xs
xsm
sm
md
lg

อย่าประมาทพลังเงียบ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ตอนนี้เหมือนกับว่า แต่ละฝ่ายต่างออกจากรูมาช่วยกัน “รุม” รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ในห้วงยามสัปดาห์สุดท้ายก่อนการลงประชามติ

หลังจากกั๊กรอท่าทีอยู่นาน ในที่สุด “ยิ่งลักษณ์” ก็ออกมาแสดงท่าที “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญตามคาด ซึ่งเดาไม่ยาก ว่าเป็นไปตามท่าทีของบรรดาเสื้อแดงทั้งหลาย

และความเห็นของยิ่งลักษณ์อาจจะเป็นเหมือน “สัญญาณ” เป็นทางการจากฝ่ายแดงพรรคเพื่อไทย บอกให้บรรดาสาวกและฐานเสียงของพรรคในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ

มานับแต้มในโค้งสุดท้าย อาจจะพอนับฝั่ง “หนุน - ต้าน” ร่างรัฐธรรมนูญได้

ฝ่ายที่ “หนุน” ตอนนี้ก็เหมือนจะมีแต่ฝ่ายกำนันสุเทพ และบรรดาแนวร่วม กปปส.ทั้งหลายที่แสดงออกชัดเจนว่า เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง”

ส่วนฝ่ายที่ “ต้าน” นั้น ออกจะมากฝั่งมากฝ่ายกว่า คือกลุ่มที่ชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามกับ คสช.มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ได้แก่กลุ่มเครือข่าย “ประชาธิปไตย” และพวกนักศึกษากลุ่มที่พยายามเข้ามามีบทบาทในหน้าสื่อช่วงหลังๆ

กับเครือข่าย “เสื้อแดง” ที่ภักดีต่อพรรค หรือแม้แต่ที่เป็น “เสื้อแดง ที่ไม่สังกัดพรรค” แต่แน่นอนว่ากลุ่มนี้เป็นขั้วตรงข้ามกับการทำรัฐประหารและรัฐบาลอยู่แล้ว ก็มีแนวความคิดว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่ากับไม่เอารัฐประหาร

ตามด้วย “ฐานเสียง” ของพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน และ “แม่ยก” ของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่มาแสดงจุดยืน “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่ออาทิตย์ก่อน

และกับอีกกลุ่มที่ทำท่าจะ “โหวตโน” ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างพิลึกไปหน่อย คือ โหวตโนเพื่อให้ “นายกฯ ตู่” อยู่ต่อ อยากให้ปฏิรูปให้เสร็จ ยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ท่านนายกฯ จะได้อยู่ไปนานๆ

แนวคิดหลังนี้ผู้เกี่ยวข้องและเจ้าตัวต่างออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่จริง เพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่าน แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 คือปีหน้าแน่นอน จะช้าจะเร็วก็ต้องมีเลือกตั้ง โรดแมปต้องเป็นไปตามกรอบเวลา ท่านว่าอย่างนั้น

เลยกลายเป็นว่า ฝ่ายที่ “ไม่ชอบ” คสช.ก็จะโหวตโน ฝ่ายที่ “ชอบ” (เกินไป) ก็จะโหวตโน หรือถ้าจะพูดด้วยสีด้วยฝ่ายทางการเมือง ฝ่ายเสื้อแดงเกือบทั้งหมด ก็ไปโหวตโน ส่วนฝ่าย กปปส.และประชาธิปัตย์ กลับเสียงแตกเป็นสอง คือ กปปส.ที่ยังเชื่อยังอิงกับ “ลุงกำนัน” ก็จะไปโหวตรับ ส่วน กปปส.ฝ่ายที่มาทางเสียงส่วนใหญ่ของพรรค หรือศรัทธาคุณอภิสิทธิ์ ก็อาจจะไปโหวตโน

ดูแล้วเลยกลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญถูก “รุมกินโต๊ะ” ด้วยประการฉะนี้

แต่ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปง่ายๆ ว่า การลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ ฝ่าย “ไม่รับ” จะกำชัยก็หาไม่

เพราะเอาเข้าจริง ฝ่ายที่ “ไม่เอา” ด้วยกับ คสช.หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเอง ก็ยังแบ่งกลุ่มกันออกเป็นพวก “โหวตโน” กับ “โนโหวต” คือฝ่าย “โหวตโน” นั้นชัดเจนว่า ต้องการที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงเพื่อ “ล้ม” ร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ออกมาใช้บังคับ

