รองปลัดยุติธรรม เตรียมเรียก “ร.ต.อ.เฉลิม-พล.ต.มนูญกฤต” เข้าให้ข้อมูลเงินบริจาคทีพีไอ 258 ล้านบาท รั่วไหลจากสำนวนของ DSI หรือไม่ ด้าน “พ.ต.อ.สุชาติ” โต้ มท.3 ยันส่งสำนวนให้ กกต.ทำตามขั้นตอน เพราะเป็นความผิดกฎหมายพรรคการเมือง
วานนี้ (29 มี.ค.) นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานสอบตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะให้กระทรวงยุติธรรมออกหนังสือประสานไปยัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภา ที่มีชื่อปรากฏและเกี่ยวข้องกับเรื่อง โดยจะเชิญมาสอบถามว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร นอกจากนี้จำเป็นต้องเรียก พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนเรื่องเงินบริจาค 258 ล้าน มาสอบถามเช่นกัน แต่ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวต้องมีหลักฐานพิสูจน์ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลอย่างไร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะรูปแบบการทำงานเป็นคณะพนักงานสอบสวน ไม่ใช่มีเพียงบุคคลเดียว
“กรณีดังกล่าวดูเหมือนหลายคนจะมีธงในใจแล้วว่าข้อมูลรั่วแน่นอน ซึ่งนั้นเป็นนามธรรม ความรู้สึกว่าต้องเป็นอย่างนั้น แต่ผมต้องทำหน้าที่พิสูจน์ให้เห็นว่า มันรั่วต้องไหน ใครเป็นคนทำให้รั่ว ซึ่งยอมรับว่ายากไม่มีใครยอมรับว่าเอาข้อมูลไปให้ใคร สำหรับชั้นความลับทางราชการ โดยปกติพนักงานสอบสวนจะเห็นข้อมูลกันทั้งนั้น อีกอย่างพนักงานสอบสวนก็มีหลายคน ถ้าจำเป็นจริงๆ อาจจะต้องเรียกว่าสอบถามทุกคน” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวถึงกรณีนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ออกมาตั้งข้อสังเกตุการส่งสำนวนเรื่องเงินบริจาค 258 ล้านบาทของดีเอสไอ ไปให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) อาจเป็นการทำหน้าที่โดยมิชอบว่า คดีเรื่องบริจาคเงินของบริษัท ทีพีไอ เข้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนละส่วนกับสำนวนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ของบริษัททีพีไอ ที่มีการยักยอก ถ่ายโอนทรัพย์สิน เพราะสำนวนที่ส่งให้ กกต.เป็นความผิดเกี่ยวข้องกับกฎหมายพรรคการเมือง ที่ดีเอสไอไม่มีอำนาจหน้าที่ เนื่องจาก พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่ใช่กฎหมายตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ จึงต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้กกต.พิจารณา แต่ส่วนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้นดีเอสไอได้แยกสำนวนการสอบสวนเพราะเป็นคามผิดตามกฎหมายของดีเอสไอ ซึ่งขั้นตอนแตกต่างกัน เหมือนคดีฮั้วประมูล ถ้าพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องดีเอสไอก็ส่งสำนวนไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)