xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษา “เมียแม้ว” รวยแต่โกงภาษีผิดร้ายแรง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เปิดคำพิพากษา “เมียแม้ว” รวยแต่โกงภาษี ผิดร้ายแรง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ศาลอ่านคำพิพากษาคดี “เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป” 

คลิก! ชมวิดีโอคลิปศาลอ่านคำพิพากษาคดี “เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป”  (56K) |(256K)

ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์
นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ 2 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ที่ 3 ข้อหา ร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย และร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

ข้อหาที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยใช้อุบายว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี หรือนางดวงตา ประมูลเรือง เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียนถือการครอบครองแทน รวมมูลค่าหุ้น 738,00,000 บาท ให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มา รวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อประเมินเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ความจริงแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นการโอนหุ้นให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2 เป็นการอำพรางการให้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับการให้จะต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ประมาณ 738,000,000 บาท มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้พึงประเมิน ประจำปี 2540 เป็นเงินจำนวน 273,060,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2540 โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เป็นเหตุให้รัฐเสียหายขาดรายได้

ข้อหาที่ 2 ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.2544 ถึงวันที่ 30 ส.ค.2544 จำเลยที่ 1 และ 2 โดยรู้อยู่แล้ว จงใจได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำและตอบคำถามว่า การซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 เป็นกรณีจำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ โดยโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือแทนในตลาดหลักทรัพย์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินซื้อ และให้ถ้อยคำเพิ่มเติมว่า เป็นพี่บุญธรรมของจำเลยที่ 2 ได้ช่วยเหลือกิจการของจำเลยที่ 2 จนมีความเจริญก้าวหน้า จำเลยที่ 2 ได้มอบของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นดังกล่าว โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นการให้โดยเสน่หา ตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำมีสาระสำคัญว่าตนตั้งใจที่จะมอบหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่งในวันแต่งงาน แต่มอบให้ไม่ทันเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานในทางการเมือง เมื่อจัดการเรื่องบริหารงานเสร็จสิ้นจึงได้ยกหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น เป็นของขวัญให้แก่ครอบครัว และบุตรชายของจำเลยที่ 1 โดยหุ้นที่โอนให้เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่ง น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ถือหุ้นแทน และอยู่ในพอร์ตที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่า ข้อความที่ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำน้ำเป็นเท็จ เป็นเพียงข้ออ้างให้พนักงานสรรพากรเชื่อว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ความจริงแล้วเป็นการให้เพื่อตอบแทนจำเลยที่ 1 ทำงานให้กับครอบครัวจำเลยที่ 2 แต่ทำอุบายอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเท็จ โดยให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ และโดยการฉ้อโกง โดยอุบายของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้อันควรได้เป็นเงินภาษีอากรจำนวน 273,060,000 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 273,060,000 บาท รวม 545,120,000 บาทคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้ตรวจสอบมูลคดีแล้ว จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแทน และได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสามททราบโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบมาโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีหุ้นในบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 ให้ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้มีชื่อถือครองแทนจำนวนหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกหุ้นของจำเลยที่ 2 ในบริษัทดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 จำนวน 4,500,000 หุ้น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีคำสั่งให้บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการซื้อขายหุ้นดังกล่าวให้แก่กัน เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 จำนวน 4,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 738,000,000 บาท ตามสำเนาบัญชีรายละเอียดรายการซื้อขายและสำเนาใบสรุปซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เอกสารหมายจ.14 ถึง จ.17 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ชำระราคาค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวผ่านบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และเมื่อบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) หักค่านายหน้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมเฉพาะชำระราคาค่าหุ้นให้แก่ น.ส.ดวงตา ผู้มีชื่อทางทะเบียนนั้น และเช็คดังกล่าวก็ถูกนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารเดิม ทั้งนี้ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายทุกขั้นตอนแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และน.ส.ดวงตา

ต่อมาในการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรปีภาษี 2540 ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับยกให้จำนวน 738,000,000 บาทดังกล่าว ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2540 เอกสารหมาย จ.27 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำค่าหุ้นจำนวน 738,000,000 บาทที่ได้รับจากบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และเป็นเงินได้พึงประเมินไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เนื่องจากเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(17) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่า การข้อยกเว้นรัษฎากรข้อ 2 (23) หลังจากนั้นในปี 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ในการนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ว่า หุ้นจำนวน 4,500,000 หุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 2 แบ่งให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ซื้อแต่อย่างใด ตามสำเนาบันมึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.30 และ จ.31 ต่มาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ กรมสรรพากรจึงมีหนังสือเอกสารหมาย จ.28 ขอข้อมูลเรื่องนี้จากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปประกอบพิจารณาจัดเก็บภาษีจากบุคคลดังกล่าวให้ถูกต้อง ในการนี้จำเลยที่ 1 เข้าให้การต่อ นาย ช.นันท์ เพ็ชญ์ไพศิษฐ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2544 ว่า ความจริงในเรื่องที่จำเลยที่ 2 ยกหุ้นดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.33 และในวันที่ 16 และ 30 ก.ค.2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ได้ให้การต่อจากนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 มีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัวและมีฐานะที่มั่นคงทัดเทียมกับพี่น้อง จึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงาน กับจะให้หุ้นในคดีนี้เป็นของขวัญ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำงานทางการเมือง จำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารให้เสร็จเสียก่อน จึงมาให้หุ้นดังกล่าวภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 มีบุตร และบุตรมีอายุจะครบ 1 ปี เป็นการให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.34 และ จ.37 ในที่สุด กรมสรรพากรพิจารณาแล้วสรุปว่า การรับโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จำนวน 4,500,000 หุ้น มูลค่า 738,000,000 บาท เป็นการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วให้ยุติเรื่อง ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2549 แล้ว ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ หรือ คตส. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย หรือการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และคณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาการโอนหุ้นดังกล่าวแล้วเห็นว่า หุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 1 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มิใช่การให้โดยการเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บเงินภาษีได้จากจำเลยที่ 1 และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 546,120,000 บาท ส่วนคดีอาญา คณะกรรมการตรวจสอบมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โดยถือเอาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรคสอง

