xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯอุทธรณ์ค้านเปิดถนน ศาลนัดสั่งบ่ายนี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
“พันธมิตรฯ” ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลแพ่ง สั่งเปิดถนน-ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมยื่นคำให้การ-คำขอทุเลาการคุ้มครองชั่วคราว-ส่งศาล รธน.วินิจิฉัย ป.วิแพ่ง ขัด รธน.ม.63-คัดค้านแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ขณะที่ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องบังคับคดี บ่ายนี้

วันนี้ (7 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความแกนนำพันธมิตร ได้เดินทางมายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลแพ่ง มีคำสั่งให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกจำเลยทั้ง 6 คน เปิดพื้นที่การจราจรบนถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก และให้งดการใช้เครื่องขยายเสียง ช่วงเวลา 07.30-16.30 น.ในวันจันทร์-วันศุกร์ ในคดีดำหมายเลขที่ 3604/2551ที่ นางวรรธนันท์ พรวนต้นไทร ครูโรงเรียนราชวินิตมัธยม กับพวก รวม 10 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เรื่องละเมิด ขับไล่ รื้อเวที

โดยคำอุทธรณ์ดังกล่าว สรุปว่า แม้การที่ศาลแพ่งไม่ได้มีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกการชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำเลย เปิดถนนบริเวณที่ประชาชนใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะในเวลากลางวันนั้น ย่อมเป็นการกำจัดสิทธิในการชุมนุมที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม อีกทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในการชุมนุม และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนที่มาร่วมกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ โดยจำเลยเห็นว่าการใช้สิทธิการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรค 1 ขณะที่มาตรา 29 บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลไว้ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะทำไม่ได้ดังนั้นการที่ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว โดยนำประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณาที่มิใช่กฎหมายเฉพาะในกรณีชุมนุมสาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ มาใช้บังคับจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของจำเลยและประชาชนที่ร่วมกันใช้สิทธิในการชุมนุม จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มรตรา 63 และ 29

โดยที่ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าการชุมนุมเปิดเครื่องเสียงเป็นการใช้สิทธิที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 421 และ 1337 นั้น สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิทธิคนละประเภท และไม่ใช่สิทธิที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหากเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชน นอกจากนี้ในการช่างน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีนี้ จำเลยทั้ง 6 คน มีหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การฟ้องของโจทก์ทั้ง 10 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คือเป็นการกระทำของพรรคพลังประชาชนที่ต้องการสลายการชุมนุม จึงมอบหมายให้นายเมธี ใจสมุทร น้องชายของ นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกพรรคพลังประชาชนเป็นทนายความดำเนินคดี ขณะที่จำเลยทั้ง 6 คน มีนักเรียนราชวินิต 2 คน และผู้ปกครอง 3 คน เคยมาเบิกความในคดีนี้ ว่าการใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มพันธมิตร หันลำโพงไปทางทำเนียบและเปิดสียงเบา ไม่ได้ส่งเสียงรบกวนการเรียนการสอนแต่อย่างใด ซึ่งตอนที่ไม่มีการชุมนุมเสียงรถยนต์จะดังมากกว่า เพราะห้องเรียนอยู่ติดถนน ขณะที่ผู้ปกครอง 3 คน เบิกความทำนองเดียวกันว่า การเดินทางมาที่โรงเรียน มาได้หลายเส้นทางแม้จะมีการปิดถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 6 คน ยังระบุด้วยว่าโจทก์ทั้ง 10 ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งผู้เสียหายวนคดีนี้ คือ สำนักงานเขตดุสิต กทม.ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้เครื่องขยายเสียงในเขต กทม.และการใช้ถนนบนพื้นผิวจราจร มีตำรวจจราจร สังกัด สตช. เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่พื้นผิวบนทางเท้า มีเจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.เป็นผู้ดูแล ดังนั้น โจทก์ทั้ง 10 จะต้องไปร้องทุกข์ต่อหน่วยงานดังกล่าวโดยไม่สามารถมาใช้สิทธิมาฟ้องจำเลยได้โดยตรง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจำเลยทั้ง 6 คน จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ยกเลิกคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ทั้ง 10 ต่อไป อย่างไรก็ดี หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์มีอำนาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิแพ่ง ที่ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะ เพื่อการชุมนุมสาธารณะมาใช้บังคับอันจะเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ได้ โดยจำเลยทั้ง 6 คน เห็นแย้งว่า บทบัญญัติดังกล่าวนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และ 29 ดังนั้นหากศาลอุทธรณ์จะนำบทบัญญัติ ป.วิ แพ่งมาบังคับในคดีนี้จำเลยทั้ง 6 คน ก็ขอให้ส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวด้วย

นอกจากคำสั่งดังกล่าวแล้ว ทนายความพันธมติรฯ ยังได้ยื่นคำให้การของจำเลยทั้ง 6 คน ประกอบคำอุทธรณ์ รวมทั้งคำขอทุเลาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งด้วย ขณะเดียวกันทนายความยังได้ยื่นคำขัดค้านคำร้องที่ทนายความของครูโรงเรียนราชวินิต ร้องขอให้ศาลแพ่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ เวลา 13.30 น.ศาลแพ่งได้นัดไต่สวนคำร้องครูราชวินิต กับพวก ร้องขอให้ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เนื่องจากเห็นว่า จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยครบถ้วน ซึ่งศาลหมายเรียก พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น.พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษก ตร. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น.1 และ นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผอ.ขสมก.เข้าไต่สวนในวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น