xs
xsm
sm
md
lg

เงื่อนไขนายกฯ คนนอกสู่รัฐบาลสมานฉันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ถ้าไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป คอการเมืองส่วนใหญ่คงพอมองออกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดทางไว้อย่างเห็นได้ชัดสำหรับนายกฯ คนนอก

ไม่ถึงขนาดเป็นทางลอยฟ้าแบบ “โทลล์เวย์” เพราะในยุคปัจจุบันคงต้องยอมรับว่า ค่านิยมเรื่องของประชาธิปไตยและนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งนั้นเข้มแข็งกว่าสมัยยุคปี 2520-2530 อีกทั้งบาดแผลของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้การได้มาซึ่งนายกฯ ที่จะเป็นใครก็ได้ก็ไม่รู้นั้นคงไม่อาจได้รับการยอมรับ หรือตอบคำถามต่อสังคมไม่ได้

แต่นั่นแหละ วิกฤตการเมืองยืดเยื้อยาวนานก็ให้บทเรียนแก่เราเหมือนกันว่า การที่ปิดทางปิดตายให้นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส.ในสภาฯ นั้น ก็อาจจะเกิดเป็นหล่ม กับดักที่ก้าวไม่ออก ข้ามไม่ได้ จนต้องจบลงด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วยการปฏิวัติรัฐประหารทั้งสองครั้งสองครา

การ “ทบทวน” เรื่องนายกฯ คนนอกนี้ จึงเริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาแล้ว

โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ซึ่งภายหลังถูก “ทำแท้ง” ไปโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ให้มีนายกฯ คนนอกได้ แต่นายกฯ คนนอกนั้นจะต้องมาโดยมติพิเศษของสภาผู้แทนราษฎร คือไม่ใช่มาโดยเสียงข้างมากปกติ ต้องเป็นเสียงข้างมากพิเศษ 3 ต่อ 5

เรียกว่า “นายกฯ คนนอก” ฉบับอาจารย์บวรศักดิ์นั้นเป็นเหมือน “ทางเสริม” หรือซอยย่อยที่ออกมาเชื่อมทางหลัก ถนนสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดเรื่องการเลือกนายกฯ เอาไว้ในมาตรา 159 โดยสภาผู้แทน (ซึ่งตามคำถามพ่วงจะยกเว้นให้เป็นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ ส.ส. และ ส.ว.เป็นเวลา 5 ปี) เป็นไปในลักษณะของ “ทางคู่ขนาน” คือ นายกฯ นั้นจะเป็นคนนอกหรือเป็น ส.ส.ก็ได้ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า บุคคลนั้นจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอต่อประชาชนไว้ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ว่าถ้าชนะเลือกตั้งแล้วจะสนับสนุนบุคคลต่อไปนี้นะ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนี้จะไม่ต้องสมัคร ส.ส.หรือเป็น ส.ส.ก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อของตัวไว้ในบัญชี

ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยหลักแล้ว นายกฯ จะเป็นคนนอกก็ได้ ส.ส.ก็ได้ แต่ก็ต้อง “เปิดหน้า” มาแล้วตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ไม่ใช่จะมาลุ้นกันกลางสภาฯ เหมือนสมัยก่อน

แต่กระนั้นในบทเฉพาะกาล ก็ยังมี “ช่องทางฉุกเฉิน” ไว้ในมาตรา 272 สำหรับกรณีที่ไม่อาจหานายกฯ จากบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่เสนอไว้ล่วงหน้าได้จริงๆ รัฐสภาก็อาจจะมีมติให้งดใช้รัฐธรรมนูญในส่วนนั้น แล้วให้เสนอชื่อนายกฯ ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก็ได้

พูดให้ง่ายที่สุด คือ ให้เลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองก่อน หากเลือกกันไม่ได้ ก็ให้เลือกใครก็ได้ไม่ต้องอยู่ในบัญชี

แต่ช่องทางพิเศษนี้เปิดไว้ “เฉพาะ” สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น หากเกิดอะไรขึ้นสภาฯ ชุดแรกนี้สิ้นสภาพไปมีการเลือกตั้งใหม่ หรือแม้แต่สภาฯ ชุดนี้อยู่ได้จนครบวาระ ช่องทางพิเศษนี้ก็จะถูกปิดลงทันที ซึ่งเอาเข้าจริงๆ หากให้อำนาจในการเลือกนายกฯ มาจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โอกาสที่จะหานายกฯ ที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไม่ได้จนต้องใช้ “ทางออกพิเศษ” นั้นเกือบไม่มีเลย เพราะมติในการเลือกนายกฯ นั้นใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องจับ “เสียง” ของฝ่ายตนให้ได้เกินครึ่ง แน่นอนอยู่แล้ว