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นต่อสู้ประการแรกว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 29 เพราะเป็นบทบัญญัติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเพียงชุดเดียว มิได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป แต่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2551 วินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป และมิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ไม่ว่าจะเป็นบทมาตราใด ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวง เป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันศาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 211 วรรคสาม และมาตรา 216 วรรคห้า คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีกต่อไป และฟังว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ปัญหาข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสาม ประการต่อไปมีว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องคดีนี้ให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องนั้น ขัดต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรคสอง ที่กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสรรพากรเสียก่อน เพื่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรจะได้ดำเนินการมีคำขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาต่อไป ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 แต่คณะกรรมการตรวจสอบไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนดังกล่าว การสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีที่คณะกรรมกาารตรวจสอบมีมติว่า บุคคลใดกระทำผิดกฏหมายและเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น”

ส่วนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ย.2520 ข้อ 2 บัญญัติว่า

“นับแต่วันที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดำเนินการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และเจ้าพนักงานตำรวจต่างมีอำนาจในการตรวจสอบการชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ทำให้พ่อค้าประชาชนมีภาระต้องชี้แจงแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย สมควรขจัดภาระดังกล่าวด้วยการให้เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรดำเนินการไปแต่ฝ่ายเดียว...”

เหตุผลข้างต้นแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของประกาศของคณะปฏิวัติฯ ฉบับนี้ว่า ใช้บังคับแก่เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร และเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานทั้งสองในขณะนั้นเท่านั้น โดยกำหนดขอบอำนาจหน้าที่ ระหว่างเจ้าพนักงานดังกล่าวให้ชัดเจน กล่าวคือ ให้เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบการชำระภาษี ส่วนการดำเนินคดีอาญาให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการตามคำขอของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรนั้น แต่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ซึ่งประกาศใช้บังคับภายหลัง ได้บัญญัติจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นโดยเฉพาะ และในข้อ 5 (4) ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ตรรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรด้วย แต่เฉพาะกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามที่ระบุ จึงเป็นกฏหมายเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรเฉพาะกรณีทั้งในข้อ 9 วรรคสอง ของประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับดังกล่าว ยังบัญญัติให้อำนาจและรับรองอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นพิเศษต่างไปจากอำนาจของเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรว่า เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่า บุคคลใดกระทำผิดกฎหมาย ให้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น ซึ่งมีผลเท่ากับว่า หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ไม่จำต้องสอบสวนในเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบนั้นแล้วอีก

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการตรวจสอบต้องส่งเรื่องไปให้ดำเนินการตามกฎหมายตามที่ระบุในข้อ 9 วรรคสอง จึงหมายถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่จะต้องดำเนินการตามมติและผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบในขั้นตอนต่อไป ถือว่ากฎหมายได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ และขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมกาารตรวจสอบไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อคดีนี้ คณะกรรมการตรวจสสอบได้ตรวจสอบแล้วมีมติว่า จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงภาษีแล้วส่งเรื่องให้กรมสรรพากรดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ 1 ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ส่วนคดีอาญา เมื่อเห็นว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องต่อไป จึงชอบแล้ว หาต้องดำเนินการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือไม่เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้น จำเลยที่ 2 เจตนาจะยกหุ้นจำเลยที่ 2 ในบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ถือครองแทน จำนวน 4,500,000 หุ้น มูลค่า 738,000,000 บาท ตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาค่าหุ้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 และในที่สุด เงินค่าหุ้นจำนวนนั้นก็กลับไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และน.ส.ดวงตาโดยตลอดนั้น ในเบื้องต้นแม้การให้ผู้อื่นเป็นผู้ถือครองหุ้นแทนในตลาดหลักทรัพย์จะกระทำได้ และเจ้าของหุ้นที่แท้จริงสามารถขายหุ้นนั้นได้เองด้วยก็ตาม แต่คดีนี้เห็นได้ชัดแจ้งว่าพฤติการณ์การซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว มิได้ซื้อขายกันจริง แต่เป็นการกระทำโดยลวงเพื่ออำพรางการให้ตามเจตนาที่แท้จริง จึงเป็นการกระทำโดยความเท็จ ปัญหาว่า การกระทำโดยความเท็จนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ เห็นว่าการซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เป็นการกระทำโดยความเท็จดังวินิจฉัยได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ขายได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมูลหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี 2540 ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ ส่วนมูลค่าหุ้นจำนวน 738,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับว่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร เพียงแต่โต้แย้งกันว่า เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ หรือไม่เท่านั้น โดยโจทก์นำสืบว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการให้ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) และมิได้เป็นเงินได้ประเภทหนึ่งประเภทใด ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องนำมูลค่าหุ้นจำนวนที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี 2540