ส่วนฝ่าย “โนโหวต” นั้นไปไกลกว่า นั่นคือ กลุ่มนี้มองว่า ในเมื่อกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบเสียแล้ว ก็ไม่ควรที่จะเสียเวลาไปเกี่ยวดองร่วมสังฆกรรมด้วย

สู้นอนหลับทับสิทธิไม่รู้ไม่เห็นอยู่กับบ้านดีกว่า เพราะถ้าไปร่วมลงประชามติ ต่อให้โหวตโนก็เท่ากับเรา “ยอมรับ” ในกติกาของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ไปเล่นตามเกมแล้ว หรือมองว่าเป็นการไป “ให้สัตยาบัน” กับการยึดอำนาจด้วยการยอมรับผลของการทำประชามติ

พูดง่ายๆ คือฝ่าย “ไม่เอา” ก็เสียงแตกเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง คือ “พลังเงียบ” ของผู้คนที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือตัดสินใจแล้วไม่บอกใคร ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่ฝั่งฝ่ายทางการเมืองของพรรคไหนสีใดเลยก็ได้

ใครที่เล่นไลน์ คงได้รับข้อความจากมิตรสหายในกลุ่มไลน์ท่าน ชักชวนให้ไปโหวต “รับร่าง” รัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นักการเมืองทุกพรรคออกมาต่อต้าน มันต้องมีอะไรดีแน่ๆ”

คือทั้งพรรค “สีแดง” และ “สีฟ้า” ถึงกับจับมือกันชั่วคราวมา “ล่ม” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แปลว่า รัฐธรรมนูญนี้น่าจะส่งผลอย่างรุนแรงกับ “นักการเมือง” ไม่ว่าจะพรรคไหน จนถึงขนาดลืมมิตรลืมศัตรู ต้องออกมาจับมือร่วมกันต้านเป็นการชั่วคราว ให้เสร็จศึกครั้งนี้ก่อนค่อยว่ากันใหม่

หรือบางคนอาจจะได้รับไลน์ตลกๆ ว่า รัฐธรรมนูญก็เหมือนแตงโมสีเขียวๆ โยนมา ถ้าเราเข้าไปรับ แตงโมก็จะยังเขียวอยู่ แต่ถ้าเราไม่รับปล่อยลงพื้น แตงโมก็แตกโพละออกมาเป็นสีแดง เช่นนี้แล้ว จะรับหรือจะปล่อยก็ไปคิดเอาเอง

นี่คือกระแสของ “พลังเงียบ” ที่ส่งสื่อสารหากันผ่านเครือข่ายของแต่ละคน

เป็นเสียงของผู้คนที่ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนักการเมือง ไปจนเชื่อว่ากติกาการเมืองที่ทำให้นักการเมืองอยู่ไม่เป็นสุข กติกาการเมืองนั้นน่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื้อรังที่เกิดจาก “นักการเมือง” ได้ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธยาก ว่าความถดถอยด้อยพัฒนาของประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตยนั้นมีที่มาจากนักการเมือง

ในการเลือกตั้ง ผู้คนแทบไม่รู้จะไปเลือกใคร ฝ่ายหนึ่งก็มีประวัติเรื่องโกงกินมูมมามผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่น่าไว้วางใจ

อีกฝ่ายหนึ่งก็บริหารงานแบบไม่มีอนาคต เป็นเหมือนปลัดรักษาการประเทศไปวันๆ ไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งจะบอกว่า “ไม่โกง” ก็ว่ากันได้ไม่เต็มปาก

อย่างนี้แหละครับ เมื่อนักการเมืองทั้งสองฝ่ายนี้ “ไม่โอเค” กับรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้น่าโอเคขึ้นมา ในแง่ว่าถ้าจะทำให้นักการเมืองขยับตัวหรือเคลื่อนไหวอะไรได้ไม่สะดวกเท่าเดิม

ไม่แน่ว่า เสียงจาก “พลังเงียบ” นี่แหละที่อาจจะลุกออกมาส่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปขึ้นฝั่ง โดยเอาชนะ “พลังจัดตั้ง” ของฐานเสียงพรรคการเมือง และพลังของฝ่าย “ประชาธิปไตย” ที่ยังกัดกันเองไม่จบ ว่าจะโหวตโน หรือ โนโหวต.
กำลังโหลดความคิดเห็น