อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า “คำถาม 6 ข้อ” ที่นายกฯ “บิ๊กตู่” ถามประชาชนของท่านนั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ในสนามการเมืองเมื่อจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะมี “พรรคการเมืองใหม่” ที่เป็นร่างอวตารของ คสช.ผู้ครอบครองอำนาจในการบริหารประเทศมากว่า 3 ปี (และ 4 ปี ถ้านับถึงวันเลือกตั้ง) จะเป็นหนึ่งใน “ผู้เล่น” นั้นเป็นไปได้สูงเอามากๆ ทีเดียว
หากเรากางคำถามทั้ง 6 ข้อออกมาพิจารณา ก็จะเห็นนัย 2-3 ประการ ทั้งในเรื่องการ “โยนหินถามทาง” การตั้งหรือสนับสนุนพรรคการเมืองของ คสช.ในเรื่องการประเมินผลการทำงานของรัฐบาล และส่วนสุดท้าย คือการกล่าวถึงปัญหาของพรรคการเมืองหน้าเดิม หรือระบบการเมืองแบบเดิม
ดังนั้น ถ้านำมารวมกันเข้าให้เป็นประโยคเดียวก็อาจจะได้เป็นคำถามยาวๆ ว่า “ท่านพอใจในการบริหารประเทศของ คสช. หรือไม่ ท่านเบื่อพรรคการเมืองเดิมๆ หรือเปล่า ถ้าอย่างนั้น ถ้าเราจะขอเป็นพรรคตัวเลือกใหม่ ท่านจะเห็นเป็นอย่างไรบ้าง”
ทั้งนี้ แม้โดยกลไกตามรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐสภาภายใต้การเลือกตั้งครั้งแรก เราจะมี “พรรค คสช.” อยู่แล้วแบบฟรีๆ ภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจำนวน 250 ที่นั่ง ได้แก่ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยการเสนอชื่อของ คสช.ประกอบกับผู้นำเหล่าทัพซึ่งจะได้เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง และบรรดา ส.ว.แต่งตั้งเหล่านั้นก็มีอำนาจในการเสนอชื่อและออกเสียงเลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้ด้วย
แต่ในการบริหารประเทศในรูปแบบของรัฐบาล ภายใต้ระบอบรัฐสภาให้ได้ในระยะยาวแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “เสียงในสภาผู้แทนราษฎร” ที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของการให้ความเห็นชอบกฎหมายต่างๆ ตามกลไกกระบวนการนิติบัญญัติ และในเรื่องของการลงคะแนนเสียงไว้วางใจรัฐบาล ดังนั้น นายกรัฐมนตรีที่จะบริหารประเทศไปได้ภายใต้ระบบรัฐสภาที่ว่านั้น อย่างน้อยจึงควรจะมี “พรรคการเมือง” ขนาดกลางที่สนับสนุนตัวเอง และได้รับความร่วมมือกับ “พรรคใหญ่” สักพรรคหนึ่ง จับมือกันทำงานในรูปแบบของรัฐบาลผสม
ในสภาพของ “สนามการเมือง” ในปัจจุบันนี้ เป็นพื้นที่ของพรรคใหญ่สองพรรค อย่างที่เรารู้กัน คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ซึ่งถ้าไม่มองกันอย่างไร้เดียงสาทางการเมืองเกินไป คงจะคาดเดาได้ว่า “พรรคใหญ่” พรรคไหนที่น่าจะเป็น “พันธมิตร” กับ “พรรคการเมืองใหม่” ของว่าที่นายกคนใหม่ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิมได้
แม้ในขณะนี้ฝ่ายการเมืองจะ “เพลี่ยงพล้ำ” ไปเยอะ แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากมีการตัดสินกันด้วยการเลือกตั้งกันจริงๆ แล้ว พรรคใหญ่ทั้งสองพรรคนี้ก็ยังมี “แฟนประจำ” หรือฐานเสียงที่เหนียวแน่นของตัวเองที่จะชิงพื้นที่ในสภาได้แบบเป็นกอบเป็นกำค่อนข้างแน่นอน
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มีมวลชนของตัวเองที่ค่อนข้างเหนียวแน่น
ดังนั้น “พรรคการเมืองใหม่” ที่ว่านี้ จึงจำเป็นต้องชิง “เสียง” จาก “พลังเงียบ” หรือคนกลางๆ ที่ไม่ใช้ “ฐานเสียงประจำ” ของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคที่ว่านั้นมาให้ได้มากที่สุด ทั้งในแง่ของ ส.ส.เขตเชิงพื้นที่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นั้นเอื้อให้นำคะแนนของ ส.ส.เขตทั้งหมดในประเทศมาคำนวณสัดส่วน ดังนั้นเสียงทุกเสียงที่ “ชิง” มาได้จาก “ฐานเสียงที่เป็นกลาง” เหล่านี้จึงมีความหมายมากทีเดียว ซึ่งการที่จะชิง “พื้นที่” มาได้จาก “คะแนนเสียง” เหล่านี้ ก็เห็นจะต้องรอวัดใจกันจากการบริหารประเทศของ “นายกฯ ตู่” ตั้งแต่บัดนี้ต่อไป หลังจากที่ปี่กลองของเวทีการเมืองนั้นเริ่มบรรเลง ด้วยการตั้งคำถาม 6 ข้อที่ว่าด้วยตัวเอง