และด้วยเหตุนี้ จำเลยทั้งสามจึงได้อำพรางการให้ที่เป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ด้วยการทำเป็นซื้อขายอันเป็นความเท็จแทน เป็นอุบายเพื่อจะไม่มีภาระภาษีจากการซื้อและขาย ทั้งไม่ต้องนำมูลค่าหุ้น ที่ได้รับจากการให้ไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวอีกด้วย จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร ส่วนจำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 รับให้มานั้น เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) และเป็นเงินได้ประเภทที่เข้าข้อยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียบประเพณี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 จึงไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร กรณีจึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่จำเลยที่ 1 ผู้รับการให้ได้รับยกเว้นไม่ ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 หรือไม่ เพราะหากได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือไม่อีกต่อไป

ปัญหานี้ แม้ในเบื้องต้น โจทก์และจำเลยทั้งสามจะโต้แย้งกันว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาตามฟ้องถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2) หรือมาตรา 40 (8) ก็ตาม แต่เห็นว่า ตามคำฟ้อง โจทก์บรรยายในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ก.ว่า “...จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ประจำปีภาษี 2540 พร้อมนางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยา ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ในปีภาษี 2540 จำเลยที่ 1 มีเงินได้จากการจ้างแรงงานและจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงาน และมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผล เครดิตเงินปันผล รวมเป็นเงินได้สุทธิ ที่ต้องคำนวณภาษีเพียง 23,318,411.53 บาท อัตราภาษีร้อยละ 37 รวมเงินภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเป็นเงิน 8,129,812.27 บาท โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินหรือเงินได้จำนวน 738,000,000 บาท มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดา...” อันเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ไม่นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับให้ไปรวมกับเงินได้ประเภทอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ที่กฎหมายถือว่า เป็นเงินได้ของจำเลยที่ 1 และที่เป็นเงินได้ของภรรยา เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 การกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรเท่านั้น ฟ้องมิได้ระบุว่าเป็นภาษีอาการจากเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ประเภทหรือวงเล็บใด

