xs
xsm
sm
md
lg

ยกคำร้องขอสั่ง “อัลรูไวรี่” สาบสูญ รอหารือดีเอสไอจ่ออุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายโมฮัมหมัด อัล-รู  ไวรี่  นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ยกคำร้องอัยการ ขอสั่ง “อัล-รู ไวรี่” นักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย เป็นบุคคลสูญหาย หลังหายตัวลึกลับตั้งแต่ปี 33 “วิรัช” อัยการเจ้าของสำนวน เผยรอคัดคำสั่งภายใน 1 สัปดาห์ หารือดีเอสไออุทธรณ์หรือไม่ หากอุทธรณ์ต้องยื่นก่อน 3 ธ.ค.

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 603 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 เวลา 09.30 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง คดีหมายเลขดำที่ ด.1268/2552 ที่นายวิรัช สุวัธนะเชาว์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายโมฮัมหมัด อัล-รูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 เนื่องจากนายโมฮัมหมัด อัล-รูไวรี หายตัวไปเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ตามกฎหมายกำหนด โดยนายโมฮัมหมัด อัล-รูไวรี่ และภรรยาได้เข้าประกอบธุรกิจที่ประเทศไทยเมื่อปี 2528 แต่เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2533 นายโมฮัมหมัด อัล-รู ไวรี่ ได้หายตัวไปหลังเดินทางออกจากบ้านพัก โดยภรรยาของนายโมฮัมหมัด อัล-รูไวรี่ ประสานขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้นายโมฮัมหมัด อัล-รูไวรี่ เป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อไปใช้ประโยชน์ต่อการจัดการทรัพย์มรดก

โดย นายวิรัช สุวัธนะเชาว์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2 กล่าวว่า หลังจากนี้จะรอคัดคำสั่งศาลฉบับเต็ม ซึ่งจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อดูเหตุผลที่ศาลยกคำร้อง และจะต้องแจ้งรายละเอียดเหตุผลและคำสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทราบอีกครั้ง เพื่อจะพิจารณาว่า ดีเอสไอ ประสงค์ที่จะให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งการอุทธรณ์จะมีเวลา 1 เดือน หากจะยื่นอุทธรณ์ก็ต้องดำเนินการก่อนจะครบกำหนดวันที่ 3 ธ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตนจะได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอทราบแล้วว่า ศาลยกคำร้อง และหลังจากสัปดาห์หน้าจะได้หารือกับดีเอสไอว่าจะมีความเห็นอย่างไรกับการยื่นอุทธรณ์ ส่วนกระบวนการแจ้งคำสั่งศาลให้ภรรยาของนายอัลรูไวรี่ทราบนั้น เข้าใจว่าดีเอสไอคงจะได้ประสานสถานทูตแจ้งข้อมูลต่อไป

ทั้งนี้ นายวิรัชกล่าวย้ำว่า การที่ศาลมีคำสั่งยกร้องถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานและมีคำสั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัล-รูไวรี่ ถูกอุ้มหาย ไปเมื่อประมาณปี 2533 พร้อมกับคดีสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ โดยทั้งสองคดีเป็นเรื่องกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้รับคดีทั้งสองคดีมาเป็นคดีพิเศษ พร้อมกับสอบสวนเรื่องนี้ และมีการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และพยานบุคคลปากใดให้การอ้างอิงได้ว่านายอัล-รูไวรี่ เสียชีวิตหรือไม่ ดังนั้น ดีเอสไอจำเป็นต้องสอบพยานที่เป็นญาติ พี่น้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบสำนวนคดี ก่อนจะนำมาสรุปสำนวนได้ว่านายอัล-รูไวรี่ เสียชีวิตจริง เพราะทางการประเทศซาอุฯ ต้องการความชัดเจนทางคดีจากประเทศไทย ก่อนจะครบ 20 ปีคดีจะหมดอายุความลงในปี 2553

