“อธิบดีอัยการต่างประเทศ” เผย เตรียมคณะทำงานอัยการต่างประเทศ รอรวบรวมเอกสารยื่นขอส่ง “แม้ว-หญิงอ้อ” เป็นผู้ร้ายข้ามแดน รอเพียง อสส.ลงนาม ส่วนการยื่นคำร้องอาจต้องรอจนกว่าศาลฎีกานักการเมือง จะตัดสินคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ด้านศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยต่อ พรุ่งนี้ (15 ส.ค.)
วันนี้ (14 ส.ค.) นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวชี้แจงขั้นตอนการเตรียมยื่นคำร้องขอส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ว่า ขณะนี้แม้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ยังไม่ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานอัยการเพื่อดำเนินการอย่างเป็นทางการ แต่เวลานี้ได้เตรียมคณะทำงานจากอัยการฝ่ายต่างประเทศ รองรับไว้แล้ว เพราะหากจะต้องดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็จะต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือคำร้องที่ต้องร่างเป็นภาษาอังกฤษที่จะส่งถึงผู้ประสานงานกลางฝ่ายประเทศอังกฤษ โดยต้องระบุถิ่นที่อยู่จำเลย, หมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมเอกสารในคดีประกอบ, เอกสารบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีที่จะทำให้ประเทศอังกฤษเข้าใจว่าจำเลยมีพฤติการณ์กระทำผิดตามกฎหมายไทย ที่สอดคล้องความผิดของกฎหมายในประเทศอังกฤษอย่างไร โดยเอกสารที่ต้องใช้ยื่นดังกล่าวอัยการยังไม่ได้รับมา
ในส่วนของข้อมูลคดีที่เตรียมจะยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคดีแพ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 76,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ยังไม่แน่ว่าจะต้องนำเอกสารบรรจุในสำนวนประกอบคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ต้องส่งไปประเทศอังกฤษหรือไม่
“ที่สำคัญ คือ หลักฐานแสดงถึงถิ่นที่อยู่ภูมิลำเนาของจำเลยในประเทศอังกฤษ โดยในสมัยติดตามตัว นายปิ่น จักกะพาก เราเคยมีถึงรูปถ่ายภาพวิดีโอ โดยการเดินทางเพื่อการดำเนินการแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นงบประมาณที่อัยการต้องเตรียมไว้” นายศิริศักดิ์ กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในการยื่นคำร้องส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ร้ายข้ามแดน คงยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีในเวลานี้ เพราะปกติการยื่นคำร้องจะทำได้ในช่วงเวลา 1.ที่มีการสั่งฟ้องแล้วหลังจากที่มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานว่ากระทำในข้อหาใด แต่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล เพราะหลบหนี ซึ่งตัวอย่าง คือ ครั้งแรกที่อัยการขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่พักอยู่ต่างประเทศกลับมาแสดงตัวต่อศาล และ 2.เมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่มาฟัง เช่น คดีของ นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ที่ถูกอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา แต่คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกที่ทั้งสองตกเป็นจำเลยร่วมกัน ศาลฎีกาฯ ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินโดยคดียังอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยาน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลยได้ ดังนั้น กรณีนี้จึงยังไม่อาจยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ทันที แม้ศาลจะมีคำส่งให้ออกหมายจับ แต่เป็นหมายจับให้จำเลยทั้งสองมารายงานตัวที่ผิดสัญญาประกัน ยังไม่ใช่การให้นำตัวมารับโทษในคดีที่ศาลมีคำตัดสิน ซึ่งหากจะดำเนินการขอให้ประเทศอังกฤษส่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมา คงต้องรอจนกว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาตัดสินว่าทั้งสอง ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ระบุว่าไว้ว่าเป็นความผิดของทั้งสองประเทศที่จะพิจารณาส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ ซึ่งจะได้ใช้คำพิพากษาของศาลเป็นเอกสารที่มีความชัดเจนยื่นประกอบ โดยเวลานี้หากจะดำเนินกระบวนการใดๆ เกี่ยวกับต่างประเทศ ส่วนที่เกี่ยวข้องคงเป็นเรื่องข้อตกลงความร่วมมือทางคดีอาญาระหว่างประเทศ ที่หากคดีอยู่ในชั้นไต่สวนแล้วต้องการสืบพยานที่อยู่ต่างประเทศ ก็ขอให้ประเทศนั้นช่วยดำเนินการสืบพยานให้แล้วส่งคำให้การกลับมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ แม้ตัวจำเลยทั้งสองจะอยู่ต่างประเทศ แต่ศาลก็ยังสามารถดำเนินการไต่สวนพยานจำเลยได้ต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 10 ที่ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้ โดยในวันพรุ่งนี้ (15 ส.ค.) เวลา 09.30 น.ศาลฎีกาฯ จะนัดไต่สวนพยานจำเลย ตามที่ได้นัดวัน-เวลา ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยอัยการรอที่จะฟังด้วยว่าศาลจะมีคำสั่งใดๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1-2 หรือคำสั่งใดๆ ในการไต่สวนคดีหรือไม่