันนี้ อัยการได้นำพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว คือ พ.ต.ท.เบญพล จันทวรรณ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษเฉพาะด้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พ.ต.ท.เบญพล เบิกความตามคำร้องที่ยื่นต่อศาล สรุปว่า นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ และภรรยา ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2528 และได้ประกอบธุรกิจด้านการจัดส่งแรงงานไปทำงานยังประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยเมื่อเช้าวันที่ 12 ก.พ.2533 นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ เดินทางออกจากบ้าน โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2533 ได้พบรถยนต์ของ นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ จอดอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และ นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ ได้หายตัวไป โดยไม่ได้รับการติดต่อเป็นเวลา 19 ปีเศษ ซึ่งดีเอสไอได้รับโอนคดีการติดตามการหายตัวไปของนายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ โดยสอบถามสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้ว ไม่ปรากฏว่า นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ เดินทางออกจากประเทศไทย โดยผ่านช่องทาง ตม.รวมทั้งได้สอบถามจากสถานทูตซาอุดีอาระเบีย ก็ไม่ได้รับการติดต่อจาก นายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ ภายหลังไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 4 พ.ย.เวลา 09.00 น.
นายวิรัช สุวัธนะเชาว์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวว่า หากศาลจะมีคำสั่งไม่ให้นายนายโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ เป็นบุคคลสาบสูญ ตามขั้นตอนของกฎหมายก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ทั้งนี้ การจะอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่ ก็จะต้องสอบถามตัวความก่อน
ด้าน พ.ต.ท.เบญพล กล่าวว่า การยื่นคำร้องดีเอสไอได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นคนละกรณีกับการดำเนินคดีอาญาในคดีการหายตัวไปของโมฮัมหมัด อัลรู ไวรี่ ซึ่งทราบว่า ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาพบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัลรู ไวรี่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อประมาณปี 2533 พร้อมกับคดีสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ 3 ราย คือ นายอัลลุเลาะห์ เอ อัล เบซารีห์ เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าศรีวัฒนา อพาร์ตเม้นต์ ถนนเย็นอากาศ เขตสาธร โดยก่อนหน้านั้น ประมาณ 10 นาที ได้มีคนร้ายอีกกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธปืนยิง นายฟาฮัด เอแซด อัลบาฮลี เลขานุการโท และ นายอาหะหมัด เอ.อัลชาอีพ ผู้ช่วยเลขานุการเสียชีวิต โดยทั้งสองคดีเป็นเรื่องกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้รับคดีทั้งสองคดีมาเป็นคดีพิเศษ พร้อมกับสอบสวนเรื่องนี้ และมีการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และพยานบุคคลปากใดให้การอ้างอิงได้ว่า นายอัลรู ไวรี่ เสียชีวิตหรือไม่
ดังนั้น ดีเอสไอจำเป็นต้องสอบพยานที่เป็นญาติ พี่น้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบสำนวนคดี ก่อนจะนำมาสรุปสำนวนได้ว่านายอัลรู ไวรี่ เสียชีวิตจริง เพราะทางการประเทศซาอุฯ ต้องการความชัดเจนทางคดีจากประเทศไทย ก่อนจะคดีจะหมดอายุความ 20 ปี ในปี พ.ศ.2553