xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญา” เตือน คสช.ลงเล่นเองจะสูญความเป็นกลาง ชี้ มีมาตรการคุมรัฐบาลใหม่อยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เชื่อ นายกฯ โยนหินถามทาง หากชาวบ้านหนุน พรรคที่เชียร์ คสช. จะได้เกิด ชี้ ส.ว.- ยุทธศาสตร์ชาติเป็นมาตรการที่คุมรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ หากทหารเชียร์พรรคใดจะทำความเป็นกลางหมด เตือนลงเล่นเองทำคนไม่เชื่อมั่นกลไกรัฐ แนะฝ่ายเลือกตั้งปฏิวัติตัวเองแย่งศรัทธาคืน ติงปลดล็อกพรรคช้าทำคนมองพรรคใหม่ไม่พร้อมหรือไม่

วันนี้ (9 พ.ย.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี ว่า หากมองอย่างพื้นๆ เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง อยากรู้ว่าหากมีพรรคการเมืองใหม่ตั้งขึ้นคนจะว่าอย่างไร และหาก คสช. จะเชียร์พรรคนั้นด้วยคนจะว่าอย่างไร และถ้ามองในชั้นที่สอง ก็คือ หากประชาชนสนับสนุน พรรคที่ คสช. เชียร์จะเกิดได้เลย ซึ่งตรงนี้ต้องมองไปถึงการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งด้วย เพราะ คสช. คุม ส.ว. เนื่องจากตัวเองเป็นคนแต่งตั้ง และยุทธศาสตร์ชาติที่ ครม. ใหม่ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ทำก็มีการร้อง ป.ป.ช. ได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ คสช. ยังคงคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้

นายปริญญา กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนมีข้อกังวลใจ คือ 1. ทั้ง 6 คำถามให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการสอบถามประชาชน ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องคำตอบว่าจะเที่ยงตรง หรือมีการรับฟังอย่างเพียงพอหรือไม่ เพราะมหาดไทยก็เป็นคนของ คสช. ซึ่งคำตอบที่ได้ก็อาจจะถูกทักท้วงว่าไม่ชอบธรรมที่จะมาใช้ในทางการเมือง 2. การที่ คสช. จะเชียร์พรรคใดพรรคหนึ่ง ทำให้สถานะความเป็นคนกลางจะหมดไปทันที เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาต่างๆ คสช. ก็เป็นคนตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่าง แล้วพอถึงเวลาจะแข่งขันตัวเองก็จะมาลงแข่งด้วย คสช. ก็จะเสียสถานะความเป็นคนกลางไปในทันที

“ความจริงแล้วอำนาจของ คสช. หลังการเลือกตั้งยังจะมีอยู่ต่อไปผ่านกลไกของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของตนเอง และผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำในเรื่องการปฏิรูปอีก 5 ปี ถือว่ามีอำนาจมากอยู่แล้ว ถ้า คสช. จะยังคงลงมาเป็นผู้เล่นเอง หรือไปสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง ความเสมอภาคของการเแข่งขันในการเลือกตั้งก็จะถูกกระทบและกลายเป็นปัญหาไม่เชื่อมั่นกลไกรัฐที่ คสช. ควบคุมอยู่ คำถามคือแล้วมันจะนำประเทศชาติกลับเช้าสู่สภาวะปกติได้จริงหรือ รวมทั้งถ้า คสช. ลงมาเล่นเอง แล้วชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอต่อประชาชน เกิดประชาชนไม่เลือกเข้ามาตั้งแต่แรก ความชอบธรรมในการที่จะมาก๊อกสองเป็นนายกฯคนนอกจากการใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาก็จะหมดไปในทันที ดังนั้น คิดว่า คสช. ควรรักษาความเป็นคนกลางไว้ดีกว่า แต่ถ้าจะมีคน คสช. เข้าไปเป็นตัวแทนในพรรคการเมืองใด ก็ควรจะลาออกจากการเป็นสมาชิก คสช. ก่อน แล้วให้พรรคเป็นผู้เสนอชื่อในบัญชีรายชื่อ”

อย่างไรก็ตาม นายปริญญา เห็นว่า การตั้งคำถามเช่นนี้ของ คสช. แสดงว่า ยังเห็นว่าประชาชนมีความสำคัญ จึงใช้ประชาชนมาสร้างความชอบธรรม รวมทั้งมองว่าขณะนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กับการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ ซึ่งฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะเรียกร้องให้ปลดล็อกพรรคการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่า ทำไมการเมืองที่มาจากการปฏิวัติจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้อยู่ในอำนาจได้ถึง 3 - 4 ปี ซึ่งเท่ากับวาระของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ปฏิวัติตัวเองเหมือนกัน เพื่อแย่งศรัทธาประชาชนคืนจากการเมืองที่มาจากการปฏิวัติให้ได้ เพราะถ้าประชาชนเห็นว่าการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่า ก็เชื่อว่า คสช. ก็ต้องกลับกรมกองของตัวเองอยู่แล้ว

นายปริญญา ยังเตือนไปถึง คสช. ด้วยว่า หากปลดล็อกพรรคการเมืองช้า อาจจะถูกมองว่าเป็นเพราะพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่ไม่พร้อมหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะปลดล็อกช้าก็อาจทำให้เลือกตั้งช้าไม่เป็นไปตามโรดแมป จริงอยู่คนที่ชอบ และเชียร์นายกฯมี แต่คนที่ไม่ชอบก็มี ซึ่งตนก็ยังหวังว่า คสช. จะรับฟังคำทักท้วง และไม่ลงมาเป็นผู้เล่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น