xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย! กดบัตรเครติด-บัตรเอทีเอ็ม ระวังสูญเงิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แก๊งปลอมบัตรเครดิตเป็นอีกอาชญากรรมข้ามชาติอย่างหนึ่งที่นับวันจะยิ่งทวีปัญหามากขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาแถลงข่าวแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง

โดย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า ดีเอสไอได้เข้าไปตรวจสอบเครือข่ายปลอมบัตรเครดิตมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งพบขณะนี้มีเครือข่ายปลอมบัตรเครดิต 10-20 แก๊งที่ยังลอยนวลไม่ถูกจับกุม ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวยุโรปกลาง ร่วมมือกับชาวมาเลเซียและชาวไทย ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อคัดลอกข้อมูลจากบัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า อุปกรณ์ที่ขบวนการปลอมบัตรเครดิตนำมาติดตั้งที่ตู้เอทีเอ็มนั้นรุ่นใหม่จะเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากประเทศสเปน ที่ในยุคแรกจะใช้เป็นเครื่องสกิมเมอร์ที่มีไว้สำหรับคัดลอกข้อมูลของบัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม และใช้คู่กับการติดตั้งกล้องขนาดเล็กเพื่อแอบดูรหัสบัตร จากนั้นวิวัฒนาการมาเป็นอุปกรณ์สุดไฮเทคที่ผลิตจากประเทศสเปน ดูผิวเผินชวนนึกได้ว่าเป็นเพียงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งของตู้เอทีเอ็มไม่มีสิ่งใดบอกเหตุผิดปกติ เพราะมีสีและขนาดใกล้เคียงกับอุปกรณ์กับตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคารทั่วโลก ส่วนการติดตั้งกล้องเพื่อแอบดูรหัสบัตรนั้นจากเดิมที่ติดตั้งกล้องขนาดเล็กอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันกลับติดตั้งกล้องที่เล็กลงไปอีก

“สิ่งที่จะบอกได้แน่นอนอย่างหนึ่ง คือ แก๊งปลอมบัตรเครดิตนั้นไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา เพราะผู้ที่จะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ นี้ได้แน่นอนว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีไม่น้อยเลยทีเดียว และเครือข่ายเหล่านี้ก็มักหลบเลี่ยงการจับกุมด้วยการเก็บข้อมูลจากประเทศหนึ่งและนำไปใช้กับอีกประเทศหนึ่ง เช่นติดตั้งอุปกรณ์ในประเทศไทยเก็บข้อมูลและปลอมแปลงบัตรในประเทศไทย แต่นำบัตรไปใช้ยังต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เจ้าตัวผู้เสียหายไม่รู้เรื่องหรือกว่าจะรู้เรื่องก็สูญเงินไปเป็นจำนวนมากแล้ว” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าว

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า อุปกรณ์ที่นำไปติดตั้งนั้นส่วนใหญ่จะติดตั้งกับตู้เอทีเอ็มในจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น ตามตู้สาขาหน้าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น โลตัสเอ็กซ์เพรส สถานีบริการน้ำมัน และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพราะเมื่อประชาชนนำบัตรไปกดเงินจะไม่ค่อยมีเวลาสังเกตอะไรมากนัก อีกทั้งวิวัฒนาการของอุปกรณ์ยังทำให้สังเกตุได้ยากมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นวิธีที่ป้องกันการตกเป็นเหยื่อประชาชนจะต้องคอยสังเกตว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งที่ตู้เอทีเอ็มมีอะไรแปลกปลอมมาหรือไม่ มีกล้องติดอยู่หรือไม่ แต่ทางที่ดีที่สุด คือ การเลือกตู้เอทีเอ็มที่ติดตั้งบริเวณหน้าธนาคารนั้นๆ จะปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ ทางธนาคารเองก็ควรหมั่นส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบตู้เอทีเอ็มเป็นประจำว่ามีอุปกรณ์ใดแปลกปลอมหรือไม่ด้วย


“อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่จะให้การปราบปรามจับกุมแก๊งปลอมบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็มให้หมดไปนั้น เป็นไปได้ยากเนื่องจากเมื่อเครือข่ายใดถูกจับกุมไปแล้วเครือข่ายนั้นจะหยุดความเคลื่อนไหวเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จากนั้นจะพยายามพัฒนาอุปกรณ์ และกลยุทธ์ใหม่ๆมาใช้อีก ซึ่งการจับกุมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการนำบัตรปลอมนั้นไปใช้และมีผู้เสียหายร้องเรียน” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าว

สำหรับเครือข่ายปลอมบัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม ที่ดีเอสไอได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้วก็มีหลายเครือข่าย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอได้จับกุมเครือข่ายปลอมบัตรที่เป็นอดีตดาบตำรวจคนไทยร่วมมือกับชาวโรมาเนีย ปลอมบัตรและนำไปกดเงินซื้อสินค้าที่ร้านค้าต่างๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวย่านสุขุมวิท และในครั้งนั้นทำให้ธนาคารเสียหายถึง 10-15 ล้านบาท

อีกรายเป็นนายทหารนอกราชการกับพวก ที่ใช้วิธีขโมยข้อมูลบัตรแบบสกิมเมอร์ ร่วมกับไวด์แทปปิ้ง จากนั้นก็จะนำข้อมูลไปทำบัตรปลอม โดยเครือข่ายนี้จะติดต่อเซ้งกิจการร้านค้าที่มีเครื่องอีดีซี หรือเครื่องบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต โดยจะขอให้เจ้าของกิจการเดิมเปิดบัญชีของร้านเดิมต่อไประยะหนึ่งและขอใช้เครื่องชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเดิมต่อไป รวมทั้งจะให้เจ้าของร้านเดิมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินบนเช็คโดยไม่กรอกจำนวนเงินและวันที่ ไว้ให้ เมื่อกลุ่มคนร้ายเข้าไปดำเนินกิจการจะนำบัตรเครดิตปลอม มาใช้ชำระเงินผ่านเครื่องรูดบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ วันละไม่เกิน 2 ครั้ง จำนวนเงินบัตรละไม่เกิน 3 แสนบาท โดยจะใช้เวลาในการทำธุรกรรมปลอมไม่เกิน 15 วัน เมื่อได้รับเงินจากธนาคารเกือบ 30 ล้านบาท คนร้ายก็ปิดกิจการแล้วนำเงินหลบหนี โดยคดีนี้คนร้ายได้เซ้งกิจการร้านเชิดมั่นแอร์ ย่านมีนบุรี และยังใช้บัตรเครดิตปลอม รูดซื้ออัญมณี จากร้านค้าย่านคลองตันอีกด้วย

และกรณีเงินในบัญชีของพ่อค้าแม่ค้าผลไม้ใน จ.ชุมพร สูญหายหลังทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม พบว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มเดียวกับคนร้ายที่ดีเอสไอเฝ้าติดตามอยู่ ดีเอสไอจึงส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับตำรวจภูธรภาค 8 เพื่อขยายผลจับกุม โดยคนร้ายเป็นชาวมาเลเซีย ชื่อนายเตียว อายุประมาณ 48 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้จับกุมเครือข่ายของนายเตียว ที่เป็นอดีตนายตำรวจสันติบาล และได้ส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว

ส่วนโทษในความผิดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม มีโทษจำคุก 1-7 ปี ปรับ 20,000-140,000 บาท แต่หากเป็นกรณีมีการนำบัตรไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดด้วยนั้น ผู้ต้องหาจะต้องรับโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง
ไม่ควรกดเอทีเอ็มในที่พลุกพล่าน เช่น ตามหน้าร้านสะดวกซื้อ เพราะมิจฉาชีพแอบแฝงติดตั้งเครื่องมือไฮเทคบนเครื่องเอทีเอ็มได้ง่าย ทำให้สูญเงินมาหลายราย
โฉมหน้าแก๊งหลอกลวงให้กดคืนเงินภาษีผ่านตู้เอทีเอ็มที่ถูกจับกุม
นายเอฟเอ็นยู แอลเอ็นยู หรือเดลปิเอโร อายุ 43 ปี ชาวมาเลเซีย ผู้ต้องหาแฮกข้อมูลบัตรเครดิต ที่ตำรวจจับกุมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น