กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
โรงเรียนนายสิบทหารบก มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Army Non Commissioned Officer School ซึ่งคำว่า “Non Commissioned” ว่ากันตรงๆ ก็คือ “ไม่ใช่ชั้นสัญญาบัตร” เรียกกันว่า “ทหารชั้นประทวน”
เพราะในอดีตทหารชั้นยศตั้งแต่สิบตรี ถึงจ่าสิบเอก จะใช้ “ใบประทวน” แต่งตั้งโดยเจ้ากระทรวง
ส่วนทหารสัญญาบัตร จบจาก “โรงเรียนเตรียมทหาร” และ “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” ชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีถึงพลเอก จะใช้ “สัญญาบัตร” แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์
คนที่จะเข้าไปเป็น “นักเรียนนายสิบ” ได้ ต้องผ่านการสอบคัดเลือก เปิดรับสมัครบุคคลที่มีอายุ 18-24 ปี วุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.6 ขึ้นไป หรือทหารกองประจำการ ทหารกองหนุน พลอาสาสมัคร (ประจำการ) และอาสาสมัครทหารพราน
เพราะฉะนั้น บ่อยครั้งเราจะเห็น “ทหารเกณฑ์” ส่วนหนึ่งเลือกสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ แล้วรับราชการทหารยศ “สิบตรี” เพื่อความมั่นคงในชีวิต แม้จะได้รับเงินเดือนอันน้อยนิด แต่ก็มีสวัสดิการรักษาพยาบาลไปถึงครอบครัวและพ่อแม่
ที่ผ่านมา โรงเรียนนายสิบทหารบก ผลิตนายทหารชั้นประทวนปีหนึ่งประมาณพันกว่าคน รวมกันแล้วก็หลักหมื่นคน ไม่นับที่บรรจุมา ในแต่ละปีมักจะมีรุ่นเป็นของตนเอง เกิดสังคมศิษย์เก่าแต่ละรุ่นอย่างเหนียวแน่นไม่แพ้สถาบันอื่นๆ
คนที่จบจากโรงเรียนนายสิบทหารบก จะต่างจากคนที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร และ โรงเรียน จ.ป.ร. ที่ผลิตนายทหารชั้นสัญญาบัตร ยศ “ร้อยตรี” ขึ้นไป เพราะมีโอกาสเติบโตได้ถึงระดับ “นายพล” แต่ทหารนายสิบไปไม่ถึงตรงนั้น
เส้นทางชีวิตของทหารนายสิบไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อต้องเผชิญกับ “ผู้บังคับบัญชา” ที่วัดดวงกันว่า ถ้าได้นายดีก็ดีไป แต่ถ้าได้นายไม่ดีก็ไม่มีทางเลือก ต้องทนอยู่เป็นผู้ถูกกระทำอยู่เรื่อยๆ
บ่อยครั้งที่ผู้เขียนมักจะได้ยินความไม่เป็นธรรมของทหารนายสิบอยู่เรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็ได้เพียงแค่บ่นให้ฟังในวงเหล้า ระบายความในใจออกมาว่าไปเจออะไร ถูกกลั่นแกล้งอะไรไปบ้าง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ให้เรื่องราวลอยไปกับสายลม
เพราะทหารชั้นผู้น้อย มักจะถูกปลูกฝังค่านิยมที่ว่า “ต้องเชื่อฟังคำสั่ง” เท่านั้น เสียงจากผู้บังคับบัญชาคือเสียงสวรรค์ ยึดถือคำสั่งและภารกิจเป็นสิ่งเหนือชีวิต
ขนาดทหารที่จะให้ข่าวกับสื่อมวลชนได้ จะต้องเป็นทหารยศ “พันเอกพิเศษ” ขึ้นไปเท่านั้น
แต่ผู้บังคับบัญชาก็มีทั้งดีและเลว ผู้บังคับบัญชาบางคนก็เลว เอาเปรียบตั้งแต่ลูกน้องยันทหารเกณฑ์ ตอนที่ปรับเงินเดือนเพิ่ม แล้วทหารผลัดที่ปลดไปแล้วต้องได้เงินย้อนหลัง กลับเงียบหายไปกับสายลม จะไปทวงก็ไม่ได้เดี๋ยวจะได้ลูกปืน
