ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ให้อำนาจศาลกรณีที่มีการก่อความไม่สงบในบริเวณศาล เป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม"
นั่นคือ คำเตือนของ นายสุชาติ เวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ที่ได้พูดหลังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำ นปช.ที่ได้ระดมมวลชนเคลื่อนพลไปปิดล้อมศาลปกครอง หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ย้ายการแถลงปิดคดียุบ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน จากศาลรัฐธรรมนูญไปที่ศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม เพื่อย้ำความทรงจำของกลุ่มบุคคลที่กระทำการละเมิดอำนาจศาล จึงขอนำบทความของ นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ได้เขียนไว้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 หลังเกิดเหตุละเมิดอำนาจศาลของกลุ่มบุคคลในระบอบทักษิณเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยบทความดังกล่าวย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ที่มีผู้นำกล่องขนมบรรจุเงินจำนวน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้สังคมยังคงสงสัยว่าเหตุใดจึงกระทำเช่นนั้น แต่ศาลได้มีคำสั่งจำคุกผู้นั้นในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแล้ว
ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว หรือวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงบทบาทหน้าที่ของศาลซึ่งบางครั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลโดยไม่รู้ตัว
เช่น กรณีที่ศาลปกครองลงโทษนักการเมืองในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากนักการเมืองผู้นี้ได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การใช้ดุลพินิจของศาล โดยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตทางวิชาการ จึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล และไม่ใช่เพียงผู้ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นที่มีความผิด สื่อต่างๆ ที่นำคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ไปเผยแพร่ก็มีความผิดด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์เหล่านี้คงสร้างความสงสัยให้แก่สังคม และเกิดคำถามตามมาว่าละเมิดอำนาจศาลคืออะไรและอย่างไรจึงถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล?
การพิจารณาคดีของศาลนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยกฎหมาย จึงบัญญัติให้ศาลมีอำนาจให้แก่ศาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในและนอกศาลอันเป็นที่มาของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
การละเมิดอำนาจศาลเป็นหลักกฎหมายสากลที่ศาลทุกประเทศทั่วโลกยอมรับทั้งศาลในระบบกฎหมายจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา และศาลในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี
ประเทศไทยได้บัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ
1.การละเมิดอำนาจศาลโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และให้การพิจารณาคดีของศาลเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 โดยข้อกำหนดนี้ใช้บังคับทั้งกับคู่ความและบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาล
เช่น ศาลออกข้อกำหนดไม่ให้โจทก์ลุกขึ้นแถลงการณ์ใดๆในขณะที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาคดีอยู่ แล้วโจทก์ยังฝ่าฝืน (คำพิพากษาศาลฎีกา 2271/2537) หรือ กล่าวเสียดสีศาลว่า หากให้ศาลพิจารณาคดีต่อไปเกรงว่าศาลจะทำลายเอกสารที่สำคัญถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาล
(คำพิพากษาศาลฎีกา 1324/2539)
ข้อกำหนดนี้ยังรวมถึงการห้ามไม่ให้คู่ความดำเนินคดีในทางก่อความรำคาญ ประวิงเวลาให้ช้าหรือฟุ่มเฟือยเกินควร
ในส่วนของศาลยุติธรรมได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการว่า “ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งจะต้องไม่ให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาล บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาลพึงใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ”
2.การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยตรงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 กำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้เป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งได้แก่ แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล การรู้ว่ามีการส่งคำคู่ความ หรือเอกสารมาให้แล้วจงใจหลบหนี หรือหลีกเลี่ยงไม่รับ การตรวจเอกสารทั้งหมดหรือฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งอยู่ในสำนวนโดยไม่ได้รับอนุญาต การขัดขืนไม่มาศาล การฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในศาลตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้นต้องกระทำในบริเวณศาล หรือโดยมีลักษณะของการกระทำที่ต่อเนื่องเข้ามาถึงบริเวณศาลด้วย
เช่น กล่าวอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาลแม้จะกระทำนอกบริเวณศาลแต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นมุ่งหมายให้ผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2540)
การนำยาบ้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ต้องหาในศาล การพกอาวุธปืนเข้ามาในบริเวณศาล การทะเลาะวิวาทชกต่อยกันหรือใช้รองเท้าทำร้ายคู่ความในบริเวณศาล การประกันตัวไปแล้วเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เหล่านี้ล้วนเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในศาลเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน
การละเมิดอำนาจศาลของสื่อสิ่งพิมพ์
นอกจาก 2 กรณีดังกล่าวข้างต้นแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 32 ยังกำหนดเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้โดยให้ถือว่าผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ห้ามโฆษณาข้อความหรือความเห็นในเชิงเปิดเผยข้อเท็จจริง พฤติการณ์อื่นๆ หรือกระบวนพิจารณาใดๆ เกี่ยวกับคดี
หรือมีการกล่าวข้อความ แสดงข้อความ หรือแสดงความเห็นในระหว่างการพิจารณาคดีทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์โดยประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน เหนือศาล เหนือคู่ความ หรือเหนือพยาน ซึ่งจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป
สำหรับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาลอาจสั่งไล่ผู้นั้นออกนอกบริเวณศาลในระหว่างการพิจารณาหรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากการละเมิดนั้นเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทศาลด้วยก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ต่อไป
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลสามารถอุทธรณ์ได้ตามกระบวนการทางกฎหมายแต่หากการละเมิดอำนาจศาลนั้นเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดคดีก็ถึงที่สุดไม่สามารถฎีกาต่อไปได้อีก
สรุปได้ว่า ในการพิจารณาคดีนั้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างการพิจารณาคดีสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ที่สำคัญคือต้องระมัดระวังและรอบคอบในการเสนอข่าวสาร ไม่เสนอข่าวในเชิงโน้มน้าวหรือสร้างกระแสเกี่ยวกับคดี
โดยท้ายสุดของบทความ นายสราวุธ เน้นย้ำว่า หากใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอีกต่อไป