สภาทนายความ ออกแถลงการณ์โต้ “ทักษิณ” กล่าวหากระบวนการยุติธรรมไทยถูกแทรกแซง ระบุ เป็นความพยายามของนักการเมืองที่เป็นจำเลยคดีอาญา อาศัยความเป็นอดีตผู้นำ-หัวหน้าพรรคการเมืองที่ล่มสลาย บิดเบือนข้อมูล ทำลายความน่าเชื่อถือศาลไทย น่าอับอายไม่ควรเอาอย่าง
วันนี้ ( 13 ส.ค.) นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ตอบโต้ แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า สภาทนายความในฐานะองค์กรมหาชนวิชาชีพทางกฎหมายและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและผดุงความยุติธรรม เห็นว่า ข้อความในแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กระทบโดยตรงกับความน่าเชื่อถือของระบบงานตุลาการของประเทศ เป็นถ้อยแถลงที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างชัดเจน การกล่าวเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมของประเทศและองค์กรที่มีเกียรติที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ส่วนตัวเป็นผู้ที่มีคดีติดตัวและเป็นคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แสดงให้เห็นถึงความพยายามของนักการเมืองที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและหลบหนีการประกันตัว แล้วยังกล้าบิดเบือนข้อมูลและให้ร้ายระบบการยุติธรรมของประเทศไทยอย่างไม่ควรที่จะให้อภัย
“ประเทศไทยได้พัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศตลอดมาเกือบร้อยปี บัดนี้มีบุคคลซึ่งเป็นคนไทย ได้ทำให้เกิดความด่างพร้อย อาศัยการที่เคยเป็นผู้นำประเทศและอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองที่ล่มสลาย มากล่าวหาระบบการศาลของประเทศไทยในทำนองที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องที่น่าอับอาย และไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง” นายกสภาทนายความ กล่าวไว้ในแถลงการณ์
แถลงการณ์ยังระบุว่า การดำเนินการทางกฎหมายต่อข้าราชการการเมืองที่คอร์รัปชันนั้น เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างสมบูรณ์ เพราะประเทศไทยได้รับความบอบช้ำจากการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 100 ปี และมีการยึดอายัดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ซึ่งปัจจุบันยังมีเงินทุนคอร์รัปชันไหลออกนอกประเทศอยู่ตลอดเวลา การคอร์รัปชันในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่ภาครัฐจะเข้าไปตรวจสอบเหมือนเช่นคดีอาญาทั่วไป เพราะเล่ห์เหลี่ยมและการใช้อำนาจทางการเมือง การแก้ไขกฎหมายให้เป็นประโยชน์กับพวกพ้องล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของนักการเมืองที่มีจิตใจสกปรก
“ไม่มีประเทศไหนในระบอบประชาธิปไตยที่มีพี่ชายรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรค และภริยาหรือญาติ ได้รับหุ้นในฐานะผู้มีอุปการคุณของรัฐวิสาหกิจที่แปรสภาพเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนล้านๆ หุ้น ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจไม่ได้รับการเหลียวแล สภาทนายความเชื่อว่าศาลยุติธรรมของประเทศไทยได้มองเห็นความโสมมของนักการเมืองประเภทนี้ และได้ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนในคำพิพากษาของศาลว่าเมื่อนักการเมืองอาสาเข้ามาบริหารบ้านเมือง ต้องตระหนักเสมอว่าทรัพยากรและทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นภาษีอากรหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เป็นของตนเองหรือหมู่คณะ” นายกสภาทนายกล่าวไว้ในแถลงการณ์
แถลงระบุอีกว่า การตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและไต่สวนหาข้อมูลที่พึงจะกระทำได้เพื่อให้ทันกับกระบวนการคอร์รัปชั่นที่ซับซ้อน เป็นเรื่องที่นานาประเทศทำกัน และไม่ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสียแต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้พิจารณาลงโทษอดีตรัฐมนตรีเพราะคอร์รัปชั่นมาแล้ว จึงมีนักการเมืองอยากจะกลับไปใช้ระบบการพิจารณา 3 ศาล แต่ข้อเท็จจริงการเมืองไทยการคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างกว้างขวาง การให้อำนาจศาลฎีกาฯพิจารณาคดีคอร์รัปชั่นสำหรับนักการเมืองเพียงชั้นเดียวโดยผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ มีคุณวุฒิ มีคุณธรรมเพียบพร้อมถึง 9 ท่าน นับว่ารวดเร็วและทันเหตุการณ์ เหมาสะกับความเป็นจริงในประเทศไทยแล้ว