ทหารนายสิบรายหนึ่งกล่าวว่า การปกครองต้องมีพระเดชและพระคุณ เคารพพี่ ให้เกียรติเพื่อน คอยเตือนน้อง ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แต่ปัจจุบันระบบทหารกำลังเสื่อมสลาย เพราะระบบที่เลว กัดกร่อนให้คนดีกลายเป็นปีศาจร้าย
ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “นายลืมปืน นายยังเหลือลูกน้อง แต่ถ้านายลืมลูกน้อง นายจะไม่เหลือใคร”
กรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดกรมสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา กราดยิงผู้คนในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
เพราะต้นตอเกิดจาก “ความไม่เป็นธรรม” ของผู้บังคับบัญชา
ชนวนเหตุสำคัญมาจากการที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ทำสัญญาเงินกู้ออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก (เงินกู้ อทบ.) ประเภทเพื่อการเคหสงเคราะห์จากกองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบก จำนวน 1.5 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินและสร้างบ้านพัก
เผอิญที่ดินตรงนั้น “แม่ยาย” ของผู้บังคับบัญชาเป็นเจ้าของ ไปซื้อที่ดินเกษตรกรรมราคาถูกในไร่ข้าวโพด ติดถนนลูกรังห่างไกลความเจริญ เอามาจัดสรรสร้างบ้านแบ่งขาย จ.ส.อ.จักรพันธ์กู้เงินซื้อบ้านก็หวังส่วนต่างที่เหลือนับแสนบาท
แต่เมื่อเห็นว่าผู้บังคับบัญชาและแม่ยาย “ขี้โกง” กลายเป็นความแค้นที่นำไปสู่โศกนาฎกรรม ต่อให้สังคมจะประนามพฤติกรรมยิงไม่เลือกหน้า ฆ่าไม่เลือกที่ แต่ลึกๆ แล้วในตอนนั้นเขา “ไม่มีอะไจจะเสีย” และพร้อมที่จะตายได้ทุกเมื่อ
หลังเหตุการณ์ในวันนั้น “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้แต่ร้องห่มร้องไห้ แต่ก็ปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างว่า “นาทีผู้ก่อเหตุลั่นไกปืนฆ่าผู้บริสุทธิ์ เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว”
สุดท้ายทำได้แค่ “ตั้งคอลเซ็นเตอร์” ให้ทหารชั้นผู้น้อยร้องเรียน ซึ่งก็คงไม่มีใครกล้าที่จะใช้ช่องทางนี้ ต่อให้อ้างว่าจ้างบุคคลภายนอกก็ตาม เพราะเกรงว่าเรื่องจะมาถึงผู้บังคับบัญชาแล้วถูกเล่นงานภายหลัง
มาถึงกรณีของ “จ่าจำปา” จ.ส.อ.พีรศักดิ์ จำปา ทหารประจำหมวดกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 5 กองพลทหารราบที่ 5 จ.นครศรีธรรมราช ถูกจำขัง 45 วัน ส่งไปฝึกที่ศูนย์ฝึกธำรงวินัย และสั่งงดบำเหน็จประจำปี 2563 (ครึ่งปีหลัง)
เพียงเพราะมีข่าวและคลิปที่สติงเกอร์ (นักข่าวภูมิภาค) ตัดต่อระหว่างที่ นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ไปโต้เถียงกับจ่าจำปา ระหว่างที่จ่าจำปายื่นเอกสารขอผ่านด่านโควิด เพราะจะพาแม่ที่ป่วยหนักไปโรงพยาบาล
การถูกลงโทษแบบนี้เท่ากับ “ตัดอนาคต” ในอาชีพทหาร เพราะนอกจากการถูกจำขังในเรือนจำทหาร ถูกธำรงวินัย ตัดบำเหน็จขาดรายได้แล้ว ยังจะถูกบันทึกใน “สมุดประวัติ” เป็นตราบาปที่เติบโตไม่ได้ไปตลอดชีวิต