เช่น การปรับ ครม.ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ ประชาชนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่แสดงถึงการ “เอาจริง” ของการบริหารประเทศโดยไม่พึ่งพิงกับระบบเพื่อนพ้องน้องพี่สีเดียวกันแค่ไหน
และการบริหารประเทศต่อจากนี้จนถึงวันเลือกตั้ง จะได้ผลอย่างไร สามารถแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลปัจจุบัน หนักที่สุดคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนลงไปได้แค่ไหน
อย่าลืมว่า อย่างที่ได้กล่าวไปในบทความของอาทิตย์ที่แล้วว่า ประชาชนที่เขาสนับสนุนนั้น ไม่ใช่การสนับสนุน “รัฐบาล คสช.” แต่เขาสนับสนุน “นายกฯ บิ๊กตู่” หรือ “ลุงตู่” ของพวกเขานั่นเอง
หากปรับ ครม.แล้วก็ยังไม่มีความแตกต่างอย่างไร เต็มไปด้วยเครือข่ายคนหน้าเดิมๆ ใน คสช.หรือคาดหมายได้ว่าตั้งพรรคมาแล้วจะเป็นพรรค คสช.มาบริหารประเทศ ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า จะสามารถชิงพื้นที่คะแนนเสียงจากพลังเงียบคือเสียงของคนกลางๆ มาได้หรือไม่
เพราะถ้าตัดสินกันด้วยเสียงจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว อาจจะต้องกล่าวว่า “เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง” เพราะพรรคการเมืองใหม่ที่จะตั้งกันนั้น ไม่มีฐานเสียงเดิม และคงไม่มี “กระสุน” ทุนที่จะลงไปหว่านต่อสู้กับสองขั้วอำนาจพรรคใหญ่ได้
ส่วนการจะใช้ “อำนาจ” ที่มีอยู่ในมือนั้น สร้างความได้เปรียบทางการเมือง เช่นการเยื้อยืดเรื่องการปลดล็อกทางการเมืองออกไปเรื่อยๆ หรือใช้อำนาจพิเศษที่มีปิดปากฝ่ายการเมือง เช่น การให้อำนาจรัฐสอดส่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่เป็นข่าวออกมา หรือที่ออกมาชี้หน้าด่าฝ่ายการเมืองข้างเดียว อย่างที่ทำมาตลอดนั้น
การใช้วิธีนี้ต่อไปมากๆ ก็ต้องระวังปฏิกิริยากลับมา ด้วยกฎธรรมชาติธรรมดาที่ว่า ยิ่งกดหนัก ยิ่งเด้งแรง
ถ้าไม่ใช่ว่าพรรคที่ตั้งใหม่นี้ จะสามารถชิงพื้นที่ในสภามาได้เกินกว่าครึ่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ยาก ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าคงจะต้องอาศัยจับมือกับ “พรรคการเมืองเดิม” สักพรรคหรือสองพรรค มาเพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
การดำเนินเกมการเมืองด้วยวิธีการเอาเปรียบ หรือดิสเครดิตพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่ทุกพรรคโดยไม่เลือกหน้า อาจจะเป็นการเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนที่เกลียดชังนักการเมืองหน้าเก่า ให้พรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งได้ก็จริง
แต่การสร้างศัตรูไปเสียรอบทิศนั้น ก็อาจจะทำให้เกิดสิ่งที่แม้จะเป็นไปได้ยากมากๆ แต่ก็เป็นไปได้อยู่เหมือนกัน
คือการที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรค “จับมือกัน” เพื่อ “โค่น” พรรคการเมืองใหม่ที่เป็นอวตารของ “บิ๊กตู่” หรือ คสช.ลงไปได้ ชนิดที่ว่าต่อให้มี “เสียงพิเศษ” อีก 250 เสียง จากจำนวนเสียงของ ส.ว.ที่ว่า ก็อาจจะแพ้จำนวน ส.ส.ที่รวมตัวกันจากสองพรรคการเมืองใหญ่
สมการนี้ความเป็นไปได้ต่ำ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้หากพวกเขาเห็นตรงกันว่า “จำเป็น” จะต้องโค่น “ยักษ์” ที่เป็นศัตรูร่วมกันให้ล้มลงไปก่อน จากนั้นพวกเขาค่อยมาว่ากันทีหลัง
ประกอบกับถ้าการบริหารประเทศหลังจากนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีคนที่ประชาชนไม่ไว้วางใจร่วมอยู่ในเรือของพรรคการเมืองใหม่ที่จะตั้งขึ้นมานี้
อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น อย่าประมาทไว้ก็เป็นดี หากคิดว่าอยากจะ “ไปต่อ” กันจริงๆ.