ดังนั้น แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบว่า การรับให้ เป็นเงินได้พึงประเมินต่างประเภทกัน ก็เป็นการแตกต่างของความเห็นในประเภทของเงินได้พึงประเมินที่จำต้องพิจารณาในชั้นจัดเก็บภาษี ทั้งผลของการแตกต่างที่มีตามกฎหมาย ก็ไม่ได้มีผลต่อการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเงินพึงประเมินประเภทใดก็ยังคงเป็นเงินได้อันพึงต้องเสียภาษีตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกัน ในชั้นนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งนี้ คงมีปัญหาว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการให้มิได้เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่ โจทก์มีนายกล้านรงค์ จันทิก มาเบิกความยืนยันว่า ขณะพยานเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. พยานได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้เป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. พยานกับคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ร่วมกันสอบปากคำจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 แบ่งหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิได้มีการซื้อมาแต่อย่างใด และจำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือและร่วมธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณกับจำเลยที่ 2 มาตลอดตั้งแต่ต้น รวมทั้งเป็นผู้กู้และผู้ค้ำประกันให้ด้วย โดยมีบันทึกคำให้การของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เอกสารหมาย จ.30 ซึ่งมีลายชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้การ มาเป็นหลักฐานสนับสนุน เอกสารดังกล่าวมีสาะระสำคัญสอดคลัองกับคำเบิกความของพยาน เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งอาจมีผลทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี จึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างมาก ย่อมต้องเตรียมการและระมัดระวังในเรื่องที่จะให้การ ทั้งเป็นการให้การในครั้งแรกๆ ขณะที่ยังมิได้มีปัญหาการตรวจสอบเรื่องภาระภาษีและดำเนินคดีนี้ น่าที่จำเลยที่ 1 จะให้การไปตามความจริง ประกอบกับคำให้การดังกล่าวมีข้อเท็จจริงโดยละเอียด ตั้งแต่ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของจำเลยที่ 1 กับครอบครัวของจำเลยที่ 2 การช่วยเหลืออุปการะกันมาโดยตลอด ตั้งแต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังเป็นเด็กๆ เมื่อจำเลยที่ 2 กับพันตำรวจโททักษิณไปศึกษาที่ต่าง
ประเทศ จำเลยที่ 1 ก็ลางานตามไปดูแลช่วยเหลือพร้อมกับศึกษาต่อ และเมื่อกลับมาก็ช่วยเหลือและสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการค้าขายต่างๆ ของจำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ จนต่างมีฐานะมั่นคง และในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งหุ้นต่างๆ นั้น จำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้โดยละเอียด โดยเฉพาะหุ้นจำนวนมากๆ เช่น หุ้นตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 2 แบ่งให้โดยมิได้มีการซื้อมา แม้การสอบถามในครั้งนั้นจะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการให้หุ้นคดีนี้ก็ตาม แต่หากเป็นการรับให้เนื่องในโอกาสสำคัญของจำเลยที่ 1 ดังที่อ้าง เป็นหุ้นที่มีมูลค่าจำนวนมาก ทั้งเป็นการรับให้จากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของพันตำรวจโททักษิณที่กำลังถูกตั้งข้อระแวง สงสัยและถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการถือครองหุ้น จำเลยที่ 1 น่าจะให้การถึงเหคุผลที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้เป็นหลักฐานด้วย แต่จำเลยที่ 1 นอกจากจะมิได้ให้การถึงเหตุผลการให้ว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใดแล้วยังให้การชัดเจนว่าเป็นการแบ่งให้โดยมิได้มีการซื้อมา ดังที่ปรากฎ ทั้งๆ ที่ได้ให้การในเรื่องอื่นๆ ไว้โดยละเอียด จึงเชื่อว่าที่จำเลยที่ 2 ให้หุ้นคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการแบ่งให้ดังที่จำเลยที่ 1 ให้การ ซึ่งคำว่า “แบ่งให้” ดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่า เป็นการให้ที่มิใช่การให้เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสอย่างใด ส่วนที่ได้ความจากคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทียื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ตามเอกสารหมาย จ.35 จ.38 จ.34 และจ.37 ตามลำดับ แตกต่างไปจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัย ทำนองว่า จำเลยที่ 2 ยกหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 ตามธรรมจรรยาในฐานะที่ได้ร่วมก่อการและดำเนนิธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งเป็นของขวัญที่จำเลยที่ 1 มีภริยาและบุตรนั้น ก็เป็นคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและเอกสารประกอบถ้อยคำอันเป็นเท็จและกรมสรรพากรได้เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีจากากรซื้อขายอันเป็นเท็จแล้ว คำให้การที่ให้เหตุผลของการให้หุ้นของจำเลยที่ 2 แตกต่างไปจากที่จำเลยที่ 1 เคยให้การไว้ในชั้นแรก จึงน่าจะเป็นการยกข้ออ้างขึ้นใหม่ให้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10) ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน จำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 เมื่อต้นปี พ.ศ.2535 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงาน แต่ในช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังยุ่ง เนื่องจากจะเข้าสู่การเมืองและตั้งพรรคการเมืองใหม่ จำเป็นต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จสิ้นก่อน จึงมาให้ในภายหลังของบุตรจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปีนั้นประการแรกเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคร้องกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่รับฟังได้ดังวินิจฉัยว่า เป็นการแบ่งให้ ประการต่อมาที่อ้างว่าไม่สามารถโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงานได้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณจจำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารให้เสร็จสิ้นก่อนนั้น เห็นว่า ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าหุ้นตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อ่ของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี และจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้คำแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวมทั้งหุ้นแทนโดยตลอด ดังนี้การโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตาถือครองแทนจึงสามารถทำได้โดยจำเลยที่ 3 คนเดียว

ดังนั้น หากจำเลยที่ 2 จะโอนหุ้นนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงานจริง ก็สามารถกระทำได้ในโอกาสนั้น โดยจำเลยที่ 2 เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเท่านั้น ซึ่งมิได้เป็นภาระหรือเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และการจัดการเรื่องการบริหารงานตามที่อ้างแต่อย่างใด แม้ในเรื่องนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่จำเลยที่ 2 นางสมทรง เครือไชย อาจำเลยที่ 2 และนางบุษบา ดามาพงศ์ ภริยาจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นประจักษ์พยานสนับสนุนว่า ร่วมรู้เห็นและได้ยินจำเลยที่ 2 พูดขณะจำเลยที่ 1 กับนางบุษบาเข้าไปอวยพรวันเกิดของจำเลยที่ 2 ว่าจะให้หุ้นแก่จำเลยที่ 1 เป็นของขวัญแต่งงาน ก็ตาม แต่คำเบิกความดังกล่าวนอกจากจะขัดกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว พยานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นเป็นพี่และญาติมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2อย่างมาก คำเบิกความน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อยพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหานี้ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องมูลค่าหุ้นที่ให้และให้ตรงกับวันแต่งงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่อีกต่อไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 โดยการแบ่งให้ มิได้เป็นการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากรตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 รับแบ่งให้หุ้นตามฟ้องจำจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ จะถือว่าเป็นเงินได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามมาตรา 42(10) ข้างต้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมิได้ให้คำนิยามของคำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายของถ้อยคำดังกล่าวตามพจนานุกรม ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยามความหมายไว้ดังนี้ อุปการะ หมายความว่า ช่วยเหลือเกื้อกูล, อุดหนุน หน้าที่ หมายความว่า กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ ธรรมจรรยา หมายความว่า การประพฤติถูกธรรม