ส่วนผู้ว่าฯ ตรัง หลังเกิดเรื่องได้แต่ส่งภรรยาไปเยี่ยมแม่จ่าจำปา แล้วออกข่าวทุกช่อง ส่วนนักข่าวสติงเกอร์ตัวปล่อยคลิปก็พยายามกลบเกลื่อนเรื่องนี้ แม้จะรู้ตัวหรือไม่ว่า “ผิดจรรยาบรรณ” การเป็นสื่อมวลชนก็ตาม
ขณะที่ “บิ๊กแดง” ก็ไม่ดูดำดูดีกับทหารชั้นผู้น้อยรายนี้ ยืนยันว่า ในการลงทัณฑ์ถือว่าปฏิบัติถูกต้องแล้ว แต่ขอให้แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ลงไปช่วยกำกับดูแลและให้การช่วยเหลือตามสมควร
นำไปสู่ภาพข่าวที่ฝ่ายทหารต่างส่งให้สื่อมวลชนทุกช่อง ทุกสถานี ช่วยกันประโคมข่าว ทำนองว่า “จ่าจำปา” ได้พบแม่แล้ว เพื่อลดกระแสสังคมที่จะโจมตีผู้บังคับบัญชา แต่ถ้าใครที่ตามข่าวมาตั้งแต่ต้นก็คง “ดูออก” ว่าอะไรเป็นอะไร
แต่ภาพที่เกิดขึ้นกับสังคมทหารชั้นประทวน ทหารชั้นผู้น้อย คือความมีน้ำใจ ในช่วงที่จ่าจำปาไม่ได้รับความเป็นธรรม อดีตผู้บังคับบัญชาเตรียมที่จะจ้างคนมาดูแลแม่แทน และเปิดรับบริจาคเงินภายในกองร้อยด้วยกันเอง
ผลที่สุด “ธารน้ำใจ” จากทหารชั้นผู้น้อย เพื่อนร่วมสถาบันโรงเรียนนายสิบทหารบก รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ทราบข่าว ต่างโอนเงินช่วยเหลือตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน กระทั่งภายในวัน-สองวัน มียอดบริจาคช่วยเหลือ รวมกันกว่า 2 แสนบาท
แต่บรรดาผู้บังคับบัญชา ก็ใช้วิธีกวดขันกำลังพลให้ธำรงและรักษาไว้ซึ่งวินัยทหาร การแสดงความคิดเห็นให้อยู่บนพื้นฐานความจริง และไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกภายในกรมกอง เสมือนเป็นการ “ปิดปาก” ความไม่เป็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง
สองเหตุการณ์ที่หยิบยกมานี้ มีคนวิเคราะห์ไว้ว่า แม้นายทหารจะไม่จริงจังในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร แต่แนวโน้มในอนาคต จะเกิดการรวมกลุ่มของทหารระดับนายสิบแบบนี้ตามมา จนกระทบต่อการบังคับบัญชา
ที่ผ่านมาไม่เคยมีการรวมกลุ่มแบบนี้ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์จ่าจักรกราดยิงที่โคราช ทำให้ทหารนายสิบกลับมามองเรื่อง “ความเท่าเทียม” มากขึ้น เพราะถ้าไม่ได้จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร จะเติบโตในหน้าที่การงานได้ยากมาก
ทางออกของเรื่องนี้คือ “การปฏิรูปกองทัพ” ที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองบางพรรค แต่เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระบบการปกครองของสายงานทหาร ต้องกระจายอำนาจการบริหาร ไม่ผูกขาดเฉพาะ “นายทหาร” กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ที่สำคัญ นายทหารทุกคนต้องตรวจสอบได้ และต้องสร้างโอกาสให้กำลังพลในการเติบโต เพราะถ้าไม่ได้จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร การเติบโตไม่ต้องพูดถึง และเรื่องเงินตอบแทนไม่ต้องพูดถึงเพราะต่ำมาก