แต่เมื่อคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามตินั้น ประชาชนเห็นชอบว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาตัวผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพูดง่ายๆ คือ ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ด้วยแล้วนั้น การที่จะได้นายกฯ มาจาก “เสียงข้างมาก” ของรัฐสภานั้นเป็นไปได้ยากมากๆ ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วย

นั่นคือรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสมาชิกถึง 750 คน เป็น ส.ส. 500 ส.ว.อีก 250 คน

และต้องโน้ตไว้ตัวโตๆ ตรงนี้ว่า ทั้ง 250 คนนั้น เป็น ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะ คสช.ด้วย

ดังนั้น สมมติมีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งมา ได้ที่นั่งมากที่สุดของสภาฯ แต่ถ้าต้องการให้ผู้มีรายชื่อเบอร์หนึ่งของตัวเป็นนายกฯ โดยไม่มีปัญหา แม้ว่า ส.ว.จะไม่ยอมยกมือให้เลยสักเสียงเดียว จะต้องจับมือกับ ส.ส.ให้ได้รวมกับพรรคตัวเองแล้วไม่น้อยกว่า 375 เสียง

375 เสียง จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 เสียง นี่มันคือ 75% ของเสียงทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎรเลยทีเดียว

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การตั้งนายกตามวิธีทางปกติ คือเลือกจากผู้มีรายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้า ส.ว. จะไม่ให้ความเห็นชอบ หรือไม่ยอมแบ่งเสียงมาเห็นชอบให้บ้าง ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปใช้ “ทางออกฉุกเฉิน” คือ นายกฯ จากคนนอกสมบูรณ์แบบ คือทั้งเป็นคนนอกสภาฯ ที่ไม่ใช่ ส.ส. และยังเป็นคนนอกบัญชีที่พรรคการเมืองแสดงไว้ต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

อ่านแล้วใครมองเห็นหน้านายกฯ คนต่อๆ ไป เป็นรูปๆ เงาๆ แล้วหรือไม่ก็ไม่ทราบได้

กระนั้น แม้ว่ากลุ่ม ส.ว.จะเป็น “พรรคใหญ่” สุด ที่อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกให้ใครหรือไม่ให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้

แต่ในทางการเมืองแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่ว่าที่นายกฯ คนใหม่ (ที่อาจจะหน้าคุ้นๆ) จะอาศัยแค่เสียงสนับสนุนของ ส.ว.แต่ถ่ายเดียวได้

จริงอยู่ถ้าเพียงเอาเสียงมาเป็นนายกฯ บุคคลภายนอกผู้นั้นถ้าสมมติมีเสียง ส.ว.อยู่ในกระเป๋าแล้ว 250 เสียง หาเสียงจาก ส.ส.มาเพิ่มสัก 125 เสียงขึ้นไป (ในทางปฏิบัติบวกอีกสักสิบก็พอกำลังปลอดภัย) ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ก็จริง

แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรูปแบบรัฐสภานั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับความไว้วางใจ หรือได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก

ดังนั้น ถ้าใครจะมาเป็นนายกฯ โดยใช้สูตร ส.ว.ข้างมากสนับสนุนร่วมกับ ส.ส.ส่วนน้อย ก็จะมีปัญหาในเรื่องของการบริหารประเทศ การผ่านกฎหมาย งบประมาณ หรือแม้แต่เมื่อมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ ที่มาจากเสียงของ ส.ว.ท่วมท้น แต่มี ส.ส.เห็นชอบหรือเป็นพวกน้อย ก็ท่าจะอยู่ไม่รอดเอา

จึงมีผู้วิเคราะห์และคาดการณ์ว่า นายกฯ คนใหม่ ถ้าจะมาจากสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ ไม่ต้องพึ่งสภา ส.ว.เลย ก็อาจจะเป็นไปได้ทางเดียว คือ พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคหลัก คือ พรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยให้การสนับสนุนนายกฯ ผู้นั้น รวมกันเกินกว่า 375 เสียงนี่เป็นไปได้ไม่ยาก

หรือในกรณีที่ไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้จริง พรรคที่ได้เสียงข้างมากและจับตัวเป็นรัฐบาลได้ อาจจะต้องไปเจรจาหา “คนกลาง” สักคนที่ทุกฝ่ายยอมรับและยินดีจะทำงานด้วย ซึ่งรวมทั้งต้องได้รับเสียงเห็นชอบบางส่วนจาก ส.ว.ด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปในทางใด ว่าที่นายกฯ คนต่อไป จะต้องเป็นคนที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่และ ส.ว. (ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.) นั้นยอมรับ หรืออย่างน้อยก็ไม่ขัดข้องด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่าหลังเลือกตั้งตามโรดแมปนี้ เราจะได้เห็น “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลสมานฉันท์” กันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นแน่.
กำลังโหลดความคิดเห็น