ดังนั้น คำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า การช่วยเหลือเกื้อกูล อุดหนุน ที่พึงกระทำโดยธรรม อันเป็นบทบัญญัติที่ใช้ถ้อยคำที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์หาเจตนารมณ์จากที่ใดอีก ทั้งเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นภาระภาษีอันเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคน จึงต้องตีความตามถ้อยคำโดยเคร่งครัด แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้มีความหมายที่จะจำกัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการให้ และจำนวนที่ให้ก็ตาม แต่ตามถ้อยคำแล้ว ผู้รับการให้จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหรือสถานะที่ควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล อุดหนุนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ผู้ให้จึงมีหน้าที่โดยธรรมจรรยาที่จะอุปการะ แต่จำเลยที่ 1 นอกจากจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าตนอยู่ในสภาพหรือสถานะเช่นว่าแล้ว ยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.30 ว่าในขณะรับการให้นั้นจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และเป็นกรรมการในบริษัทกลุ่มชินฯ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีกิจการและฐานะมั่นคง นอกจากนี้ ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 ของจำเลยที่ 1 เอกสารหมายเลย จ.27 จำเลยที่ 1 แจ้งว่ามีเงินได้พึงประเมินก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ใน พ.ศ.2540 จำนวน 23,554,503.53 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็ฯจำนวนที่สูงอีกทั้งปรากฏจากบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.30 ที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. และคำให้การเอกสารหมาย จ.34 ที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี สำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ว่า ในปีเดียวกันนั้น ก่อนได้รับให้หุ้นคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีหลักทรัพย์เฉพาะที่เป็นหุ้นจำนวนมาก ที่สำคัญๆ คือหุ้นในบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) 2,347,395 หุ้น หุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด 23,000,000 หุ้น และหุ้นในบริษัท ชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำกัด 6,000,001 หุ้น แม้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ที่จำเลย ที่ 1 ได้รับหุ้นตามฟ้องและหลังจากนั้นต่อมา จำเลยที่ 1 ยังมีหุ้นในบริษัทต่างๆ เพิ่มอีกจำนวนมาก สถานภาพดังกล่าววิญญูชนย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหรือสถานะที่ต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นแต่อย่างใด แม้ฐานะจะยังไม่ทัดเทียมกับพี่น้องก็ตาม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ธรรมจรรยาที่จะต้องอุปการะจำเลยที่ 1

ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะมีทรัพย์สินมากเพียงใดและให้หุ้นคดีนี้เพียงต้องการให้จำเลยที่ 1 มีฐานะทัดเทียมพี่น้อง หรือจะให้ด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ที่เป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา คำพิพากษาศาลฎีกาและแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบนั้นผู้รับการให้ล้วนอยู่ในฐานะหรือสภาพหรือสถานะที่ควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล อุดหนุนทั้งสิ้น เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ โดยสรุปคดีฟังไม่ได้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับการให้จาก จำเลยที่ 2 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อคดีรับฟังได้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับการให้จากจำเลยที่ 2 เป็นได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2540 คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้นหรือไม่ รวมทั้งค่าภาษีอากรแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าภาษีจากมูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้จากการรับให้มีจำนวนมากถึง 273,006,000 บาท การที่จำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการโอนให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 ตามเจตนาที่แท้จริง ทั้งๆ ที่การโอนให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สามารถจะทำได้ โดยทั้งผู้ให้และผู้รับการให้ ไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างใด กล่าวคือไม่ต้องเสียทั้งค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทที่ดำเนินการ ดังที่นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการโอนหุ้นตามฟ้อง ได้ให้การยืนยันชัดเจนต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.80 และชั้นพิจารณามิได้เบิกความปฏิเสธเอกสารฉบับนี้แต่จำเลยที่ 2 กลับกระทำโดยความเท็จเป็นการซื้อ ขายลวงในตลาดหลักทรัพย์อำพรางการให้ที่เป็นเจตนาที่แท้จริงนั้นและยอมเสียค่านายหน้ากับภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งฝ่ายผู้ซื้อ และผู้ขาย รวม 7,380,000 บาท ดังข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ

ศาลพิจารณาพฤติการณ์ณ์ดังกล่าวและเปรียบเทียบจำนวนเงินค่านายหน้า และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 2 เสียไปกับจำนวนเงินค่าภาษีอากรจากการรับให้ที่ถูกอำพรางไว้ดังกล่าวแล้ว กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยที่ 2 ว่า จงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเงินได้จากการรับให้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำนวนมากและจำเลยที่ 2 ต้องเป็นผู้ชำระแทน จึงกระทำโดยวิธีมิให้จำเลยที่ 1 มีเงินได้พึงประเมินจากการรับให้หุ้นตามฟ้อง ด้วยการทำเป็นการซื้อขายอำพรางการให้นั้น ดังที่ปรากฏตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษา 2540 ของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.27 สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ดำเนินการโอนหุ้นตามฟ้อง เป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของจำเลยที่ 2 กับบุตรซึ่งมีจำนวนมากมานานประมาณ 10 ปีก่อนเกิดเหตุ ทั้งมีสามีเป็นพนักงานในบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ทำการโอนหุ้นคดีนี้ด้วย ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องมีความรู้ในเรื่องหุ้นและการโอนหุ้นเป็นอย่างดี อีกทั้งโดยหน้าที่ย่อมทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่าก่อนโอนหุ้นตามฟ้องได้ปรึกษาและให้คำแนะนำกันก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 รู้กันกับจำเลยที่ 2 และร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรดังวินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ทราบมาแต่แรกแล้วว่า จำเลยที่ 2 จะให้หุ้นตามฟ้องตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.30 ดังวินิจฉัย แต่เมื่อจำเลยที่ 3 มาขอเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ แจ้งว่าจะไปทำการซื้อขายหุ้นที่จะให้ดังกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 2 เคยบอก แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้ไปโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทักท้วงหรือสอบถามถึงเหตุผลในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องการชำระค่าหุ้นจำนวนมากด้วย ผิดวิสัยผู้กระทำโดยสุจริต และต่อมาเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2540 จำเลยที่ 1 ก็มิได้แสดงรายการเงินได้ส่วนนี้แต่อย่างใด พิเคราะห์ พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบความสัมพันธ์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ร่วมก่อตั้งและร่วมบริหารกิจการต่างๆ ของจำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอดและขณะที่รับการให้หุ้นคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) นั้นเองด้วยแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นและร่วมกระทำการดังกล่าวข้างต้นกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกัน แม้จำเลยที่ 3 และที่ 3 จะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินได้พึงประเมินจากการรับให้หุ้นนั้นเป็นผลโดยตรงจากการร่วมกันกระทำ โดยความเท็จของจำเลยทั้งสามดังวินิจฉัย ทั้งตามกฎหมายการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ผู้มีเงินได้เท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้อยู่แล้ว การที่มิได้เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบฯ จึงมิใช่ข้อแก้ตัวที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่ายื่นแบบฯ โดยมิได้แสดงรายการหุ้นที่ได้รับมา เพราะเข้าใจว่าเป็นของขวัญแต่งงานได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีก็ดี

