ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า
นายดรงค์ ฤทธิปัญญา
คอลัมน์นิสต์ ประจำเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
"เมื่อก่อน ครั้งฉันเป็นเด็กน้อย คอยแต่คลาน
พ่อหัด ตั้งไข่ ให้จนฉันเดินเป็น
เตาะแตะ ก้าว ทีละน้อย ค่อยๆ เข็น
จับเกาะพ่อเดินเล่น ตามประสา เยาว์วัย"
ท่อนแรกของเพลง "พ่อ" ที่ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยคุณประภาส ชลศรานนท์ เรียบเรียงโดย คุณสุระชัย บุญแต่ง ขับร้องโดย คุณปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว เพื่อใช้ประกอบละครเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง "พ่อ" ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ เมื่อปี ๒๕๔๒ ที่ใครหลายคนอาจยังจำได้หรือคุ้นหูกับบทเพลงดังกล่าว เป็นอีก ๑ เพลงที่ผมเองรู้สึกตื้นตันใจทุกครั้งที่ได้ฟัง และนึกตามเนื้อหาของเพลงที่แปรความหมายได้ทั้งพ่ออันเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดของผม และพ่อของแผ่นดิน
อันเพลงที่สื่อความหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินในกาลก่อนนี้ ตามความเข้าใจของผมสามารถจำแนกมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ๑.เพลงที่เอ่ยถึงพระองค์โดยตรง อาทิ เพลง ล้นเกล้าเผ่าไทย ที่ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยครูชลธี ธารทอง โดยมีนักร้องผู้ล่วงลับ คุณสายัณห์ สัญญา ขับร้องบันทึกเสียงเป็นคนแรก และก็ถูกนำมาร้องกันอีกหลายคน หรือ เพลง "ต้นไม้ของพ่อ" ที่ขับร้องโดย คุณธงไชย แมคอินไตย์ ประพันธ์คำร้องโดย คุณนิติพงษ์ ห่อนาค ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงโดย คุณอภิไชย เย็นพูนสุข ที่ถูกใช้ในช่วงงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ ที่ขึ้นต้นว่า "นานมาแล้ว พ่อได้ปลูกต้นไม้ให้เรา" เป็นต้น
ส่วนอีก ๑ คือ เพลงที่ไม่ได้กล่าวถึงพระนาม พระราชกรณียกิจ แต่สื่อความหมายถึงพระองค์ได้ อย่างเช่นเพลง "พ่อ" ที่ผมเอ่ยมาข้างต้น
พูดถึง "เพลงเพื่อพ่อ" ที่มีความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยตรงนั้น มีผู้แต่งขึ้นมากมายหลายคน ส่วนที่ตัวผมประทับใจก็คงจะเป็น เพลง "รูปที่มีทุกบ้าน" ที่ขับร้องโดยคุณเบิร์ด ธงไชย ประพันธ์คำร้องโดย คุณนิติพงษ์ ห่อนาค แต่งทำนองโดย คุณอภิไชย เย็นพูนสุข และเรียบเรียงโดย คุณวีรภัทร์ อึ้งอัมพร กับท่อนที่ว่า "เป็นรูปที่มีทุกบ้าน จะรวย หรือจน หรือว่าจะใกล้ไกล เป็นรูปที่มีทุกบ้าน ด้วยความรัก ด้วยภักดี ด้วยจิตใจ" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคุณดี้ นิติพงษ์ เริ่มจากการแต่งท่อนนี้ก่อนหรือเปล่า แต่เป็นความหมายที่แทนการกระทำของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจน ที่ไม่ว่าบ้านไหนก็จะมีรูปของพระองค์ท่านแขวนไว้อยู่เหนือหัวเพื่อระลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์
แต่หากเป็นเพลงที่หมายถึงพ่อ เพลง "พ่อ" ที่คุณประภาส แต่งนั้น ก็เป็นบทเพลงที่ผมรู้สึกประทับใจมากที่สุด ในความหมายของเนื้อความ ที่ระลึกได้ถึงคุณบิดา ตั้งแต่เลี้ยงเราขึ้นมา พฤติกรรมเลียนแบบในช่วงวัยเยาว์ และอุปสรรคที่พบในช่วงที่เราโตขึ้น จึงนึกถึงสิ่งที่พ่อได้ให้ไว้เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา
"พ่อถอดรองเท้าไว้ ให้เห็นตรงนอกชาน
ฉันเจ้าเด็กน้อย ลองใส่สวมเดินภูมิใจ
อยากใส่ไว้ให้เหมือน แม้จะหนักยังเดินไหว
พ่อยิ่งใหญ่ เหมือนภูเขาเราจะตาม"
