ทุกเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะวันสงกรานต์ของทุกปี ทางราชการจะต้องมีประกาศรณรงค์เรื่อง “เมาแล้วขับ” มาตลอด เพราะอุบัติเหตุทางถนนของเมืองไทยที่ติดอันดับ ๒ ของโลกนั้น สาเหตุใหญ่มาจาก “เมาแล้วขับ” ยิ่งในช่วงเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองด้วยแล้ว ความเศร้าเรื่องนี้ก็จะสูงขึ้นกว่าปกติมาก ซึ่งการแก้ไขดูก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอะไรนัก แค่ “เมาไม่ขับ” เท่านั้น แต่เป็นร้อยๆปีมาแล้ว ที่พยายามแก้ไขปัญหาคนเมาก่อภัยให้สังคม ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ และกลับรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัว ทรงห่วงใยในปัญหาที่คนเมาก่อปัญหาวิวาทกันมากขึ้น โปรดฯให้มีประกาศเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘.เรื่อง “ประกาศว่าด้วยคนพาลเสพสุราในวันตรุษสงกรานต์” มีความว่า
“ด้วยพระอินทราบดีสีหราชรองเมือง เจ้ากรมกองตระเวนขวา รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า เทศกาลตรุษสงกรานต์ควรที่ราษฎรจะชักชวนกันทำบุญให้ทาน กระทำการกุศลจึงจะชอบ นี่หาดังนั้นไม่ คนที่เป็นพาลสันดานหยาบชวนกันเสพสุราแล้วพากันไปเที่ยวกลางถนนหนทาง พูดจาท้าทายกล้าหาญให้เกิดการวิวาทชกตีกัน เพราะเสพสุราแล้วหาอยู่ในบ้านในเรือนของตัวไม่ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ผู้ใดผู้หนึ่งจะเสพสุราเมาสักเท่าใดก็มิได้ห้าม ด้วยสุรามีอากรอยู่แต่เดิมครั้นจะห้ามเสียทีเดียวก็หาสมควรไม่ ถ้าผู้ใดเสพสุราแล้วก็ให้อยู่แต่ในบ้านในเรือนของตัว ห้ามอย่าไปเที่ยวชกตีตามถนนหนทางที่บ้านเรือนเขตแดนผู้อื่นเป็นอันขาด
อนึ่ง ให้เจ้าของบ้านเจ้าของเรือน รักษาบ้านเรือนเขตแดนของตัว อย่าให้ผู้อื่นมาชกตีวิวาทที่หน้าบ้านเรือนของตัวได้ ถ้าผู้ใดเมาสุราแล้วมิได้อยู่ในบ้านเรือนของตัว บังอาจไปเที่ยวชกตีวิวาทกันที่บ้านเรือนเขตแดนผู้อื่น ก็ให้เจ้าของบ้านเจ้าของเรือนจับตัวผู้ที่เมาสุรามาชกตีวิวาทให้จงได้ ถ้าแลผู้ที่มาเที่ยวชกตีวิวาทถึงในบ้านเขตแดนของผู้อื่น ตัวจะมีบาดเจ็บมากกว่าผู้ที่มิได้บุกรุก แลผู้มิได้บุกรุกจะมิบาดเจ็บ ก็จะตัดสินให้ผู้ที่บุกรุกเป็นฝ่ายแพ้ จะทำโทษให้กับผู้ที่บุกรุกแต่ฝ่ายเดียว เพราะว่าตัวบังอาจไปเที่ยวชกตีวิวาทถึงเรือนเขตแดนผู้อื่น หาอยู่ในบ้านเขตแดนของตัวไม่”
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๑ หรืออีก ๓ ปีต่อมา ก็มีประกาศเรื่องคนเสพสุราเมาในวันสงกรานต์ ซึ่งคงจะหนักยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนักเลงและมิใช่นักเลง พากันเมามายก่อเรื่องไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งตามถนนและในวัด ดังมีข้อความว่า
“...มักเกิดถ้อยความวิวาทตีรันฟันแทงกันหลายแห่งหลายตำบลนัก ทั้งในกำแพงพระนครแลภายนอกพระนคร เหลือกำลังที่นายอำเภอแลกองตระเวนจะระวังดูแล...”
ฉะนั้นจึงทรงประกาศมาตรการให้เข้มข้นขึ้นอีกว่า
“...แต่นี้ไป เวลาตรุษสงกรานต์ ให้เจ้าของบ้านเอาใจใส่ระวังรักษาหน้าบ้านของตัว ถ้ามีคนเมาสุรามาเอะอะอื้ออึงถึงหน้าบ้าน ก็ให้จับเอาตัวมาส่งกรมพระนครบาลที่หน้าหับเผย ให้ทันเวลาที่ผู้นั้นยังเมาอยู่อย่าให้ทันสร่างเมา แต่ห้ามไม่ให้พวกบ้านอื่นๆมาพลอยกลุ้มรุมจับด้วย ถ้าคนเมามีพวกมากต่อสู้เจ้าของบ้าน ถึงเจ้าของบ้านจะจะชกตีมีบาดเจ็บก็ดี ถ้าจับตัวไปส่งกรมพระนครบาลๆชันสูตรรู้แน่ว่าคนนั้นเมาจริง ก็ให้เจ้าของบ้านเป็นชนะ ถ้าผู้จับมาส่งเห็นว่าถ้าจับตัวผู้บุกรุกไปส่งจะมีพวกของผู้นั้นคอยสกัดกั้นทาง แก้ไขตามทางที่จะไปส่งจะเกิดวิวาทกัน ถ้าอย่างนั้นก็ให้ยึดเอาไว้ มาบอกเล่ากับกรมพระนครบาล หรือนายอำเภอคนใดคนหนึ่งให้ไปชันสูตรว่าเมาหรือไม่เมา อย่าให้ทันคนเมานั้นสร่างเมาจะเป็นคำโต้เถียงกันไป
อนึ่งในยามตรุษสงกรานต์นั้น ผู้ใดจะเสพสุราเมามากก็ให้อยู่แต่ในบ้านเรือนของตัว ถึงจะมีที่ไปก็ให้งดรอค่อยสร่างเมาแล้วจึงไป”
เป็นอันว่าถ้าเมาแล้วไม่อยู่บ้าน ออกไปมีเรื่องก็ต้องเป็นฝ่ายผิดทั้งนั้น แม้แต่ถูกเตะถูกต่อยจนบาดเจ็บ คนชกก็ไม่ผิด
ยิ่งในยุคนี้ เมาแล้วขับ นับว่าเป็นภัยอันร้ายแรงในสังคม ทำให้คนตายและบาดเจ็บพิการปีละไม่น้อย ถ้าเมาแล้วไม่ขับ เมาอยู่บ้าน คนเคราะห์ร้ายเหล่านั้นก็จะมีชีวิตปกติสุข มีประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมต่อไป ไม่ต้องเสียชีวิตไปอย่างไร้ค่า หรือตายทั้งเป็นไปตลอดชีวิต เพราะคนที่เห็นแก่ความสนุกของตัวเองโดยไม่มีความรับผิดชอบ ก็สมควรแล้วที่จะมีโทษสถานหนัก และยึดรถที่ใช้เป็นอาวุธก่อภัยให้สังคม
ส่วนเมาแล้วไม่ขับ เมาอยู่บ้าน แต่กลับเตะเมีย ก็น่าจะยึดขาไปด้วยเสียเลย