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ใช้วิธีซื้อขายและดำเนินการซื้อขายตามคำแนะนำของจำเลยที่ 3 ก็ดี และจำเลยที่ 3 นำสืบว่า เข้าใจว่าเมื่อหุ้นอยู่ในชื่อของบุคคลอื่นในตลาดหลักทรัพย์ การโอนให้ต้องทำในรูปการซื้อขายเท่านั้นก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อเหตุผลและพฤติกรรมของจำเลยทั้งสามดังที่วินิจฉัย จึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า หากจำเลยทั้งสามวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรจริง ก็สามารถจะกระทำได้โดยวิธีที่ง่ายกว่า เช่น โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 แล้วให้ จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระค่าหุ้นตามฟ้องโดยตรงนั้น เห็นว่าวิธีการดังกล่าวก็คงจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการหลีกเลียงภาษีอากร แต่การที่จำเลยทั้งสามมิได้เลือกใช้วิธีดังกล่าวก็มิได้เป็นพิรุธถึงกับทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามฟ้อง ซึ่งตามรูปคดีจำเลยทั้งสามคงจะกระทำไปโดยไม่คาดคิดว่าสามีของจำเลยที่ 2 จะมีปัญหาและถูกตรวจสอบทรัพย์สินในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในเรื่องการถือครองหุ้นแล้วถูกตรวจสอบต่อเนื่องมาถึงการโอนหุ้นตามฟ้อง ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 เคยโอนหุ้นจากนางสาวดวงตาไปยัง น.ส.บุญชู เหรียญประดับ ซึ่งเป็นผู้ถือครองหุ้นแทนจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน และด้วยวิธีซื้อขายเช่นเดียวกันกับคดีนี้ แต่คณะกรรมการตรวจสอบก็มิได้หยิบยกมาดำเนินคดีนั้น เห็นว่า เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจสอบที่จะตรวจสอบกรณีใด แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นอ้างข้างต้นไม่ปรากฏว่า การซื้อขายระหว่างผู้ถือครองหุ้นแทนจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการกระทำโดยความเท็จหรืออุบายอำพรางการให้ระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเสีภาษีอากรดังเช่นคดีนี้หรือไม่ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ และที่นำสืบว่าคณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบจึงต้องเป็นบุคคลที่เป็นกลางเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่กรรมการตรวจสอบบางคนไม่มีความเป็นกลาง เคยมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาก่อนนั้น เห็นว่า จากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ควรที่คณะกรรรมการตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นกลาง และพฤติกรรมของคณะรรรมการตรวจสอบบางคนตามเอกสารและภาพถ่ายพยานจำเลยทั้งสามก็มีเหตุผลให้เข้าใจไปได้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบบางคนเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นกลาง แต่เนื่องจากไม่มีบทบัญญติของกฎหมายกำหนดคุณสมบัติคณะกรรการตรวจสอบไว้เช่นคุณสมบัติของคณกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามที่ปรากฏในสำนวนก็ไม่ได้ความว่าคณะกรรมการตรวสอบคนใดกระทำอย่างใดที่ส่อไปในทางที่ไม่เป็นกลาง หรือกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสาม คณะกรรมการตรวจสอบมีจำนวนมากถึง 12 คน ทุกคนล้วนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์และตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ไม่น่าที่คณะกรรมการตรวจสอบบางคนจะสามารถโน้มน้าวครอบงำให้คณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดมาร่วมกันกระทำการใดที่ไม่เป็นกลางในการตรวจสอบคดีนี้ เพราะจะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน ความเชื่อถือที่บุคคลเหล่านั้นมีอยู่ รวมทั้งเสี่ยงต่อการที่จะมีความผิดตามกฎหมายได้ ที่สำคัญพยานหลักฐานการกระทำผิดตามฟ้องที่คณะกรรมการตรวจสอบนำมาตรวจสอบเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้น และมีอยู่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งเป็นพยานหลักฐานที่จัดทำโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ศาลรัฐธรรมนูญและกรรมสรรพากร เกือบทั้งหมด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็มิได้ปฎิเสธความมีอยู่ของพยานหลักฐานเหล่านั้น คณะกรรมการตรวจสอบเพียงรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวมาตรวจสอบแล้ว ทำความเห็นส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด พิจารณาอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น คดีฟังไม่ได้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในคดีนี้โดยไม่เป็นกลาง ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบมีคำสั่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีจำเลยที่ 1 ใหม่ตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการมุ่งที่จะเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ 1 ให้ได้ โดยหาได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรมตามประมวลรัษฎากรไม่ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวและคดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีภาระภาษีแล้วตามเอกสารหมายเลข ล.92 นั้น เห็นว่าเอกสารจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงภาพถ่ายจากเว็บไซต์ อ้างข่าวจากแหล่งข่าวกรมสรรพากร ทั้งยังเป็นประเด็นเรื่องขาดอายุความประเมินภาษี ที่เจ้าหน้าที่ประเมินกระทำ ในภายหลังเหตุการณ์ตามฟ้อง มิใช่เรื่องการกระทำของคณะกรรมการตรวจสอบที่เกี่ยวกับภาระภาษีของจำเลยที่ 1 ที่ยังมีอยู่ในขณะมีการกระทำผิดตามฟ้อง และที่นำสืบว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบอายัดเงินที่ได้จากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมหุ้นตามฟ้องด้วย ว่าเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงถึงความไม่สุจริตของคณะกรรมการตรวจสอบในการดำเนินคดี เนื่องจากหุ้นตามฟ้องจะเป็นของจำเลยที่ 1 และของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเวลาเดียวกันไม่ได้ ข้อกล่าวหาคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสามได้นั้น เห็นว่าในชั้นนี้ ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยุติ แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบมาในคดีนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ยืนยันรับข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหุ้น ตามฟ้องและมีเจตนาจะให้หุ้นนั้นแก่จำเลยที่ 1 แต่ได้ทำเป็นซื้อขายแทนการชำระค่าหุ้น ให้ด้วยเงินของจำเลยที่ 2 เอง ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ยืนยันสอดคล้องต่อเนื่องกันว่า รับให้หุ้นตามฟ้องของจำเลยที่ 2 ด้วยเจตนาที่จะถือครองเป็นของตนเอง ทั้งได้ไปแจ้งการถือครองหุ้นกับขอออกใบหลักทรัพย์มาเก็บรักษาไว้ เป็นหลักฐานด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีภาระภาษีสำหรับมูลค่าหุ้นที่ได้รับการให้มานั้น แต่จำเลยทั้งสามกลับทำการซื้อขายหุ้นอันเป็นความเท็จแทนเพื่ออำพรางการให้ จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร

การกล่าวหาและดำเนินคดีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบเป็นไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงชอบแล้ว ไม่ได้ไม่สุจริตตามที่จำเลยทั้งสามอ้าง สำหรับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ ไม่นำให้ผลคดีเปลี่ยนไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัยโดยสรุป พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามไม่สามารถหักล้างได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือ โดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามฟ้อง ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติดังกล่าวข้างต้น ภายหลังจากกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสาร ประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จแล้ว กรมสรรพากร ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.32 เชิญจำเลยที่ 1 แจ้งว่าประสงค์จะขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคดีนี้ ให้จำเลยที่ 1 ไปพบที่สำนักงานตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร และนำหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้น การชำระเงินค่าหุ้นและอื่นๆ ไปประกอบการพิจารณาด้วย จำเลยที่ 1 จึงไปพบและให้การต่อ นาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีและนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 ตามบันทึกคำให้การเอกสาร จ.33 และ จ.34 หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ไปพบและให้การต่อ นางเบญจา หลุยเจริญ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.37 นั้น เป็นกรณีกรมสรรพากรเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรเชื่อว่าการซื้อขายหุ้นตามฟ้องหลีกเลี่ยงภาษีอากร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจึงหยิบยกการเสียภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ขณะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความเรียกเอาค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมาย จากข้อความในหนังสือเชิญดังกล่าวจำเลยที่ 1 และ 2 ย่อมทราบดีว่าเป็นการเรียกตรวจสอบการเสียภาษีอากร จึงไปพบและให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามกฎหมาย ปรากฏถ้อยคำตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.33 จ.34 และ จ.37 ตามลำดับ มีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ต้องการให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัวและมีฐานะที่มั่นคงทัดเทียมกับพี่น้องจึงสนันสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานกันจะให้หุ้นแก่จำเลยที่ 1 เป็นของขวัญวันแต่งงาน แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำงานทางการเมือง จึงมาให้ภายหลังเมื่อบุตรของจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปี เป็นการให้ของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรของจำเลยที่ 1 ขณะนี้จำเลยที่ 2 กับครอบครัวมีทรัพย์สินมากว่า 20,000,000,000 บาท จึงอยู่ในฐานะและวิสัยที่จะให้แก่บุคคลในครอบครัวได้ ทำนองว่าเป็นการให้ที่เป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งหากคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นเป็นความจริง มูลค่าหุ้นที่ได้รับจากการให้จะเป็นเงินได้ประเภทที่จำเลยที่ 1 ผู้รับให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10) แต่ปรากฏว่าคำให้การนั้น ไม่เป็นความจริงดังที่วินิจฉัยข้างต้น แม้คำให้การดังกล่าวจะสอดคล้องตรงกันกับคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 ก็เป็นการร่วมกันยกข้อที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมาอ้างเพื่อให้เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกำลังตรวจสอบ เป็นเหตุให้กรมสรรพากรหลงเชื่อไม่เรียกเก็บภาษีอากรจากจำเลยที่ 1 และให้ยุติเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า กรณีข้างต้นเป็นการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 อีกกรณีหนึ่ง จึงต้องมีการออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 ผู้ยื่นรายการมาไต่สวนก่อน แต่กรณีนี้ไม่ได้ออกหมายเรียก เป็นเพียงออกหนังสือเชิญเท่านั้น ทำนองว่าการประเมินของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ไว้จะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า แม้จะเป็นการประเมินตามมาตรา 19 ดังที่อ้าง แต่บทมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ว่า จะต้องมีการไต่สวนผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน รวมทั้งหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการ หรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ จึงได้ให้อำนาจพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกในกรณีต่างๆ ไว้ในมาตรา 19 สำหรับคดีนี้ สำนักตรวจสอบภาษีได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.32 เชิญจำเลยที่ 1 ไปพบพร้อมนำหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไปพบเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีตามหนังสือนั้น โดยมิได้โต้แย้งว่า ไม่ได้ออกหมายเรียก ทั้งยังได้ให้การในประเด็นการซื้อขายหุ้นตามฟ้อง ตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีถาม กรณีถือได้ว่ามีการไต่สวนตามมาตรา 19 ข้างต้นแล้ว แม้จะไม่มิเอกสารหมายเรียกจำเลยที่ 1 ก็ตาม การสอบคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ในปัญหานี้มั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามไม่สามารถหักล้างได้ เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามฟ้อง

จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำเลยที่ 2 เป็นกริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่จำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้น เทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองดีทุกคน จึงมิได้มีผลกระทำต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี สำหรับคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษที่จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่อย่างไร จึงไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อตามที่ขอได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้


คุณหญิงพจมานเดินทางไปรับฟังคำพิพากษากับครอบครัว




ไอ้โม่งสั่งสรรพากรบีบไทยพาณิชย์ถอนอายัด1.2หมื่นล้านคืนแม้ว
เฮือกสุดท้ายก่อนหมดหมดลุ้น ไอ้โม่งสั่งสรรพากรบีบแบงก์ไทยพาณิชย์คาย 1.2 หมื่นล้าน ก่อนศาลยึดทรัพย์แม้ววันจันทร์ อ้างเป็นเงินภาษีบวกค่าปรับจากการขายหุ้นชินคอร์ปของโอ๊ค-เอม แฉให้สรรพากรภาค 1 ทำหนังสือเสนอรองอธิบดีฯ ชง รมช.คลัง ด้าน ประดิษฐ์ ยอมรับไฟเขียวหลังรองอธิบดีเข้าพบเมื่อวันที่ 21 ส.ค. อ้างนำเงินเข้ากรมไม่ใช่คืนให้ทักษิณ หมอเลี้ยบอ้ำอึ้ง ปัดไม่ใช่หน้าที่คลัง ขณะที่ไทยพาณิชย์ถกเครียด ยึดตาม ป.ป.ช.ไม่ให้ถอน สักยันหมดสิทธิเพราะเข้าสู่ศาล ไม่มีหน่วยงานใดถอนอายัดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น