พระราชดำรัสขององค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ตรัสไว้ให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าอาชีพ เปรียบเสมือนแนวทางการดำเนินชีวิตที่พระองค์ได้เตือนสติให้ทุกคนได้ปฏิบัติ หรือ ฉุกคิดในการทำการใดๆ ก็ตาม ดั่งเช่นการที่พระองค์ได้ทรงออกบัลลังก์เพื่อให้พระบรมราโชวาทแก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ ๔ ธันวาคมของทุกปี ก็เพื่อให้รัฐบาลได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งไปปฏิบัติใช้ต่องานราชการให้มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งปี ๒๕๕๐ เป็นปีสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท
"ข้างหน้าที่ทิ้งไว้ คือรอยเท้าที่พ่อเดิน
ลูกเหยียบย่าง ไม่ห่างเหินเดินตาม
ย่ำบุกป่าเขาลำเนาไพร ไม่ครั่นคร้าม
เด็กน้อยตามอย่างพ่อ ไม่ท้อเดินไป"
ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชกรณียกิจนับตั้งแต่ทรงครองราชย์มากมายนานัปการตลอดช่วงพระชนมายุ ทรงมีผลงานประจักษ์ทั้งโครงการในพระราชดำริต่างๆ โครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชกระแสรับสั่ง และนวัตกรรมต่างๆ ดังที่ประชาชนทั่วไปทราบกันดีแล้ว รวมไปถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถูกยกย่องจากนานาชาติ และรัฐบาลไทยหลายคณะก็ได้ยกมาเป็นสิ่งที่อ้างอิงทุกครั้ง ขณะที่โครงการหลวงส่วนพระองค์ก็ยังทำให้ประชาชนท้องถิ่นทุรกันดารดำรงชีพอยู่ได้ บางคนนำไปปรับใช้ในหน้าที่การงาน การเกษตร และชีวิตประจำวันจนเป็นผลก็มากมี เปรียบเสมือนการเดินตามรอยเท้าพระองค์เพื่อความผาสุขแก่ตน
พูดถึงความพอเพียงผมเองก็ได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการออมทรัพย์ส่วนตน โดยแบ่งรายได้เป็นหลายส่วนสะสมทั้งเก็บออม ใช้จ่าย และแบ่งปันครอบครัวตามกำลังทรัพย์ที่สะสมเป็นลำดับเอาไว้ จึงทำให้วันนี้ผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยิบยืมใคร สามารถประมาณตนในการจับจ่าย และมีสตางค์พอที่จะใช้ในเหตุสุดวิสัยได้ในระดับหนึ่ง
"เติบใหญ่ถึงวันนี้ พบชีวิตที่ผกพัน
ฉันจึงได้รู้ว่าการเดินไม่ง่ายดังใจ
วันที่ถูกทุกข์ทับถม ขมขื่นใจสักเพียงไหน
รองเท้าพ่อคู่ใหญ่ ยังสอนใจเรา"
ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติในชีวิต เมื่อถึงคราอับจนหนทางพสกนิกรต่างก็นึกถึงพระองค์ท่านเป็นแสงสว่างสุดท้าย ทั้งการขอพรจากฟ้าต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และการถวายฎีกา แม้กระทั่งวิกฤตการณ์การเมือง จนในบางครั้งก็มีการเรียกร้องถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อให้พระองค์ทรงเป็นผู้ระงับความขัดแย้ง
แต่เวลานี้พระองค์ทรงเสด็จอยู่สวรรคาลัยแล้ว คงเหลือไว้เพียงโครงการ และพระราชดำรัส ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้สั่งสอนแก่พสกนิกรมาตลอด ๗๐ ปี แห่งการครองสิริราชย์สมบัติ สิ่งที่เรา เหล่าพสกนิกรควรจะทำได้ คือการตามรอยของพระองค์ นำคำสอนเหล่านั้นมาเตือนใจ เตือนสติ เพื่อร่วมกันพัฒนาชาติ บ้านเมือง ให้ก้าวไกลโดยปราศจากความขัดแย้ง นำความเห็นต่างมาพูดคุย ลดละทิฐิ แสวงหาจุดร่วมให้กลายเป็นความเห็นพ้องเพื่อร่วมกันเดินหน้าชาติ ที่ติดหล่มมานาน
เราจักต้องมีสติ และดำรงอยู่ในความเป็นจริงของชีวิต เมื่อมีปัญหาให้นำข้อเท็จจริงมาตัดสินมากกว่าความรักชอบพอส่วนตัว ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ยอมปฏิบัติตามกฏหมาย ไม่ละเมิด ส่วนรัฐก็ต้องน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์โดยเฉพาะความพอเพียงมาปฏิบัติให้มาก มิใช่เพียงแค่อ้างถึงเท่านั้น และจำเป็นที่ต้องฟังคนในพื้นที่ซึ่งแม้จะเป็นคนกลุ่มอันน้อยนิดแต่รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อแสวงหาทางร่วมกันคลี่คลายปัญหามากกว่าการใช้กำลังบังคับข่มขู่ซึ่งกัน ถ้าทำได้เช่นนั้นประเทศชาติคงจะรุดหน้าเทียบทันชาติในอาเซียนที่เขาวิ่งนำเราไปได้อย่างแน่นอน ...