ทางด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ดีเอสไอยังรอให้พนักงานอัยการไปยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำสั่งศาล เพื่อนำเหตุผลของศาลมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นทราบเพียงว่าศาลยกคำร้องไม่สั่งให้นายอัลลูไวรี่เป็นบุคคลสาบสูญ เพราะหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอว่านายอัลลูไวรี่หายตัวไปจากราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ตาม คดีร้องขอให้เป็นบุคคลสาบสูญนั้นเป็นคดีทางแพ่ง แยกส่วนจากคดีอาญา จึงไม่มีผลผูกพันกับคดีการหายตัวของนายอัลลูไวรี่ ที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 5 คนมารับทราบข้อกล่าวหา แต่เมื่อศาลยกคำร้องคดีขอให้นายอัลลูไวรี่เป็นบุคคลสาบสูญ ตนจึงจำเป็นต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของสำนวนคดีอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อผิดพลาดในกรณีที่ต้องสั่งฟ้องคดี

สำหรับรายละเอียดคำสั่งดังกล่าวใจความว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า วันที่ 12 ก.พ.33 นายอัล รูไวรี่ ขับรถหมายเลขทะเบียน 3 ข 9867 กทม. ออกจากบ้านไปทำงานเวลาบ่ายสามโมง แล้วหายตัวไป ต่อมาทางการซาอุฯแจ้งความกับสน.ทุ่งมหาเมฆ ตำรวจได้ออกสืบสวนตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ไม่พบ จนวันที่ 15 ก.พ.33 ได้พบรถยนต์จอดอยู่ที่ลานจอดรถ รพ.กรุงเทพคริสเตียน แต่ไม่พบ นายอัล รูไวรี่ ตำรวจได้สอบถาม นางจามารี ซึ่งเป็นญาติก็ไม่ทราบ และได้เดินทางกลับประเทศซาอุฯ ตำรวจจึงส่งรูปถ่ายพร้อมตำหนิรูปพรรณ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีคำสั่งให้สืบหาตัวแต่ก็ไม่พบ ต่อมาตำรวจได้โอนเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งคณะทำงาน ทำการสืบสวนก็ยังไม่พบตัวนายอัล รูไวรี่ และทั้งที่ยังไม่มีบุคคลใดทราบว่านายอัล รูไวรี่ อยู่ที่ใดเป็นเวลา 19 ปีนั้น เห็นว่า พ.ต.ท.เบญจพล จันทวรรณ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เบิกความลอย ๆ เพียงลำพังว่า นายอัล รูไวรี่ เข้ามาประกอบธุรกิจ และพักอาศัยในประเทศไทยเมื่อปี 2528 แล้วหายตัวไป เมื่อ 13 ก.พ. 33 ซึ่งพยานผู้ร้องเบิกความว่า ทราบเรื่องนายอัล รูไวรี่ หายตัวไป

จากการสืบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับโอนเรื่องดังกล่าวมาจากกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มิได้เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ในวันที่ นายอัล รูไวรี่ หายตัวไปคำเบิกความเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย และมิได้มีการนำญาติ ภรรยา หรือเพื่อน ของนายอัล รูไวรี่ มาเบิกความว่านายอัล รูไวรี่ หายตัวไป และไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย อันจะถือได้ว่า นายอัล รูไวรี่ หายไปจากภูมิลำเนา หรือ ถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครทราบแน่ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ อีกทั้งยังบรรยายคำร้องว่า นางจามารี ภรรยา นายอัล รูไวรี่ สูญหายไปแต่พยานกลับเบิกความว่า นางจามารี กลับประเทศซาอุฯไม่สามารถติดต่อได้ โดยไม่ปรากฏว่า นางจามารี ได้เสียชีวิตหรือสูญหายไปแต่อย่างใด พยานผู้ร้องจึงเบิกความลอย ๆ ว่า การสืบสวนไม่พบตัวนายอัล รูไวรี่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งว่า นายอัล รูไวรี่ ไม่ได้เดินทางออกจากประเทศไทย โดยช่องทางตรวจคนเข้าเมือง สถานฑูตซาอุฯ ตรวจสอบแล้วไม่พบว่า นายอัล รูไวรี่ เดินทางกลับประเทศซาอุฯ และไม่มีใครพบเห็นเขาอีก ทั้งหมดไม่มีพยานมาเบิกความสนับสนุนโดยเฉพาะพยานเอกสาร รายงานการเดินทาง จึงเป็นคำเบิกความที่เลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ จึงฟังไม่ได้ว่า นายอัล รูไวรี่ หายไปจากภูมิลำเนา โดยไม่มีใครรู้แน่ว่านายอัล รูไวรี่ มีชีวิตอยู่หรือไม่ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น